มองมุมมายด์ เลือกตั้ง’66

ช่วงปี 2563 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยุบสภา ให้ผู้นำรัฐบาลลาออกจากตำแหน่งนั้น หญิงสาวคนหนึ่งที่เข้าร่วมการชุมนุมได้กลายเป็นจุดสนใจของสังคมจากการขึ้นพูดบนเวที จากการนำขบวน จากการตกเป็นจำเลยในคดีความนับสิบคดี จนกระทั่งในการชุมนุมครั้งหลังสุดเมื่อปลายปี 2565 ระหว่างการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แล้วเธอก็เงียบหายไป
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “น้องมายด์” คือหญิงสาวที่เรากล่าวถึง โดยกองบรรณาธิการได้นัดหมายกันในช่วงสายวันหนึ่งเพื่อพูดคุยถึงการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ นั่นคือการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่กำลังจะมาถึง แล้วเธอในภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้ามีความคิดเห็นอย่างไร
การเมืองไทยกับการเลือกตั้งครั้งนี้
ตอนนี้มีการแย่งชิงอำนาจกันมากระหว่างขั้วเดิมที่มาจากการรัฐประหาร กับขั้วที่มองว่าตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่หวังจะได้เป็นรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศไม่ให้ซ้ำรอย 8 ปีที่ผ่านมา
มันจะเกิดความเข้มข้นในการต่อสู้ทั้งเชิงนโยบายและเชิงการเมืองรูปแบบเก่า เช่นการพยายามจับมือกัน การพยายามซื้อตัว หรือการพยายามจัดตั้งในแต่ละพื้นที่ภูมิภาค
มีความไม่มั่นคงอะไรบางอย่างที่สะท้อนออกมาของรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากคสช. ที่สามารถมองได้สองอย่าง หนึ่งคือการเล่นละครหรือเปล่า ที่ดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตรแตกคอกัน แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ เป็นแค่ละครและกำลังมีการดิวลับหลังกันอยู่ เพราะการกระจายตัวของสองคนนี้ย่อมเป็นผลดีกับพรรคพลังประชารัฐที่ได้ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ช้ำมา 8 ปีแล้ว ขายไม่ออก หลายพรรคได้ปฏิเสธชัดเจนว่าจะไม่จับมือกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่หากเป็นพล.อ.ประวิตรและพลังประชารัฐก็ไม่แน่ นั่นหมายความว่าพลังประชารัฐกับเจตนารมณ์ เดิมจะเดินต่อได้หากไม่มีพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสมการนี้
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “น้องมายด์”
วิเคราะห์พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
ผู้สนับสนุนฝั่งประชาธิปไตยอยากให้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไป เพราะประเมินว่ายังไงพรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มากที่สุด แต่มีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนในเรื่องของการอภิปรายเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน การรื้อโครงสร้างการเมือง การแก้ไขระบบราชการ คงเสี่ยงต่อชนชั้นนำมากๆหากปล่อยให้พรรคก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพราะเขาจะผลักดันตามนโยบายเหล่านั้นแน่นอน มันจึงยิ่งตอบข่าวลือเข้าไปอีกว่า ยังไงพรรคเพื่อไทยก็คงไม่จับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลเพราะจะเสี่ยงและอันตรายกับพรรคเพื่อไทยที่อาจจะโดนรัฐประหารอีกครั้ง โดยฝ่ายทหารก็ยังคงห่วงความมั่นคงของกลุ่มก้อนของตัวเอง
