02/05/2024

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่อำนาจของ “เพื่อไทย”

 

โดย…….. ขุนพล กอเตย

ตอนหาเสียงเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย”ให้สัญญาเอาไว้มากมาย  บอกว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตยไม่เอา 2 ลุง ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เคยงานกับคนทำรัฐประการ  แต่สุดท้ายก็กลืนน้ำลาย  ถีบพรรคก้าวไกลที่เคยกอดคอไปร่วมหอลงโลงกับฝั่ง2ลุง  เพียงเพื่อให้ตัวเองได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ไร้อำนาจ  เพียงเพื่อให้ “เศรษฐา ทวีสิน”ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

และเพื่อให้ “ลุงโทนี่”ได้กลับบ้านแบบมีโปรโมชั่นทั้งลดโทษและไม่ต้องนอนคุก

เมื่อนายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยบอกว่าวาระแรกของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็น “เชื้อร้ายของ คสช.”  แต่มติครม.วันที่ 13 กันยายน 2566 ก็ไม่ต่างกับอีกหนึ่งฉากการละครของเพื่อไทย  ที่มีเพียงการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ” โดยไม่กำหนดกรอบเวลาทำงาน

 

 

สรุปแล้วในทางการเมืองพรรคเพื่อไทยยอมโดนด่าว่า “ตระบัดสัตย์”  ยอมบากหน้าว่าเล่นละครการเมืองในการตั้งรัฐบาลไร้ขั้ว

แต่น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่าในทางเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะนายกฯเศรษฐา มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  แม้จะมีทั้งคำถามตั้งแต่ตอนหาเสียง  แม้จะมีคำเตือนและคำค้านจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์  ผู้ว่าการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  และเสียงจากประชาชนอีกมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลจะก่อหนี้ 5.6 แสนล้านบาท ทั้งๆที่ไม่จำเป็นและมีโอกาสสร้างหายนะทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ

 

 

นายเศรษฐาคนเดียวกับที่เคยโพสต์ข้อความไว้ในโซเชียลมีเดีย  ตอนสวมหมวกนักธุรกิจว่า  “มาตรการแจกเงินเหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า  เป็นอะไรที่รัฐแจกฟรีในช่วงสั้นๆ  ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตตามเม็ดเงินที่รัฐเอาภาษีประชาชนมาจ่ายไป  ตรงกันข้ามเป็นเงินที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเสียด้วยซ้ำหรือเปล่า

แต่ในวันที่สวมหมากนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  นายเศรษฐายืนยันเสียงแข็งว่าไม่เลิก จะเดินหน้า เพราะประชาชนหลายพื้นที่ถามหาแสดงความจำนงว่าอยากได้มาก

นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมน้อมรับ แต่ท่านก็เป็นแค่หนึ่งเสียง พี่น้องประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล   การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล” นายเศรษฐา กล่าว

เหมือนนายเศรษฐาตั้งใจเอานโยบาย “มหาประชานิยม” มาใช้พร้อมๆกับการกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำแห่งการใช้นโยบายประชานิยม

 

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นอีกคนที่ออกมาช่วยงัดท้ายนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตว่า  ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ยังไม่ได้เติบโตเต็มศักยภาพ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบาย จะประสบผลสำเร็จ

มีการอธิบายเหตุผลที่ไม่จ่ายเป็นเงินสดเพราะเงื่อนไขให้เอาไปใช้ไม่ให้เอาไปเก็บออม  ไม่ให้เอาไปชำระหนี้  ไม่ให้เอาไปใช้ในสินค้าอบายมุขอย่างสุรา เบียร์ บุหรี่   ไม่ให้ช็อปปิ้งออนไลน์

นักวิชาการบางคนก็สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลว่าน่าสนใจและเชื่อว่าเงินที่แจกจะไม่รั่วไหลเหมือนแจกเงินสด  แต่ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงินด้วย และนำงบประมาณบางส่วนใช้แก้ปัญหาอื่นๆและลงทุนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

มีคนจำนวนไม่น้อยประกาศตนว่าไม่ต้องการรับเงินแจก 10,000 บาท  ถ้ารัฐบาลหาเงินได้ 5.6 แสนล้านบาท น่าจะเอาไปใช้ในโครงการเรื่องน้ำของประเทศที่เป็นปัญหาหมุนวนซ้ำซาก  เดี๋ยวน้ำท่วมเดี๋ยวภัยแล้ง  แล้วรัฐบาลต้องเอางบมาช่วยเหลือฉุกเฉิน  แจกถุงยังชีพ  จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร  จ่ายเงินเยียวน้ำท่วม ฯลฯ ถ้ามีงบขนาดนี้สู้เอาไปสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ  เสริมเขื่อนริมตลิ่ง  ทำแก้มลิงขนาดใหญ่ในหลายๆพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซากเพื่อแก้ปัญญาระยะยาวไม่ดีกว่าหรือ

หรือใช้งบเหล่านี้เพื่ออนาคตของประเทศในด้านการศึกษาโดยเฉพาะ  เช่นทุนในผลิตนักศึกษาด้านวิศวกรไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)  หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง(EV Conversion) ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของไทยในอนาคตอันใกล้

การใช้งบเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งทั้งการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์  สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน  การค้นคว้าวิจัยเพื่อผลิตยาราคาถูกสำหรับคนไทยแทนการนำเข้ายาต่างประเทศราคาแพง

หรือการลงทุนเพื่อผู้สูงวัยที่สังคมไทยกำลังจะเป็นเหมือนญี่ปุ่นและจีน  ที่รัฐบาลจะต้องลงมือทำงานเพื่อรองรับสิ่งที่จะตามมาในเร็ววัน  เช่น การสร้างงานสำหรับผู้สูงวัย  สถานสันทนาการ  สถานพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ  ไม่ใช่แค่บ้านพักคนชราที่รัฐบาลปล่อยตามยถากรรมอย่างที่มีอยู่

แต่เห็นบางคนเสนอว่าเอา 5 แสนล้านบาทไปทุ่มทำโครงการ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมสองฝั่งทะเลภาคใต้ให้เสร็จไวๆเลยดีกว่า  จะได้ประโยชน์ทั้งการสร้างงานแก่คนในพื้นที่และจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว

 

 

โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทบอกว่าจะเริ่มใช้กุมภาพันธ์ 2567 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน  หรือสุดท้ายอาจไม่ได้ทำเลยเพราะ “กูรูกฎหมายการเงินการคลัง” อย่างศาสตราจารย์พิเศษ ปรีชา สุวรรณทัต  นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน   อดีตสส.และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อดรนทนไม่ไหวต้องออกมาเผยแพร่บทความที่ระบุว่า  “การแจกเงินดิจิทัลเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินขัดรัฐธรรมนูญ”

สรุปเนื้อหาใจความว่า “เงินแผ่นดิน” คือ เงินที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของโดยส่วนรวม   แม้นายเศรษฐา ที่นั่งควบทั้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้าง Fake Law บิดเบือนว่าเป็นการแจก “เงินดิจิทัล” แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับ

อาจารย์ปรีชาบอกว่าการแจก เงินดิจิทัลที่ไม่มีกฎหมายรองรับ  ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นแค่มติคณะรัฐมนตรีที่ชงโดยพรรคเพื่อไทย  นอกจากจะขัดต่อวินัยทางเศรษฐศาสตร์การเงินและการคลังแล้ว  ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560

จะมีผลให้การแจกเงินดิจิทัลของนายเศรษฐาเดินหน้าต่อไม่ได้ด้วย

 

 

.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *