30/04/2024

The Next China is China

 

โดย……..ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร  ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา​ สถาบันเอเชียศึกษา​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เศรษฐกิจจีนปีนี้อาจโตเพียงร้อยละ 5 ต่ำกว่าระดับการเติบโตในอดีตที่จีนเคยโตได้ถึงร้อยละ 8-10 แต่ทราบไหมครับว่า IMF เพิ่งแถลงว่าการเติบโตในปีนี้ของจีนนั้น หากรวมกับการเติบโตของอินเดีย จะถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของโลกในปีนี้เลยทีเดียว

จีนอาจแย่เมื่อเทียบกับอดีต แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในเวลาปัจจุบัน การเติบโตของจีนก็ยังดีกว่าพื้นที่อื่นมาก ร้อยละ 5 คูณขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มหึมาของจีนนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังเป็นขาลงในปีนี้เพราะปัญหาสงครามยูเครนและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

Joe Ngai แห่งบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ McKinsey กล่าวว่า เราต้องไม่ลืมว่าขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หากในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จีนเติบโตได้เพียงร้อยละ 2 ต่อปี ติดต่อกัน 10 ปี มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในส่วนที่เพิ่มขึ้นมารวมกันก็ยังมีขนาดใหญ่โตเทียบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของอินเดียทั้งประเทศในปัจจุบัน

หากจีนเติบโตที่ร้อยละ 5 ต่อปี ติดต่อกัน 10 ปี มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในส่วนที่เพิ่มขึ้นมารวมกันจะมีขนาดใหญ่เทียบเท่าขนาดเศรษฐกิจของอินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียในปัจจุบันรวมกันเลยทีเดียว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เมืองใหญ่ภายในของจีนจำนวน 55 เมือง ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันคิดเป็นร้อยละ 27 หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรของประเทศ มี GDP ต่อหัวเข้าเกณฑ์ประเทศรายได้สูงของธนาคารโลก (สูงกว่า 12,695 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อคน) เรียบร้อยแล้ว และเพียงอีก 7 ปี ในปี ค.ศ. 2030 จำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 93 เมือง คิดเป็นถึงร้อยละ 44 ของประชากรจีน จีนจึงยังมีศักยภาพที่จะเป็นขุมพลังการบริโภคที่สำคัญของโลก

Joe Ngai จึงกล่าวเตือนใจนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกว่า หากคุณต้องการถามหาตลาดที่เป็น “The Next China” หรือสถานที่ซึ่งจะเป็นขุมพลังแห่งการเติบโตใหม่ของโลก สุดท้ายก็หนีไม่พ้นตลาดจีนอยู่ดี (“The Next China is China”)

แน่นอนว่ายังมีความท้าทายมากมายต่อเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แม้จะทรงตัวแต่ก็ดูจะเป็นศึกยืดเยื้อ ทิศทางการควบคุมเอกชนของรัฐบาลจีนที่แม้จะผ่อนคลายลง แต่ก็มีคำถามว่าจะกลับมาตึงอีกครั้งหรือไม่ตามอารมณ์ท่านผู้นำ นี่ยังไม่นับสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ตั้งใจเตะสกัดขาจีนอย่างสุดกำลัง แต่ปัญหาเหล่านี้เหมือนบูมเมอแรง เพราะหากเศรษฐกิจจีนไม่ดี เศรษฐกิจโลกก็ซึมด้วยเช่นกัน ไม่มีใครดีได้ และหากการค้าโลกหดตัวและปิดตัวลงเพราะสงครามการค้า ก็เป็นปัจจัยที่เป็นลบต่อทุกประเทศ ไม่เฉพาะต่อจีนเท่านั้น

ท่ามกลางความผันผวนท้าทายต่อเศรษฐกิจจีนในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา จีนยังคงไม่หายไปไหนง่ายๆ ในฐานะขุมพลังและโอกาสทางเศรษฐกิจของตลาดขนาดมหึมาเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อจีนเปิดประเทศและเลิกนโยบายซีโร่โควิด เราเห็นทุกคนต่อแถวไปเชื่อมการค้ากับเมืองจีน และจีนเองก็ดำเนินนโยบายเปิดประเทศเชิงรุกเพื่อเชื่อมโลกอย่างชัดเจน

 

จีนเป็นกาวใจฟื้นสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

 

จีนกำลังเดินเกมการต่างประเทศเชิงรุกเพื่อเชื่อมโยงกับโลกประเทศกำลังพัฒนา จากอาเซียน ถึงตะวันออกกลาง ถึงลาตินอเมริกา ในขณะเดียวกัน ภายหลังจากที่จีนเปิดเมือง ผู้นำประเทศอย่างนายกฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย สเปน บราซิล ต่างเรียงแถวเดินทางเยือนจีน จีนยังเดินเกมเชิงรุกเชื่อมซาอุดิอารเบียกับอิหร่าน ล่าสุดผู้แทนทั้งสองประเทศมาประชุมบรรลุข้อตกลงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ร่วมกันที่จีน โดยมีจีนแสดงบทบาทเป็นกาวใจ ปลายปีนี้จีนได้เตรียมจะจัดงานใหญ่ประชุมความร่วมมือ Belt & Road ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจีนจะเชิญประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมมากกว่า 200 ประเทศ

 

 

แม้แต่ประเทศที่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทิ้งตลาดจีนได้ เมื่อเดือนเมษายน ผู้นำฝรั่งเศสเยือนจีนและได้รับการต้อนรับจากสีจิ้นผิงอย่างสมเกียรติ มีการทำข้อตกลงการค้าและดีลธุรกิจร่วมกันมากมาย โดยผู้นำฝรั่งเศสยอมรับความจำเป็นในการกระจายความเสี่ยง (de-risk) ไม่พึ่งพาจีนเพียงตลาดเดียว หรือไม่ใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าเดียว แต่ไม่เห็นด้วยกับการแยกห่วงโซ่เศรษฐกิจออกจากจีน (decoupling)

 

สี​ จิ้นผิง​ ผู้นำจีนกับ​ เอมมานูเอล​ มาครง​ ผู้นำฝรั่งเศส

 

จีนจึงกำลังเดินเกมเปิดประเทศรุกโลก โดยไม่สนใจสหรัฐฯ นักวิเคราะห์บางฝ่ายในจีนถึงกับมองว่าจีนได้มาถึงจุดที่ยอมรับแล้วว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่สามารถกลับมาดีได้อีก และสหรัฐฯ จะไม่เลิกทำสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับจีน เกมที่จีนต้องเล่นคือพยายามให้ยุโรปวางตัวเป็นกลาง และเดินเกมรุกเต็มที่กับการเชื่อมโยงกับโลกของประเทศกำลังพัฒนาแทน

นายกฯ หลี่เฉียงของจีนบอกว่าการเปิดประเทศถือว่าเป็นแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐจีนที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ถ้าใครเคยเรียนประวัติศาสตร์จีน จะทราบว่าทุกครั้งที่จีนปิดประเทศ จะเป็นยุคตกต่ำของจีน จีนเคยรุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์ถังในยุคเส้นทางสายไหม ในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อเจิ้งเหอเดินเรือมาอาเซียนก็เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง เมื่อหยุดเดินเรือก็เป็นจุดเริ่มต้นของของความตกต่ำ ขาลงของราชวงศ์ชิงก็เมื่อจักรพรรดิเฉียนหลงปิดเมืองท่าเลิกค้าขายกับภายนอก เช่นเดียวกับที่จีนในสมัยประธานเหมาที่ปิดประเทศแล้วยากจนกว่าแอฟริกา แต่เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองทางเศรษฐกิจของจีนอีกครั้ง

จีนจึงไม่มีทางกลับไปปิดประเทศ เพียงแต่ว่าหากสามสิบปีก่อนหน้านี้ การเปิดประเทศของจีนคือการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และตะวันตก การเปิดประเทศรอบต่อไปจะเป็นการเชื่อมโยงกับโลกของประเทศกำลังพัฒนาแทน โดยสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ก็ยังคงไม่มีตลาดใดหอมหวนสู้ตลาดจีนได้ทั้งในแง่ของราคาต้นทุนการผลิตและขุมพลังของผู้บริโภค

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *