06/05/2024

อย่าซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ภ.บ.ท.5 ผิดกฎหมายและทำลายป่า

 

โดย…….ดร.โสภณ พรโชคชัย

ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กำลังจะแปลง ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนด ผมในฐานะที่เคยจัดประกวดเรียงความชิงโล่พระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเรื่อง “อย่าซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ภ.บ.ท.5 ผิดกฎหมายและทำลายป่า” ขออนุญาต “สวน” ความคิดของรัฐมนตรี

ผมขอยกเรียงความชนะเลิศในการประกวดดังกล่าวของนางสาวธัญวรัตน์ วีระพันธุ์พิสิษฐ์ ในระดับอุดมศึกษาดังนี้:

อย่าซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ภ.บ.ท.5 ผิดกฎหมายและทำลายป่า

 

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก  เพราะเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ คือ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม  การที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก ๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม  อีกทั้งยังส่งผลเสียหายถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วย  สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ป่าไม้ประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเข้าครอบครองที่ดิน เมื่อประชากรมีมากขึ้น  ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินก็มากตาม  ราษฎรจึงเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า เผาป่าทำไร่เลื่อนลอย  นอกจากนี้ยังมีนายทุนที่ดินที่จ้างวานให้ราษฎรเข้าไปทำลายป่าเพื่อจับจองที่ดินไว้ขายอีกด้วย

ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารที่แสดงว่าอนุญาตให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ที่ดินที่เคยเป็นที่ดินชุมชนมาก่อน, ที่ดินป่าเสื่อมโทรม, ที่ดินเขตอนุรักษ์)  โดยให้ใช้ทำเกษตรกรรมเท่านั้น ซื้อขายไม่ได้  แต่โอนให้ทายาททางมรดกได้  ส่วน ภ.บ.ท.5 เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ เป็นเอกสารที่ทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เท่านั้น ไม่สามารถจำนอง ซื้อขาย หรือใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันใด ๆ ได้  จุดมุ่งหมายหลักของส.ป.ก.4-01 และ ภ.บ.ท..5 จึงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกิน  และที่ไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนมือได้ ก็เพราะเล็งเห็นว่าอาจนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หลัก  รัฐจะเรียกคืนที่ดินได้ทันทีหากตรวจสอบพบว่าประชาชนที่ได้รับอนุญาตนั้นไม่ได้ใช้ที่ดินทำกินตามข้อตกลง

 

 

ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2519และ พ.ศ.2532) เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิที่ดิน  พระราชบัญญัตินี้ ได้ระบุประโยชน์ของการปฏิรูปที่ดิน เช่น การรักษาที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นของเกษตรกรโดยแท้จริง ควบคุมไม่ให้เปลี่ยนสิทธิการถือครองแก่ผู้อื่น  เกษตรกรจะได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปในขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม  ที่ดินได้รับการพัฒนา  มีถนนหนทาง  มีแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เป็นต้น  แต่กระนั้น ปัญหานายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดินก็ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่เรื่อยมา  การห้ามจัดสรร ห้ามสร้างอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ในหลาย ๆ พื้นที่ มีส่วนผลักดันให้นายทุนเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์นอกพื้นที่จัดสรร  โดยซื้อต่อจากชาวบ้านอย่างผิดกฎหมาย  ชาวบ้านก็ไปบุกรุกป่าและขายให้นายทุน นายทุนก็นำไปขายเก็งกำไรต่อ  มีการสร้างบ้านพักตากอากาศ สนามกอล์ฟ  และรีสอร์ท ฯลฯ การที่ชาวบ้านยอมขายที่ให้นายทุนนั้น อาจเป็นเพราะถึงแม้จะมีพื้นที่ทำกิน แต่ส่วนใหญ่ขาดกำลังทุนทรัพย์  ขาดแรงงาน ขาดน้ำ ไม่รู้วิธีจัดการที่เหมาะสม  รวมไปถึงขาดปัจจัยในการผลิตอื่น ๆ ทำให้ไม่มีความสามารถและศักยภาพที่จะใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

การจะทำให้การซื้อขายที่ดินส.ป.ก.4-01 และ ภ.บ.ท. 5 ลดน้อยลงจนหมดไปได้นั้น จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรเจ้าของที่ดิน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการซื้อเพราะเห็นว่าที่ดินมีราคาถูก  ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  ให้ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ไม่มาก  ขณะเดียวกัน รัฐ ควรมีมาตรการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน แม้บุคคลที่ได้รับจัดสรรที่ดินจะเป็นเกษตรกรที่ยากจนก็ตาม  ทั้งยังควรสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบผลิตทางการเกษตร  มีการประกันราคาพืชผลให้เกษตรกร  อีกแนวทางหนึ่ง รัฐอาจจะใช้วิธีการให้เช่าที่  เพื่อให้ทุกคนรับรู้และยอมรับว่าที่ดินเป็นของรัฐให้เช่ามาใช้ประโยชน์ ผู้ใช้นั้นจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ได้  อธิบายง่าย  ๆ ได้ว่า ใครอยู่ที่ไหนก็ให้เช่าอยู่ที่นั่น ห้ามโยกย้ายซื้อขายเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน ขนาดการถือครองที่ดินจำกัดตามลักษณะการใช้ที่ดินนั้น

สำหรับค่าเช่าที่ดินให้เก็บค่าเช่าแบบก้าวหน้าตามขนาดการถือครองและลักษณะการใช้ประโยชน์ และให้เช่าได้ตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา  เพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้ยากไร้ที่เคยอยู่ฟรีมาก่อนต้องเดือดร้อน หากถือครองที่ดิน 1-5 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรเป็นหลัก อัตราค่าเช่าอาจจะเป็น 1-5 บาท/ไร่/ปี เพื่อให้ทราบสิทธิหน้าที่ และยอมรับสิทธิในการเช่าที่ดินเท่านั้น  แนวทางนี้ควรมีคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดด้วย โดยต้องยึดหลักการกระจายการถือครองที่ดิน และใช้มาตรการค่าเช่าบังคับ เพื่อไม่ให้มีการถือครองที่ดินเกินขนาดที่กำหนด  การใช้ประโยชน์ที่ดินต้องเน้นที่ประสิทธิภาพการผลิตให้คุ้มกับค่าเช่า หากเป็นไปในลักษณะนี้ได้ ก็จะช่วยให้ทุกคนอยู่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  สามารถพัฒนาที่ดินตามศักยภาพของตนเอง  รัฐก็จะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดิน  เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสบายใจ ไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีผู้กระทำผิดกรณีเช่นนี้นับแสนราย และที่สำคัญจะได้ไม่ต้องเป็นประเด็นกล่าวหาทางการเมืองกันอีกต่อไป

แนวทางสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 และ ภ.ท.บ. 5 ลดลงจนหมดไปได้ ก็คือ การแก้ปัญหาโดยการทำให้เป็นโฉนดชุมชน กระบวนการโฉนดชุมชน เป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการจัดการที่ดินทำกินของชุมชนได้อย่างเหมาะสม เพราะผู้ถือครองโฉนด คือ ชุมชน  มีการแบ่งเขตแดนระหว่างป่ากับที่ดินทำกินให้ชัดเจน โดยประสานความร่วมมือกับ ป่าไม้เขตเพื่อให้มีฐานข้อมูลที่มั่นคง  วิธีนี้จะช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของที่ดิน เมื่อมีความชัดเจนด้านโฉนดชุมชน ชาวบ้านก็อาจจะเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา นำไปสู่การร่วมกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีกฎระเบียบการจัดการที่ดินชุมชนที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน  เช่น จัดการรักษาดูแลป่าต้นน้ำ ผู้ครอบครองต้องทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ห้ามปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ห้ามบุกรุกขยายเขตพื้นที่ออกนอกแปลงที่ดินของตนเอง  หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนผู้ถือครองสิทธิต้องแจ้งให้คณะกรรมการระดับหมู่บ้านทราบ

ชุมชนถือเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หากรัฐบาลจัดการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนได้แล้ว การจะผลักดันและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถทัดเทียมนานาประเทศได้คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม กลไกการจัดการที่ดินควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่าย  เพราะการที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันสร้างประเทศให้มีความมั่นคง และเจริญรุ่งเรืองต่อไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องมีความพร้อมด้านความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  เมื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินพร้อมแล้ว ก็จะร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญต่อไปได้ดี  ดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า

 

“บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ   ทางที่เราจะช่วยกันได้

ก็คือการที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง”

(พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๔๓)

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *