06/05/2024

ดร.โสภณวิพากษ์การขายชาติผ่าน พรบ.อีอีซี (ตอนจบ)

 

โดย…….ดร.โสภณ พรโชคชัย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้สรุปเนื้อจากงานสัมมนาทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์อีอีซี เรื่องพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ต่อจากตอนที่ 1 ฉบับเดือนกันยายน มาต่อด้วยมาตรา 48 เป็นต้นไปดังนี้

มาตรา 48 ให้ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว (๒) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร (๓) สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร (๔) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน (๕) สิทธิประโยชน์อื่น. . .

ข้อแย้ง

นี่เท่ากับเป็นเขตเช่าของคนต่างชาติไปแล้วหรือไม่

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบ. . .ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน. . .ให้มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด แล้วแต่กรณี. . .

ข้อแย้ง

นี่ไม่แค่เช่าที่ดิน 99 ปี ประเคนที่ดินให้พวกต่างชาติ ทั้งที่ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องอะไรเลย

มาตรา 51. . .บุคคลดังกล่าวรวมทั้งคู่สมรส บุพการี และบุตร. . .อาจได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการขออนุญาตทํางาน และสิทธิอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนดก็ได้. . .

ข้อแย้ง

นี่ให้ต่างชาติขนคนเข้ามาโดยไม่เสียอะไรเลย มาตั้งอาณานิคม? แต่คนไทยแท้ๆ ต้องเสียภาษี

มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์. . .มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ. . .ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลาเกินห้าสิบปี. . . การต่อสัญญาเช่าอาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้. . .

ข้อแย้ง

ที่ยกเลิกไม่ใช่มาตราตามกฎหมายเดิม เพราะกฎหมายเดิมระบุชัดว่าจะต่อสัญญาได้อีกก็ต่อเมื่อหมดสัญญาเดิมที่จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น นี่เท่ากับจะทำให้การ “งุบงิบ” ทำสัญญาซ้อนเป็นการถูกกฎหมายใช่ไหม ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้เช่าช่วงได้อีก พวกต่างชาติไม่ใช่ที่ดินแล้ว ยังปล่อยให้เช่าช่วงอีก แต่ทีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เกษตรกรไม่ใช้ทำเกษตรแล้ว ยังต้องคืนหลวง นี่ปล่อยให้พวกต่างชาติมาหากินกับที่ดินไทย

มาตรา 58 ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . . (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน. . . (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชําระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . .

ข้อแย้ง: ต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของเขาเองได้ ต่อไปคงเอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ไทยคงเหมือนกัมพูชาที่เดี๋ยวนี้ใช้แต่เงินดอลลาร์ กลายเป็นประเทศราชทางการเงินของมหาอำนาจ

มาตรา 59 . . .(1) ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกําหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้. . .

ข้อแย้ง

เราจะไม่ยกระดับนักวิชาชีพไทย และให้นักวิชาชีพต่างชาติมาเอาเปรียบนักวิชาชีพไทย

พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงอาจดูคล้ายกับว่าศักราชการขายชาติที่แท้ให้กับคนต่างชาติกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วด้วย พรบ.ฉบับนี้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่คนไทยต้องพิจารณา ไทยไม่มีความจำเป็นต้องไปทำแบบนี้เลย ต่างชาติก็ไม่มีใคร “ขายชาติ” กันถึงขนาดนี้ เราทำชาติให้มีอารยะ มีเลือกตั้ง คนก็แห่กันมาลงทุนแบบที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเมียนมา และที่ผ่านมาก็ไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าต่างชาติมา “เขมือบ” ที่ดินไปเท่าไหร่แล้ว

ข้อน่าห่วงใยก็คือ

  1.  ในด้านมืดของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอีอีซีนั้น นักธุรกิจไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง เป็นการทำลายทุนภายในประเทศเองในระยะยาว ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตอาจจะถูกต่างชาติครอบงำมากขึ้น
  2. โครงการใหญ่อย่างเมืองการบินอู่ตะเภา ก็ยังไม่ถึงไหน มีแต่การประกาศว่าภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เปิดสถานบริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อื่นๆในพื้นที่ 3 จังหวัดของอีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง)
  3.  สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ก็ปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่งเผยว่าได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกออกแบบการก่อสร้าง สำเร็จแล้วกว่าร้อยละ 90 คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2572 คือแค่ออกแบบเกือบเสร็จ (จริงหรือไม่ ไม่ทราบ) แต่คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2572 ซึง่ก็คงจะเลื่อนออกไปเรื่อยๆ หรือไม่
  4. ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในภาพรวม คิดเป็น 42% ทั้งนี้เป็นรายงานล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2566 แสดงว่ายังช้ามาก และกัมพูชาก็กำลังพัฒนาเมืองท่าเรือดาราสาคร (Dara Sakor) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดถึง 20 เท่า แล้วไทยจะแข่งขันได้จริงหรือไม่

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน แม้อีอีซีจะเป็นแหล่งลงทุนแทบจะเป็นแหล่งเดียวในไทย (แหล่งอื่น เช่น การพัฒนาเมืองชายแดนก็ล้มไม่เป็นท่าไปแล้ว หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำที่สุด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ) แต่อีอีซีก็อาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง และอาจตกเป็น “อาณานิคม”

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *