27/07/2024

ย้อนยุทธศาสตร์ก้าวไกล ทำไม? จึงแลนด์สไลด์

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

      “ให้การฟอร์มรัฐบาลได้เกินกว่า 300 เสียง  เพื่อจะดูว่า ส.ว.250 เสียงที่จะร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี จะกล้าขัดใจเสียงประชาชนส่วนใหญ่ไหม”       

……………………………………………………………………………………………………………………………………………

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนส.ส.เขต 113 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน รวม 152 คน กลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่  นอกจากเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนไทย   เป็นการพิสูจน์ว่ากระแสไม่แพ้กระสุน  และเป็นการปลดล็อกการเมืองไทยจากกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว  ยังเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า  การปรับยุทธศาสตร์ในการทำการเมืองของพรรคก้าวไกลช่วงปลายปี 2565 คือจังหวะสำคัญที่นำมาสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์  โดย The Leader Asia ขอนำคำพูดบางส่วนที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่  ได้เคยให้สัมภาษณ์พิเศษไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา  ภายหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มาให้ได้อ่านทบทวนดังนี้

 

 

lประเมินผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่พรรคก้าวไกลส่งคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ลงสมัคร ได้อันดับ 3 และได้ สมาชิกสภากทม. 14 เขต

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากทม.ที่ผ่านมา  เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้คนรู้สึกอย่างไร  คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ได้เป็นแค่ผู้ว่าฯกทม. แต่เหมือนเป็นฉันทามติใหม่  สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในเมืองไทย  คะแนนเสียงกว่า 1.38 ล้านคะแนน คือความต้องการการเปลี่ยนแปลง  ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็ว  ต้องการเห็นวิธีการคิด วิธีการทำงานที่ไม่ใช่นักการเมืองแบบเก่า

ในส่วนของพรรคก้าวไกล คุณวิโรจน์มาที่ 3 แพ้ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 2 ไปนิดเดียวอย่างน่าเสียดาย  เมื่อย้อนกลับไปดูทำให้เรานึกถึงอารมณ์ของการเลือกตั้งที่ผู้คนต้องการคนที่สามารถทำงานได้กับทุกฝ่ายและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง  ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้  เมื่อเทียบกับผู้ว่าฯที่ต้องการพุ่งชน และแก้ปัญหาทางโครงสร้าง  จึงเป็นเรื่องที่ต้องจัดเรียงกระบวนท่าว่าอันไหนคือเรื่องระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว  ที่พรรคก้าวไกลจะต้องเอามาปรับใช้กับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ส่วนใหญ่เราจะเน้นเรื่องโครงสร้าง  การทลายทุนผูกขาด  การกระจายอำนาจ  รัฐ-ราชการรวมศูนย์ต้องหยุด  ล้วนเป็นเรื่องโครงสร้างในระยะยาวที่รัฐบาลสองสมัยถึงจะทำได้  แต่ตอนนี้มีเรื่องโควิด-19  เรื่องวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์  ของแพงค่าแรงถูก  ผู้คนต้องการคำตอบระยะสั้น  ดังนั้นบทเรียนจากสนามกทม.  เรื่องนโยบายยังเน้นโครงสร้างเหมือนเดิมเพราะเป็นลายเซ็นต์ของพรรคก้าวไกล  แต่ต้องมีนโยบายระยะสั้น กลาง ยาว ที่แก้ไขปัญหาได้ทันที

ผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพฯ หรือ ส.ก.ที่ได้มา 14 เขต เทียบแล้วยังเท่าเดิม  แปลว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่  เอาคุณธนาธร(จึงรุ่งเรืองกิจ) คุณปิยบุตร(แสงกนกกุล) คุณช่อ(พรรณิการ์ วานิช) ออกไป  ไม่สามารถทุบทำลายแนวทางหรือวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ในการทำการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลได้  คนกรุงเทพฯยังให้การสนับสนุน  แต่ขณะเดียวกันเราอยู่มา 3 ปีกว่าได้พิสูจน์ฝีมือในสภามาพอสมควรแล้ว  คะแนนก็ยังไม่เพิ่มขึ้น  เราเหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือนก่อนจะครบวาระรัฐบาล ก่อนจะมีการเลือกตั้ง  พรรคก้าวไกลตอนนี้ไม่ใช่พรรคใหม่จึงมีโจทย์และความท้าทายสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป

 

 

lการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง  พรรคก้าวไกล 52 ที่นั่ง มีปัจจัยใดที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะ ก้าวไกลทั้งแผ่นดินตามแคมเปญที่ประกาศไว้

แคมเปญ “ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน”ในเชิงปริมาณเราต้องการจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 52 ที่นั่ง  ต้องมีส.ส.เขตให้มากที่สุดครอบคลุมถึงทุกภูมิภาครวมถึงภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่พรรคฝ่ายค้านจะทำพื้นที่ได้ยาก  เราจึงต้องกลับมาทบทวนว่าพรรคจะต้องทำอะไรใหม่บ้าง

แผนการเลือกตั้ง ต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เช่นการป้องกันแชมป์  การหาทางเอาชนะพื้นที่ที่เคยแพ้การเลือกตั้งเพียงเล็กน้อย  พื้นที่ที่มีคะแนนพื้นฐานเกินค่าเฉลี่ย 2 หมื่นคะแนน

สุดท้ายคือการกลับมาปฏิรูปตัวเอง 3 เรื่องคือ คน นโยบาย และพรรค  มิติของคนต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิมเพราะถูกประชาชนถามเรื่อง “งูเห่า”เยอะ  ต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรคน  การสัมภาษณ์  การทดลองทำงาน  ตรวจสอบประวัติก่อนจะส่งชิงผู้แทน  เรื่องนโยบายไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างโครงสร้างกับปากท้อง  ต้องเป็นนโยบายที่เป็นเรื่องเดียวกันและเราต้องแก้ปากท้องก่อน  ส่วนเรื่องพรรค คือต้องระดมสมองระหว่างประชาชนกับพรรค

พรรคก้าวไกลมาไกล  แต่สิ่งที่พาเรามาจากอดีตถึงปัจจุบันไม่อาจพาเราไปสู่อนาคตอันใกล้ได้  ต้องมีการปรับโฉมใหม่ของพรรคทั้งด้านนโยบาย  การสื่อสาร การเข้าหาสื่อ  การลงพื้นที่  การทำหน้าที่ในสภา  การระดมทุน  การเอาอาสาสมัครเข้ามาช่วย  เหล่านี้เป็นมิติที่ต้องปฏิรูปพรรคในหลายๆรูปแบบ  และจะเห็นเป็นรูปธรรมในวันที่ 9 เดือน 9 ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเปิดแผนสู้ศึกเลือกตั้ง  เวลาที่เหลือจะเป็นการเปิดตัวผู้สมัคร  เปิดนโยบาย  เปิดการปรับตัวของพรรค  สั่นกลองรบไปเรื่อยๆจนถึงวันที่รบจริง

จุดยืนของพรรคคือการสรรหาฉันทามติใหม่ร่วมกัน  ไม่เปลี่ยนไปแบบสุดโต่งและไม่อยู่กับที่  เราต้องการให้ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัติย์เป็นองค์พระประมุข  อยู่เหนือประชาธิปไตยแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลไม่ดูถูกประชาชนกลุ่มใด  เรามั่นใจคนรุ่นใหม่แต่ก็ไม่ประมาท  ยุคสมัยนี้ไม่มีของตายว่าเอาเสาไฟฟ้าลงก็ยังชนะ  หรือคนกลุ่มนี้ยังไงก็เลือกพรรคนี้ไม่มีเปลี่ยน  ยุคนี้อะไรก็ลื่นไหลได้ตลอด  ถ้าเราทำได้ดีเราก็มั่นใจว่าจะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่  เป็นผู้นำที่สามารถจะดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาร่วมกันพัฒนาประเทศได้  แต่เราไม่ประมาทที่จะทำให้เขาผิดหวังแล้วหันไปหาพรรคการเมืองอื่น

 

 

lการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร

เชื่อว่าการเมืองจะกลายเป็นพรรคใหญ่สองขั้วแข่งกัน  ข้อดีคือการเมืองมีเอกภาพมากขึ้นในการทำงาน  แต่อาจจะเกิดการหลงลืม ละเลยหลายๆเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาหลักของประชาชน เช่น สิ่งแวดล้อม  ความหลากหลายทางเพศ  เรื่องชาติพันธุ์

ระบบเลือกตั้งใหม่พรรคเล็กๆไปไม่ได้แน่อาจจะต้องควบรวมกับพรรคใหญ่  ส่วนพรรคขนาดกลางก็ยังเป็นทางเลือกของประชาชน

ประชาชนต้องออกมาเลือกตั้งให้มากที่สุดให้เป็นฉันทนามติ  ให้เห็นชัดๆเหมือนกับการเลือกผู้ว่าฯกทม.  ให้การฟอร์มรัฐบาลได้เกินกว่า 300 เสียง  เพื่อจะดูว่า ส.ว.250 เสียงที่จะร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี จะกล้าขัดใจเสียงประชาชนส่วนใหญ่ไหม

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *