28/04/2024

จับตาเวที APEC 2023 พญามังกรบุกรังอินทรี

ปี 2022 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ภายใต้หัวข้อหลัก Open Connect Balance “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” พร้อมผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วย “เศรษฐกิจ BCG”


สำหรับ APEC 2023 กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสําหรับทุกคน” โดยผู้นำและผู้แทนระดับสูงของ 21 เขตเศรษฐกิจจะเข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2023 ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน
แน่นอนว่าไฮไลต์ของงานที่ทั่วโลกจับตาคือการพบกันของสองผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ระหว่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นเจ้าภาพ กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน แขกผู้ไปเยือน ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนเก่า โดยต่างก็เป็นผู้นำของสองมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้า คู่แข่งขัน และ “คู่กัด”ในด้านความมั่นคง ที่จะต้องตั้งโต๊ะเผชิญหน้าเจรจากันแบบทวิภาคีในหลายเรื่องหลายประเด็น
สี จิ้นผิง เดินทางถึงเมืองซานฟรานซิสโกในบ่ายวันอังคาร 14 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่น โดยนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และนายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้การต้อนรับที่สนามบิน
รายงานข่างแจ้งว่าบุคคลสำคัญที่ร่วมเดินทางกับสี จิ้นผิงคือ ไช่ ฉี สมาชิกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งเป็นสมาชิกประจำกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ก่อนหน้านี้ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมากล่าวถึงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในการประชุมระหว่างผู้นำทั้งสอง นอกรอบการประชุมผู้นำAPEC ว่า จีนหวังว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่จะไม่แสวงหาสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน โดยจีนไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็ไม่ควรพยายามกำหนดรูปแบบหรือเปลี่ยนแปลงจีน
เหมา หนิงกล่าวว่าจีนมีมุมมองและจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ตามหลักการ 3 ประการ ได้แก่ การเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย “จีนไม่กลัวการแข่งขัน แต่เราไม่เห็นด้วยว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ควรถูกกำหนดโดยการแข่งขัน”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เน้นย้ำว่าประเด็น “ไต้หวัน”เป็นเรื่องภายในของจีน และการแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องของชาวจีน เขากล่าวว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บาหลี อินโดนีเซียเมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ กล่าวอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน
“สหรัฐฯ จำเป็นต้องเคารพความมุ่งมั่นที่มีต่อจีนเดียว และต่อต้าน เอกราชของไต้หวันด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรม” เหมา หนิง ระบุ
กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้งว่า ผู้นำประเทศสมาชิก APEC ในย่านอาเซียนทั้ง 7 ประเทศ รวมถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ก็เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ในครั้งนี้ด้วย ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีไทยจะร่วมหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อหวังดึงแหล่งเงินทุนมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น


APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก ครอบคลุมร้อยละ 38 ของประชากรโลก ร้อยละ 62 ของ GDP โลก และร้อยละ 48 ของมูลค่าการค้าโลก
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเหล่าชาติสมาชิกAPEC กำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากอัตราเงินเฟ้อ หนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกระจายตัวของเศรษฐกิจทางภูมิศาสตร์ การกีดกันทางการค้า และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าจะมีโอกาสพลิกกลับจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนทางการเงินแบบกำหนดเป้าหมาย
การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกAPEC จะชะลอตัวลงเหลือ 2.8% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 จาก 3.3% ในปี 2566 ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ของโลกคาดว่าจะเติบโต 3.1% ในปี 2567 และ 3.6% ในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีนี้
………………………………………………..
อ้างอิง CMG และสำนักข่าว Xinhua

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *