เด็กจีนยุคทันสมัย แต่ต้องวิ่งไล่หางาน

โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
จบจากเป็นเจ้าภาพจัด “เอเชี่ยนเกมส์”ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว จีนก็จัดอีกหนึ่งงานใหญ่ที่โหมประโคมล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปี นั่นคืองานประชุมที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 18 ตุลาคม 2023 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ( Belt and Road Innitiative : BRI) อภิมหาโครงการที่จีนเป็นผู้จุดประกายความคิดและสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในการลงทุนเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อโลกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
งานนี้จีนจะได้โอกาสทำการประชาสัมพันธ์ใหญ่อีกครั้งด้วยภาพของผู้นำนานาประเทศที่เดินทางไปร่วมประชุม พร้อมกับการประกาศถึงความสำเร็จในการสร้างผลงานแห่งความร่วมมือ ผลประโยชน์ร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศตามเส้นทางของการพัฒนา และเป้าหมายที่จะเดินหน้า BRI ต่อไปในทศวรรษที่สอง
ภาพความยิ่งใหญ่อลังการในแต่ละงานที่จีนโชว์ต่อชาวโลกประเภท “เล็กๆไม่ทำ ใหญ่ๆต้องเป็นจีน”นั้นคงสามารถสร้างความเชื่อมั่น การยอมรับ และความร่วมมือแก่นานาประเทศได้ต่อไป ยกเว้นคู่กัดอย่างสหรัฐอเมริกาที่มองจีนคือภัยแห่งความมั่นคง และคอยหาจังหวะที่จะดิสเครดิตของจีนอยู่เสมอ
ดังเช่นที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยใส่ไฟกล่าวถึงจีนเอาไว้เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2023ว่า จีนเป็น “ระเบิดเวลา” ที่กำลังนับถอยหลังสู่การระเบิด เนื่องจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจ และจีนกำลังประสบปัญหาเพราะการเติบโตที่อ่อนแอ
นับตั้งแต่ปี 1989 GDP จีนเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 9% ครั้นพอเจอสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักจนจีนต้องปิดประเทศถึง 3 ปีมีผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบถดถอยหนัก ล่าสุดธนาคารโลกคาดว่าในปี 2023 GDP จีนจะเติบโตในอัตรา 5.1% (เทียบกับสหรัฐฯที่คาดว่าจะโตเพียง 1.1%)
เศรษฐกิจขยายตัวได้ 5.1% ถือว่าไม่น้อย แต่ที่ไบเดนใช้คำว่า “ระเบิดเวลา” เพราะรู้ว่าเศรษฐกิจในบ้านจีนตอนนี้มีปัญหาให้แก้ไขพอสมควร ทั้งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมาสองปี สถาบันการเงินที่ออกอาการตาม ปัญหา “เงินฝืด”ที่สวนทางเศรษฐกิจโลกที่เจอเงินเฟ้อ
และที่กำลังเป็นปัญหาในกระแสสังคมจีนยามนี้คือ “คนรุ่นใหม่ในยุคจีนทันสมัยกลับพากันตกงาน”
บัณฑิตจบใหม่ปีละกว่า11ล้านคน และ1ใน5มีโอกาสเตะฝุ่น
หลังโควิดคนจีนเจอสภาพกระเสือกกระสนหางานทำ เด็กจบการศึกษาใหม่หางานทำอย่างยากลำบาก จนมีตัวเลขออกมาว่าเยาวชนจีน อายุ 16-24 ปี มากกว่า 1 ใน 5 หรือ 21.3% เจอปัญหาว่างงาน
นักวิชาการจีนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งประเมินว่าอัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนอาจจะสูงมากกว่า 40% เพราะบัณฑิตจบใหม่ปีละกว่า 11 ล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ตลาดมีงานไม่สอดคล้อง เด็กจีนเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก แต่ตำแหน่งงานสายนี้กลับลดลง
คาดว่าในปี 2023 คนจีนที่มีงานทำแค่ 733.5 ล้านคน
ปัญหาแรงงานเริ่มก่อตัวตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2017 โดยใช้นโยบายเปิดสงครามการค้ากับจีน มีผลต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในจีนแล้วส่งเข้าตลาดสหรัฐฯที่เจอกำแพงภาษี บริษัทต่างชาติรวมถึงบริษัทจีนเองที่ได้รับผลกระทบเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ต่อเนื่องจนถึงยุคประธานาธิบดีไบเดนที่ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นในการสกัดกั้นการเติบโตของจีนถึงขั้นสั่งห้ามบริษัทอเมริกันไปร่วมลงทุนกับจีนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
ช่วงโควิดระบาดมีการล็อคดาวน์เมืองสั่งหยุดทุกธุรกรรมจนถึงขั้นล็อคดาวน์ประเทศยาวนาน 3 ปี มีผลโดยตรงต่อตลาดแรงงาน แม้เมื่อมีการผ่อนคลายและจีนมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่การจ้างงานในจีนหลังโควิดมิได้กลับมาเป็นปกติ เพราะSMEsจำนวนมากตายไปแล้วไม่ฟื้น
แค่นี้ตลาดแรงงานก็เหนื่อยแล้ว แต่รัฐบาลจีนยังหาเรื่องให้ตัวเองอย่างไม่คาดคิดนั่นคือการแทรกแซงภาคธุรกิจเอกชนด้วยนโยบาย “จัดระเบียบสังคม” อาทิ จัดระเบียบสถาบันกวดวิชา หลังจากกระแสสังคมเริ่มสะท้อนปัญหาการแข่งขันทางการศึกษาอย่างบ้าคลั่ง กดดันเด็ก ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อรัฐบาลออกโรงมาเข้มงวดกวดขันครูในโรงเรียนห้ามรับสอนพิเศษ ธุรกิจกวดวิชาจึงต้องลดหรือเลิกการจ้างงานทันที
หรืองานอิสระไล์ฟสดจำหน่ายสินค้า ที่ทำกันเป็นล้านๆคน
หรือการจัดระเบียบบริษัทด้านเทคโนโลยี ไอที ออนไลน์ ที่กำลังเติบโตและขยายกิจการ ด้วยข้อหาว่าร่ำรวยเกินไป ผูกขาดเกินไป ใหญ่จนมองข้ามหัวรัฐบาล (อย่างกรณีอาลีบาบาของแจ๊ค หม่า) มีผลให้เหล่าบรรดาบริษัทไอที อีคอมเมิร์ซหัวหด เบรกแผนการลงทุนที่ถูกมองว่าเป็นการกอบโกยกำไรจากประชาชน ลดการจ้างงานที่ไม่จำเป็น
ส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นแน่นอนว่าทางราชการได้เข้าตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ที่เคยฟาดกำไรมหาศาล มีผลให้โครงการใหม่ๆต้องชะลอการเปิดตัวซึ่งมีผลต่อการจ้างงานตามไปด้วย
รัฐบาลรู้ปัญหามานานแล้ว เมื่อต้นปี 2023 กำหนดเป้าหมายเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ในเขตเมืองเป็น 12 ล้านตำแหน่ง เพราะอัตราการว่างงานในเขตเมืองสูง 5.5% อีกทั้งยังกำหนดนโยบายเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกาศปีแห่งการลงทุนในจีน (Invest in China Year)
ในเขตเมืองถ้าไม่เลือกงานยังมีงานบริการรับส่งสินค้าและอาหารให้ทำอีกมาก
งานในเขตเมืองยังมีให้ทำไม่น้อยแต่นายจ้างรู้ว่าคนล้นงานจึงเสนอรายได้ต่ำกว่าวุฒิ รัฐบาลรู้แต่แก้ไขไม่ได้จึงแนะนำว่า “อย่าเลือกงาน” ทำอะไรได้ให้ทำไปก่อน และรณรงค์ให้ไปตั้งตัวในชนบท มีการออกแผน 15 ประการ สนับสนุนคนหนุ่มสาวที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง กระตุ้นคนหนุ่มสาวที่กำลังว่างงานในเมืองใหญ่ให้ออกสู่ชนบท ออกไปสร้างตัวตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
สันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกมา เรียกร้องให้นักศึกษาจบใหม่ เก็บชุดครุย ม้วนขากางเกง แล้วลงไปที่ทุ่งนา ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นอย่างมณฑลกวางตุ้งออกมาขานรับนโยบายทันทีแนะนำให้ส่งคนหนุ่มสาวกว่า 3 แสนคนสู่ชนบทเป็นเวลา 2-3 ปี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ People’s Daily เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมว่า “หลายครั้งที่ความสำเร็จในชีวิตเกิดขึ้น ก็เป็นผลมาจากความยากลำบากในชีวิตวัยเด็ก” แสดงตนเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณให้เยาวชนของชาติไปร่วมแสวงหาความยากลำบากในชนบทก่อนจะประสบความสำเร็จในชีวิต
รัฐบาลรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานในเขตชนบท
แต่ท่านผู้นำคงไม่ทันฟังเด็กยุคนี้ที่มองว่า เป็นช่วงเวลาที่แตกต่างระหว่างความล้าหลัง กับความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ทำไมต้องให้พวกเขาไปเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบากแบบในอดีต ผู้นำจีนกำลังบอกให้คนรุ่นหลังอดทนกับค่าแรงที่สวนทางกับความรู้ความสามารถ บอกให้อดทนกับงานที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติ หรือทำงานหนักในเวลาติดต่อกันนานๆโดยไม่ได้พักจิบชา
วันนี้เริ่มมีแรงต่อต้านในโซเชียลมีเดีย เริ่มแข็งขืนต่อต้านแนวคิดรัฐบาล
นี่คือความหมายของ “ระเบิดเวลา”ที่โจ ไบเดน กล่าวถึงหรือเปล่า
………………………………………………………….
หมายเหตุ : ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 414 วันที่ 16-31 ตุลาคม พ.ศ.2566