หากให้สรุปสั้นๆว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้ มันคงเข้มข้นมากซะจนเราอาจจะคาดเดาปลายทางสุดท้ายไม่ถูก แต่เราจะเห็นทั้งการเมืองแบบเดิมและการเมืองรูปแบบใหม่ห้ำหั่นกันอย่างเข้มข้น เพราะฝ่ายผู้สนับสนุนที่ทนไม่ไหวกับพล.อ.ประยุทธ์ก็คงจับหาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกๆการเคลื่อนไหวพรรคการเมืองพวกเขาจับตาดูหมด พรรคการเมืองจึงต้องหากลเม็ดในการให้ตนเองเดินต่อไปให้ได้
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ถูกฝากความหวังไว้กับคนหลายกลุ่ม ฝั่งที่ทนไม่ไหวกับพล.อ.ประยุทธ์ก็หวังว่าเราจะได้เปลี่ยนรัฐบาลเพื่อให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ต่อมาคืออยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจแบบเดิม แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งจะอกหักและรู้สึกเหมือนโดนทรยศ เพราะเหมือนกับกลับไปจับมือกับรัฐบาลทหาร
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาถึงปัจจุบันมีการถกเถียงกันมากระหว่างFCของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เกิดการตั้งคำถามว่าเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า มีFCเก่าหลายคนเอนใจไปให้ก้าวไกลเพราะรู้สึกว่าเพื่อไทยจะเล่นการเมืองแบบเดิม ไม่กล้าพอที่จะรื้อโครงสร้างที่เป็นปัญหาหลัก แต่เลือกที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนเพื่อจะให้ประเทศเดินไปต่อได้ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์คนส่วนหนึ่งที่อยากได้การเปลี่ยนแปลง อาจจะรวมถึงคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี2553 บางส่วนด้วย
พอเกิดความไม่เชื่อมั่นอะไรบางอย่างเช่นนี้ เกิดประเด็นขึ้นในโลกออนไลน์ ว่าจริงๆแล้วเพื่อไทยมุ่งหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่ออะไรกันแน่ ยิ่งมีข่าวลือว่าเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาอีก จึงเป็นกำแพงใหญ่สำหรับเพื่อไทยที่จะให้FCของเขาหรือคนที่เคยเป็นFCกลับมาเชื่อมั่นและเลือกเขาอีกครั้ง
เชื่อว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งจะมีFCเก่าของเพื่อไทยที่โอนไปก้าวไกล ในบางเขตของหัวเมืองที่เป็นคนกลุ่มคนเมือง ค่อนข้างมั่นใจว่าจะเอนไปก้าวไกลมากกว่า โดยเฉพาะในเมืองที่มีมหาวิทยาลัย เยาวชนคนรุ่นใหม่จะเทเสียงให้พรรคก้าวไกลมาก
แม้พรรคก้าวไกลจะมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ ด้วยยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลบางอย่างอาจทำให้ความเป็นนักสู้เดิมถูกกลืนไปกับระบบการเมือง ซึ่งนั่นคือปัญหาหนึ่งที่คนเริ่มชั่งใจว่าก้าวไกลจะยังเป็นแบบอนาคตใหม่ไหม หรือจะเป็นแบบพรรคการเมืองเดิมๆอีกแล้ว แต่พอมีเพื่อไทยเข้ามาเปรียบเทียบตอนนี้คนก็ต้องเลือกในตัวเลือกที่มีในสิ่งที่เขามั่นใจที่สุด ข้อครหาของเพื่อไทยตอนนี้กลับทำให้คะแนนนิยมของก้าวไกลกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเทียบเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าสมัยอนาคตใหม่ก็ได้ เพราะไปดึงคนกลุ่มหนึ่งที่อึดอัดมาตลอด 8 ปีให้มาร่วมเจตนารมณ์เดียวกัน ว่าอยากจะรื้อโครงสร้างอำนาจเดิมก่อนที่จะสู้กับปัญหาเฉพาะหน้า เพราะรู้สึกว่าเป็นการแก้จากต้นตอมากที่สุดและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว
มุมมองต่อพรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทยอยู่ที่ไหนก็ได้ เขาวางตำแหน่งตัวเองไว้ในจุดที่ลอยตัวเหนือความขัดแย้งอย่างแท้จริง เขามีทุน เขามีเป้าหมายเดียวคือการผลักดันนโยบายที่จะตอบสนองต่อทุนของพวกเขา ซึ่งหมายความว่าเขาพร้อมที่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ที่เขาได้ผลประโยชน์และได้อยู่ในจุดที่มีอำนาจในการกุมทรัพยากรอะไรบางอย่างด้วย ฉะนั้นไม่ว่าจะพลังประชารัฐหรือเพื่อไทยขึ้นภูมิใจไทยก็อยู่ได้หมด เห็นได้ชัดว่าภูมิใจไทยรอบนี้เนื้อหอมมาก พลังดูดเยอะมาก มีแต่คนเดินเข้าไปโดยไม่รู้ว่าจะด้วยเหตุผลใด หรืออาจจะดูว่าเป็นพรรคที่มั่นคงที่สุดแล้วที่จะรักษาตำแหน่งของตัวเอง นโยบายกัญชาที่เขาผลักดันมาตั้งแต่แรกที่ยังไม่เสร็จ เขาคงต้องการเข้าสู่อำนาจเพื่อทำตรงนี้ต่อให้ได้เพราะเป็นวงจรธุรกิจในระยะยาว
ภูมิใจไทยคงไม่มีเสียงมากพอจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและเขาก็คงไม่อยากเป็นแกน เพราะนั่นมันเสี่ยงเกินไป ไม่เหมาะสำหรับพวกเขา พวกเขาแค่อยากมีส่วนร่วมในการกุมอำนาจและก…แบบสบายๆดีกว่า เหมาะกับพวกเขามากกว่า
พรรครวมไทยสร้างชาติ
กำลังประเมินว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นเป้าหลอกหรือเปล่าในการเอาพล.อ.ประยุทธ์ออกจากพลังประชารัฐ แค่ทำให้พลังประชารัฐมีความชอบธรรมมากขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าหรือเปล่า ส่วนตัวมองว่าพล.อ.ประยุทธ์เองคงไม่อยากอยู่ในอำนาจขนาดนั้น เพราะ 8 ปีที่ผ่านมานี้ช้ำหนักมาก พล.อ.ประยุทธ์เองอาจจะไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีในหลายอย่าง เขาเป็นแค่มือไม้บางอย่าง การดีดตัวเองออกมาเป็นรวมไทยสร้างชาตินั้นส่งผลดีมากต่อพลังประชารัฐ เขาทำเหมือนตัวเองเป็นคู่แข่งทางการเมือง หรือสร้างละครหลอกๆในการตีกันในกลุ่ม 3 ป หรือแตกคอกัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วส่วนตัวไม่เชื่อว่า 3 ป จะแตกกันได้ เขาเหนียวแน่นกันมาก
เชื่อว่าใจจริงพล.อ.ประยุทธ์อยากจะลงแล้ว คิดว่าเขาพอแล้ว แต่แค่มีบางอย่างที่ยังลงไม่ได้ จนถึงตอนนี้ตอนสุดท้ายเขาต้องพยายามจบให้สวยที่สุดเพื่อรักษาเจตนารมณ์ หรืออำนาจบางอย่างของคสช.ไว้ รวมถึงชนชั้นนำเดิมด้วย แต่อีกมุมหนึ่งหากพล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าถูกบีบคั้นมากจนต้องหาความปลอดภัยอะไรบางอย่างให้ตัวเอง ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาคงพยายามหาที่นั่งในสภาให้ได้สักจำนวนหนึ่งเพื่อให้เขายังมีตัวตนอยู่ในสภา มีความคุ้มครองจากสภาก่อนจะค่อยๆเฟสหายไป การที่เขาเอาพรรคพวกเข้าไปด้วยอย่างนักการเมืองที่อยู่ติดข้างตัว นั่นคือการสร้างทีมเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้ตัวเอง
พรรคประชาธิปัตย์
ถือเป็นช่วงตกต่ำของประชาธิปัตย์จริงๆแต่ยังไงก็ยังมีเก้าอี้ในสภา เขามีแฟนคลับที่เหนียวแน่นเป็นเวลานาน ไม่สูญหาย ยังไม่ตายแต่ใกล้ตาย เชื่อว่าเสียงจะน้อยกว่าปี 2562 ดูจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เขตที่เคยเป็นของประชาธิปัตย์หายไปหมดแล้ว กลายเป็นว่ามีแต่เพื่อไทยกับก้าวไกลที่ได้ที่นั่ง สก.ในสภามากกว่าประชาธิปัตย์ทั้งที่เมื่อก่อนกรุงเทพฯคือเมืองของประชาธิปัตย์ มันตอบชัดเจนว่าคนเมืองก็ไม่เชื่อมั่นในหลักการและแนวทางการทำงานของประชาธิปัตย์แล้ว
คนที่เป็นอนุรักษ์นิยม คนที่เคยสนับสนุนประชาธิปัตย์ก็คงเบนตัวเองไปเลือกพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นๆมากกว่าจะให้เสียงแก่ประชาธิปัตย์ เพราะประชาธิปัตย์ดูไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ดูไม่พัฒนาตนเองไปตามยุคสมัย ตัวคุณจุรินทร์หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันก็ไม่ป๊อปปูล่ามากพอเมื่อเทียบกับยุคคุณชวนหรือยุคคุณอภิสิทธิ์ ต่างมากจนตัวคุณจุรินทร์แทบจะหายไปจากสมการเลย หรือถึงแม้จะได้ร่วมรัฐบาลอีกครั้งหากพลังประชารัฐกลับมา ก็จะเป็นแค่สมการตัวน้อยๆที่ไม่มีพลังต่อรองมากเหมือนเก่า แค่ยังอยู่รอดต่อไปได้ แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเชื่อว่าเพื่อไทยไม่จับมือประชาธิปัตย์แน่นอน
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับประชาชนอย่างเราๆคือหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลโดยรวมกับพลังประชารัฐ หรือภูมิใจไทย โดยมีประชาธิปัตย์กับก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือหายนะของพรรคฝ่ายค้านที่จะไม่สามารถเป็นฝ่ายค้านที่เต็มศักยภาพ เพราะความเชื่อทางการเมืองของสองพรรคนี้ต่างกันอย่างสุดขั้ว นั่นหมายความว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะได้ความสะดวกสบายในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ เพราะฝ่ายค้านจะไม่มีความเป็นเอกภาพ เวลาโหวตอะไร หรือไม่ยอมรับกฎหมายไหนที่รัฐบาลเสนอขึ้นมาก็จะเกิดการแตกเสียงกันเพราะคุยกันไม่ได้ ก้าวไกลกับประชาธิปัตย์คิดว่าคุยกันยากมาก
การเลือกตั้งกับพลังคนรุ่นใหม่
การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่งที่คนไทยสนใจการเลือกตั้งมาก ด้วยความที่ทุกคนฝากหวังไว้มาก ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ที่ออกมาตอนปี 2563 แต่อาจจะมีแนวร่วมอื่นที่เป็นชนชั้นกลางที่อาจยังไม่ตัดสินใจเลือกข้างทางการเมือง แต่เขาทนไม่ไหวกับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้และอยากลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้ เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดในวันเลือกตั้งเขาจะออกมาใช้สิทธิ
การเมืองไทยตอนนี้เปลี่ยนไปจากก่อนหน้าปี 2563 อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถจะกลับไปอย่างเดิมได้อีกแล้ว ไม่สามารถจะปิดหูปิดตาคนได้อีกแล้ว การเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียคือการทำงานทางความคิดที่ประสบผลสำเร็จ มีการแพร่กระจายความคิดทางสังคมว่า จริงๆแล้วพวกเราต่างหากคือคนที่มีอำนาจตัวจริงในประเทศ เราต่างหากที่มีอำนาจเหนือพรรคการเมืองที่พวกเราต้องคอยยกมือไหว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือการเปลี่ยนบทบาทและการตั้งบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้ประชาชนค่อนข้างเข้มแข็งมากกว่าเดิม ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดหนึ่งที่พรรคการเมืองต้องหาทุกกลเม็ดในการแสดงออกมากกว่าเดิม เพราะใช้วิธีการแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว ใช้การขายฝันแบบเดิมไม่ได้แล้ว
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ใช่เปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ก็จะเปลี่ยนมุมมองของประชาชนที่มีต่อลักษณะการเมืองไทย เราจะหวงแหนมากขึ้นหากผลการเลือกตั้งนั้นไม่ได้ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ และเราคงไม่ยอมง่ายๆให้การเมืองวนลูบกลับไปเป็นแบบเดิม แบบที่พรรคการเมืองพยายามกุมอำนาจทุกอย่าง บริหารทุกอย่างโดยที่ไม่เห็นหัวประชาชน ในครั้งนี้เราจะมีตัวตนมากกว่าเดิมไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตาม