24/04/2024

จุดยืนเชิงรุกของไทยบนเวทีโลก กับนโยบายต่างประเทศที่กินได้

 

Exclusive

นายนพดล  ปัทมะ

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์  พรรคเพื่อไทย

 

 

หลักยืนของไทยต่อนานาชาติและเวทีโลก

นโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดอยู่ ดังนี้

1. จะปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายต่างประเทศเชิงรุก  อาทิ บทบาทของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  ในเวทีอาเซียน  และในเวทีโลก  ควรแสดงท่าทีในประเด็นต่างๆโดยยึดมั่นในหลักการที่สำคัญ  อาทิในเวทีโลกต้องยึดมั่นชัดเจนในกฎบัตรสหประชาชาติ  ในกฎหมายระหว่างประเทศ  ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ดังเช่นการโหวตในกรณียูเครนกับรัสเซียในเดือนตุลาคม 2565 ไทยงดออกเสียง  ต่อมาเมื่อครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อประมาณ 24 กุมภาพันธ์ 2566  ไทยโหวตประณาม  ซึ่งถ้าไทยโหวตในเชิงรุกก็ต้องยืนหยัดในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ และหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น  แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็ก  เป็นมิตรทั้งรัสเซียและยูเครน

2.เพิ่มพูนบทบาทไทยในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อแรก ฟื้นฟูบทบาทของไทยและเกียรติภูมิของไทยในเวทีโลกให้กลับคืนมา

3.เน้นนโยบายต่างประเทศที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ กินได้ ผลประโยชน์ตกถึงมือประชาชน  เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนบนท้องถนน  เช่นการค้าตามแนวชายแดน  ซึ่งต้องเปิดด่านเพิ่มมากขึ้น  ต้องเจรจาขยายเวลาเปิดด่านกับประเทศที่มีพรมแดนติดกันให้การค้าตามแนวชายแดนไร้รอยต่อให้ได้

หรือเรื่องของFTAที่ชะงักงันมาหลังจากรัฐประหารในปี 2557 กับสหภาพยุโรป  และกับอังกฤษที่ออกจากEU ก็มีเป้าหมายเจรจาให้สำเร็จภายใน 1 ปีเพราะช้าไปแล้ว 8 ปี  ในขณะที่เวียดนามเขาเริ่มพร้อมไทยแต่สรุปไปนานแล้วจึงทำให้สินค้าเวียดนามมีแต้มต่อเหนือสินค้าไทย  นี่คือการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศ  เพิ่มตลาดสินค้าให้เกษตรกรและผู้ส่งออก

อีกประการคือการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาแหลางพลังงานเพิ่ม  เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน

4.คือการยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง

 

ท่าทีของไทยต่อความขัดแย้งในต่างประเทศ​  อาทิสงคราม รัสเซีย-ยูเครน, นาโต้-รัสเซีย, ปัญหาการเมืองในพม่า,​ สงครามการค้า จีน-สหรัฐ

ขณะนี้มีพลวัตระหว่างประเทศหลายเรื่อง  การวางบทบาทของไทยจะเป็นอย่างไรจะต้องอาศัยข้อ 1 เป็นหลัก  อีกทั้งวางบทบาทของไทยเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันในด้านสันติภาพและความรุ่งเรืองเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย  ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเล็กและไม่ได้มีส่วนในข้อขัดแย้งต่างๆ  หากมีช่องทางใดที่ไทยจะสามารถส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ ในภูมิภาค ในประเด็นต่างๆได้เราก็ยินดีที่จะทำ  ประเทศไทยก็คงจะต้องกล้าที่จะนำเสนอในประเด็นระหว่างประเทศมากขึ้น  ทั้งในบทบาทของไทยในเวทีโลก  และบทบาทของเราในกลุ่มอาเซียน

ยกตัวอย่างข้อขัดแย้งในยูเครน  ประการแรก ท่าทีของไทยควรจะต้องคงเส้นคงวา  ประการที่สอง ไทยควรจะใช้ทุกวิถีทางแสดงให้เห็นว่าการยุติสงครามด้วยการเจรจาอย่างสันติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด  พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระงับข้อพิพาทต่างๆด้วยการพูดคุยด้วยวิธีการทางการทูต

 

 

การชิงพื้นที่ในอาเซียนของมหาอำนาจตะวันตกกับตะวันออก  ไทยควรวางท่าทีอย่างไร

เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกานั้น  ต้องยอมรับว่าสหรัฐอเมริกาเป็นมิตรกับไทยเกือบ 200 ปี  ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไทยก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทั้งการค้าการลงทุน  และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยสูงสุด  ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งสองฝ่าย  ถามว่ามีใครบังคับให้เราเลือกข้างไหมในการแข่งขันระหว่างสองประเทศนี้  ตอบว่าไม่มี  เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ควรวางความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสองอย่างมีสมดุลและอย่างเหมาะสม  อีกทั้งไทยยังต้องพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคกับทั้งสองมหาอำนาจนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งๆขึ้นไป

ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก  ไม่ใช่ประเทศลู่ตามลมหรือที่เรียกว่า Bamboo Politic  แต่จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ  เราไม่เป็นศัตรูกับใคร  เราต้องรักษาความสัมพันธ์ให้ได้สมดุลในเวทีระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ  เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราดำเนินหรือตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยเงื่อนไขอะไรกับประเทศใด

เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับจีนในด้านการค้าการลงทุนแม้ว่าเราจะขาดดุลการค้า  ทุเรียนไทยยังส่งไปขายจีนได้ดีรวมทั้งสินค้าอีกหลายอบ่าง  นักท่องเที่ยวจีนก็มาเที่ยวไทยจำนวนมาก  นโยบายของรัฐบาลไทยมีความชัดเจนต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-ลาว-ไทย  พรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากจีนตอนใต้ทางระบบรางผ่านประเทศลาวเข้าไทยทางหนองคาย

 

มหาอำนาจใหม่อย่างอินเดีย​ มีบทบาทในเวทีโลกแต่ไทยยังห่างเหิน​ สัมพันธ์ไม่ใกล้ชิด​ ควรวางนโยบายอย่างไร

อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จำนวนประชากรสูง  เทคโนโลยีหลายเรื่องที่ร่วมมือกันได้  การค้าขายระหว่างกันซึ่งเชื่อว่ามีช่องทางพัฒนาได้อีกค่อนข้างมาก  โดยเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับอินเดีย  จะไม่มองเฉพาะคนอินเดียมาเที่ยวไทย  เราน่าจะหาโอกาสทุกแห่งบนโลกนี้เพื่อคนไทย  ไม่ว่าจะเพื่อการค้า  การได้เทคโนโลยี

 

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เคยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยสูง​ ควรจัดอันดับความสำคัญใหม่หรือไม่

การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยยังถือว่าสูงเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่ยังแนบแน่น  ไม่คิดว่าญี่ปุ่นถดถอยลง  เขายังมีอนาคตเพราะเทคโนโลยี ทุน และคุณภาพของคนญี่ปุ่น  เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ยังมีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง มีซอฟท์พาวเวอร์  เราต้องดูว่าแต่ละประเทศมีจุดแข็งอะไรที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้หรือจะร่วมกันพัฒนาเพิ่มเติม  สองประเทศนี้มีเวทีที่เป็นทางการคือ ASEAN + 3 จึงต้องพัฒนาสร้างความแน่นแฟ้นต่อไป

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *