26/04/2024

หวังอะไร?…ประเทศไทยในปี 2022

 

หนังสือพิมพ์บางกอก ทูเดย์ ร่วมกับ  คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และ The Leader Asia จัดการสัมมนาเรื่อง “ ศักราชใหม่…ความหวัง(หรือแค่ฝัน)ประเทศไทย 2022” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  โดยมีการเสวนา หัวข้อ “หวังอะไร?…ประเทศไทยในปี 2022” ซึ่งมีเนื้อหาสรุปดังต่อไปนี้

 

นายแพทย์เกรียงไกร ถวิลไพร  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง

       อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

การระบาดของเชื้อโอไมครอน  พบว่าคนทั่วไปจะติดเชื้อได้มากขึ้น  อายุผู้ป่วยน้อยลง  โรคประจำตัวน้อยลง  เมื่อดูอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มประเทศที่มีการระบาดของเชื้อโอไมครอน  มีอัตรา 2.7% เมื่อเทียบกับเดลตาเกือบ 30%  ดูอัตราการใช้อ๊อกซิเจนเมื่อติดโอไมครอน 17.4 % เมื่อเทียบกับเดลตา 74%   อัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจก็น้อยกว่า  จาก12.4% เหลือเพียง 1.6%  อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตุว่าช่วงที่โอไมครอนระบาด  ได้มีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นแล้ว

จากข้อมูลต่างๆแนวโน้มเชื้อโอไมครอนน่าจะมีความรุนแรงน้อยลง  แต่ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาคือมันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีขึ้น  เทียบกับช่วงแรกของการระบาดที่เมืองอูฮั่น  ผู้ป่วย 1 คนแพร่เชื้อได้ประมาณ 3 คน  ช่วงเดลตาประมาณ เพิ่มเป็น 1 ต่อ 7คน ช่วงโอไมครอนมีการคำนวณว่าประมาณ 2-4 เท่าของเดลตา  ทำให้การระบาดเป็นวงกว้างแต่จะไม่รุนแรง

ถามว่าวัคซีนยังใช้ได้ผลอยู่หรือเปล่า  รุ่นเดิมยังจับกับโอไมครอนได้ไม่ดี  การฉีดเข็ม3หรือ4 น่าจะช่วยได้ วันนี้ไทยฉีดวัคซีนได้ประมาณ70%ของประชากร  เป็นระดับกลางๆของโลก ถ้ารักษาได้ระดับนี้อีกไม่กี่เดือนสถานการณ์น่าจะดีขึ้นกว่านี้มาก

กรณีที่องค์การอนามัยโลกคาดว่าโควิด-19 มีโอกาสจบลงได้ในกลางปี 2565 นั้น  มีความเห็นว่าสุดท้ายแล้วจะเหมือนไข้หวัดใหญ่คือไม่น่าจะหมดไปจากโลกนี้  จะเป็นเหมือนไวรัสที่ระบาดอยู่แล้ว 4 สายพันธุ์ที่มีอาการแบบไข้หวัดใหญ่  แล้วโควิด-19 จะกลายเป็นตัวที่ 5 โดยคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว  ส่วนประเทศไทยนั้นน่าจะควบคุมได้เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของไทยทำได้ค่อนข้างดีมากซึ่งช่วยให้อัตราการเสียชีวิตต่ำ  ขณะที่บางประเทศยังฉีดวัคซีนได้น้อยมากไม่ถึง 10% ดังนั้นแม้โอไมครอนจะไม่รุนแรงแต่อัตราการเสียชีวิตอาจจะสูงหากติดเชื้อกันมากๆ

อย่างไรก็ตามการที่ทั่วโลกฉีดวัคซีนได้ไม่เท่าเทียมกัน  โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์กลับมาร้ายแรงอย่างเดลตาก็ยังเป็นไปได้  จึงมีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่มีวัคซีนในมือมากๆ  ช่วยกระจายไปยังกลุ่มประเทศที่ยังได้รับวัคซีนน้อย  ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นแหล่งรั้งโรค

 

ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค 

       ธนาคารแห่งประเทศไทย

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรงในรอบกว่า 20 ปี  รองจากเหตุการณ์ปี 2540  เนื่องจากไทยพึงพานักท่องเที่ยวสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชีย  แม้ตัวเลขจีดีพีจะไม่แย่เท่าปี2540 แต่ผลกระทบประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กในวงกว้าง

ที่ผ่านมาการประสานนโยบายการเงินการคลังมีความจำเป็น  หากไม่มีนโยบายการคลัง จีพีดีปี 2563 ที่ติดลบ 6.1% อาจจะติดลบมากถึง 9% หรือจีดีพีปี 2564 ที่โตเกือบ 1% นั้นหากไม่มีนโยบายการคลังเข้ามาช่วยก็อาจจะติดลบเกือบ 5%

นโยบายการเงินพยายามดูแลให้ดอกเบี้ยต่ำ  ด้านสินเชื่อโตได้ค่อนข้างดีปีที่แล้ว 5-6%   ในปี 2565 ยังไงจีดีพีก็จะเติบโตมากกว่าเดิม  ก่อนที่โอไมครอนจะมา ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการณ์ไว้ที่ประมาณ 3.9%  แต่เมื่อโอไมครอนมาจริงคณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินใหม่ในเดือนธันวาคม 2564 ว่าน่าจะเหลือ 3.4% โดยขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าจะสามารถควบคุมโอไมครอนได้ภายในครึ่งปีแรกของปีนี้  แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ  มีไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ก็จะกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ซึ่งส่วนใหญ่จะมาในช่วงครึ่งปีหลัง

อีกตัวที่อาจจะเปลี่ยนไปจากปี2564คือแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ  เป็นการใช้จ่ายของเอกชนและการท่องเที่ยวมากขึ้น  ความจริงการส่งออกและภาคการคลังยังโตได้อยู่  แต่แรงพยุงเศรษฐกิจจะน้อยหลังจากได้เร่งไปก่อนหน้า  การส่งออกปีที่แล้วช่วยได้6.6%  ปีนี้ไม่ถึง2%  ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นด้วยแรงส่งจากนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมา 50% ของยอดนักท่องเที่ยวก่อนเกิดโควิด-19

ปีนี้จีดีพีไทยดีขึ้นชัดเจน  แต่ไทยมาช้ากว่าประเทศอื่นเพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมากจึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 3 ปี  ช้ากว่าประเทศอื่นประมาณ 1 ปี  ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก

ความท้าทายของไทยมีอยู่หลายประเด็น  อาทิความไม่ทั่วถึงของการฟื้นตัวในภาคธุรกิจและแรงงาน  กล่าวคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น อีเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์  เครื่องใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวต่อเนื่องและเกินกว่าระดับเดิมก่อนเกิดโควิด-19   แต่กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ช้า เช่น โรงแรม  การขนส่งผู้โดยสาร ฯลฯ คาดว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนาน  ถึงแม้จีดีพีปี 2566 จะกลับมาเท่าเดิมแล้ว  แต่บางกิจกรรมยังไม่สามารถกลับมาได้  ซึ่งสะท้อนไปยังเรื่องของตลาดแรงงาน  โดยภาคการผลิตฟื้นตัวเร็วแต่จ้างงานเพียงแค่ 8% ประโยชน์จึงอยู่กับคนจำนวนน้อย  เทียบกับแรงงานในภาคบริการซึ่งมีสัดส่วน 52% จึงมีผลให้แรงงานนอกภาคการเกษตรยังฟื้นตัวช้าและไม่สามารถกลับไประดับเดิมก่อนเกิดโควิดได้เร็ว

ปี2565แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นมาบ้าง  แต่รายได้ของแรงงานยังน้อยกว่าปีก่อนเกิดโควิด 15% โดยเฉพาะลูกจ้างภาคบริการ  และผู้ประกอบอาชีพอิสระ  มีการจ้างพนักงานรายวันแทนพนักงานประจำมากขึ้น  กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม  สัดส่วนลูกจ้างรายวันเพิ่มขึ้นจาก 11% ก่อนเกิดโควิด  ตอนนี้เป็น18%  รายได้เฉลี่ยก็ลดลงเกือบ 10%

โจทย์ของปีนี้ภาพใหญ่คือดูแลเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องไม่สะดุด  มองย่อลงมาต้องช่วยเหลือกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าให้กลับมาได้เร็วที่สุด  ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง  ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำที่สุด 0.5% ติดต่อกันมาเกือบสองปี  อัตราแลกเปลี่ยนปี 2564 อ่อนค่าประมาณ10%  รวมถึงการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง  ช่วยการปรับโครงสร้างหนี้

จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือรายได้ที่ยังไม่กลับมา  ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นเศณษฐกิจต่อเนื่อง  การใช้เงินให้ตรงจุด  และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีผลกระทบบ้างต่อการฟื้นตัว  แต่โอกาสที่เศรษฐกิจจะสะดุดเพราะเงินเฟ้อคงมีไม่มาก  ผลกระทบจากโอไมครอนยังมีมากกว่า  ต้องยอมรับว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นการซ้ำเติมประชาชนกลุ่มที่เปราะบาง  กลุ่มที่ฟื้นตัวช้า

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ที่ 1.7% ปี 2566 อยู่ที่ 1.4% สถานการณ์ในปี 2565 เงินเฟ้อคงจะปรับขึ้นสูงสุดภายในครึ่งปีแรกแล้วจะค่อยๆปรับลดลง

ในช่วงครึ่งหลังของปีตามทิศทางพลังงานและปัญหาด้านอุปทานที่เริ่มคลี่คลายลง  แต่ความเสี่ยงก็ยังมีมากพอสมควรหากการระบาดของโอไมครอนรุนแรงมากขึ้นจนกระทบการผลิตและการขนส่ง  หากต้นทุนด้านพลังงานต่างๆเพิ่มมากขึ้น  หากความเสี่ยงเหล่านี้มาพร้อมๆกันอาจจะทำให้การส่งผ่านไปที่ราคามีมากกว่าที่คาด  อาจจะทำให้เกิดการปรับราคาในวงกว้าง  หรืออาจจะทำให้มีการปรับค่าจ้าง  ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น  เกิดSecond Round Effects ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ  แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน  เพราะสินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับราคาในวงกว้าง

อย่างไรก็ดีเรื่องเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญ  เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาด  จำเป็นต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด  เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่  ปัญหาเรื่องอุปทานต้องใช้เวลาในการคลี่คลายซึ่งน่าจะชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

 

นายอิสระ วงศ์รุ่ง  รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คุณวิทัย รัตนากร มาด้วยแนวคิดธนาคารเพื่อสังคม ซึ่ง

เมื่อเกิดโรคระบาดและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงเป็นแนวคิดที่ถูกทางพอดี  โดยธนาคารออมสินได้ทำเรื่องหลักๆอยู่ 4 เรื่อง

1.ผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้เอสเอ็มอีและประชาชนฐานรากขาดสภาพคล่อง  เพราะรายได้น้อยลง หรือขาดหายไปไม่เหมือนเดิม  แต่รายจ่ายยังมีอยู่และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน  เพราะสถาบันการเงินมีเกณฑ์ปกติในการปล่อยสินเชื่อ  ซึ่งในช่วงวิกฤตินั้นใช้ไม่ได้  ธนาคารออมสินจึงช่วยเติมสภาพคล่องโดยไม่ใช้เกณฑ์ปกติ

ในปี 2563-2564 ได้สนับสนุนการให้สินเชื่อไป 2.3 แสนล้านบาท รวม 3.83 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้หากในยามปกติจะมีถึง 2.62 ล้านรายที่กู้ไม่ได้เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ปกติของธนาคาร ในจำนวนสินเชื่อที่สนับสนุนไปนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1.8 แสนล้านบาท  แบ่งเป็นซอฟท์โลนในปี 2563 จำนวน 1.42 แสนล้านบาท และปี 2564 อีก 3.8 หมื่นล้านบาท

2.ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ  หรือในระบบที่ไม่ใช่ธนาคาร  ทางออมสินได้เข้าสู่ตลาดจำนำทะเบียนรถโดยเริ่มจากรถจักรยานยนต์  ในอดีตดอกเบี้ยตัวนี้สูงถึง 28% ต่อปี ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยให้ลดลงเหลือ 24%ต่อปี  ธนาคารออมสินร่วมกับบริษัทศรีสวัสดิ์ตั้งบริษัทเงินสดทันใจ  ให้บริการผู้ขอกู้ใหม่หรือรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ย 0.49% ต่อเดือน หรือ 11%ต่อปี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยแก่ประชาชน  ส่งผลให้ตลาดกลุ่มนี้ที่มีลูกค้าประมาณ 3.5 ล้านราย ปี 2564 เงินสดทันใจปล่อยสินเชื่อได้ 6 แสนราย วงเงินรวม 1.2 หมื่นล้านบาท

3.ปัญหาความไม่สามารถชำระหนี้และเกรงว่าจะเสียประวัติในเครดิตบูโร  และอาจจะถูกฟ้องยึดทรัพย์  ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้  เช่นพักชำระหนี้ระยะยาวไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 9 เดือนในปี 2563  และ 6 เดือนในปี 2564  โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังที่อนุมัติให้ดำเนินการได้ มีผู้เข้ามาตรการนี้ 3.82 ล้านราย รวมวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท

4.ปัญหาลูกจ้างที่ตกงาน กลับบ้านโดยไม่มีทักษะอาชีพ ไม่มีรายได้  ธนาคารออมสินได้นำเรื่องสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่ทำอยู่แล้วมามุ่งเน้นเต็มที่ตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมายังปี 2565 เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้  มีเป้าหมายจะสร้างไมโคร เอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีชุมชน  มีสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ผ่อนชำระนาน 5 ปี

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ความหวังของเศรษฐกิจไทยปีนี้ขอแค่ให้กลับไปเดินหน้าได้ใกล้เคียงกับก่อนจะเกิด โควิด-19  หวังให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกลับไปใกล้เคียงภาวะปกติ  อีกประการคือหวังให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา  เพราะสองปีก่อนจีดีพีไทยติดลบไป 6%  ปีที่แล้วฟื้นกลับมาแค่ 1%  แสดงว่าจีดีพีไทยยังต่ำกว่าเกิดโควิด-19 ถึง 5%

ในกลุ่มอาเซียนนี้มีเพียงประเทศเดียวที่แย่กว่าไทยคือฟิลิปปินส์  ขณะที่หลายประเทศชั้นนำในโลกเขาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจนดีกว่าเดิม  จนเจอปัญหาใหม่ว่าเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป  อาทิ สหรัฐอเมริกาที่จีดีพีอยู่ที่ 7% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 อังกฤษเงินเฟ้อ 5.4% สูงสุดนับแต่ปี 1992  เงินเฟ้อในยุโรปก็ค่อนข้างสูงมากจนหลายๆที่เริ่มแตะเบรกเพราะเศรษฐกิจร้อนแรง  มีปัญหาเรื่องดีมานด์ ที่ฟื้นเร็วกว่าการผลิตสินค้าหลายๆชนิด  เพราะโลกยุคนี้เชื่อมโยงกันไปหมด  พอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่เท่ากัน  ของที่ผลิตกลับมาไม่เท่ากันมีผลให้สินค้าบางอย่างปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเงินเฟ้อสูง

การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 ทำอย่างไม่จำกัดจนอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์  ทำQEไปเรื่อยๆ  อัดฉีดสภาพคล่องไปเรื่อยๆ  วันนี้เงินเฟ้อเกินเป้าหมายของเขา  เพราะธนาคารกลางส่วนใหญ่ให้เงินเฟ้อแค่ 2% ก็พอแล้ว  แต่วันนี้เงินเฟ้อ5-7% และอาจจะยังไม่มีทีท่าจะลดลงเพราะมีประเด็นเรื่องซัพพลาย  เรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นไปถึง 87 เหรียญต่อบาเรลล์  รัสเซียอาจจะรบกับยูเครน  กบฏในเยเมนยิงยูเออี  กลายเป็นมีความเสี่ยงที่มากดดันเงินเฟ้อพร้อมๆกัน  ความจำเป็นในการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจึงมีน้อยลง

วันนี้เขากำลังพูดถึงการถอนสภาพคล่อง  กำลังดึงQE ออก  นโยบายการเงิน  ดอกเบี้ยจะค่อยๆขยับขึ้น  แปลว่าคนอื่นที่เขาเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจเขาฟื้นแล้วจนร้อนแรง  เขากำลังจะเลิกงานปาร์ตี้กลับไปล้างจานกันแล้ว  แต่เศรษฐกิจไทยเรายังไม่ฟื้นเลย  ในขณะที่เราต้องจ่ายน้ำมันราคาเดียวกับเขา  กำลังจะเจอสถานการณ์ที่สภาพคล่องกำลังจะหดพร้อมกับเขา  เรากำลังจะเจอต้นทุนทางการเงินที่แพงขึ้นพร้อมกับเขา

สภาพการเงินโลกที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญคือ  การถอนการกระตุ้นหนักๆและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย  เพราะที่ผ่านมาสภาพคล่องที่มีอยู่มากมายทำให้มั่นใจกันว่าโลกจะไม่มีวิกฤติทางการเงิน  ตรงนี้ไปผลักดันให้ราคาสินทรัพย์แพงขึ้นทั่วโลก  สินทรัพย์เกือบทุกชนิดเมื่อสองเดือนก่อน All time high เกือบทุกอย่าง  ราคาหุ้นในสหรัฐ ยุโรปและอีกหลายประเทศอยู่ในระดับที่สูงที่สุด  ราคาบ้านในสหรัฐตอนนี้สูงกว่าปี 2008 ซึ่งถือเป็นยุคฟองสบู่มากกว่า 40%

สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ  ภาพกำลังจะเปลี่ยนในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่  อาจจะเห็นความผันผวนของค่าเงินบาทพอสมควร  ในขณะที่เรารอกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต

กรณีของภูเก็ตโมเดล หรือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์น่าจะนำมาถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างจริงจัง  เพราะภูเก็ตถูกปิดเกาะก่อนกรุงเทพฯตั้งแต่มีนาคม 2563 นักท่องเที่ยวหายยาวไปจนถึงสิ้นปี  เศรษฐกิจภูเก็ตมูลค่า 4 แสนกว่าล้านเหลือค้างท่ออยู่แค่แสนล้านในปี 2563 เป็นการ Disrupt ตัวเองอย่างรุนแรง

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีที่มาจากการที่ปี 2563 เป็นศูนย์ แล้วภาคเอกชนรวมกันคิดว่าจะทำอย่างไรในปี 2564  พูดคุยผ่านไปยังสภาพัฒนาจนถึงรัฐบาล  ตอนแรกทางภูเก็ตอยากจะเปิดวันที่ 1 ตุลาคม  แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับต้องการเร่งให้เปิดตั้งแต่ 1 กรกฎาคม  ฝ่ายเราขอเงื่อนไขเดียวคือฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตให้ทันก่อนเปิดเกาะได้ไหม  จึงเกิดการบุกตะลุยฉีดวัคซีนอย่างเข้มข้นเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย  โดยเรื่องซอฟท์แวร์นั้นทีมเอกชนภูเก็ตลงทุนให้กับทางราชการทุกอย่าง  ถือเป็น Key Success  ที่น่าจะนำมาถอดบทเรียน  โปรแกรม “ภูเก็ตต้องชนะ”ที่ใช้บริหารการฉีดวัคซีนเป็นผลงานของภาคเอกชนที่ดำเนินการเองทั้งหมด

Key Success ของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน  มีผลให้การทำงานแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ  เพราะภาคเอกชนภูเก็ตแข็งแกร่ง  ภาคราชการรับฟัง  หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงฝีมือ  การฉีดวัคซีนในจังหวัดภูเก็ตเป็นการบริหารของภาคเอกชน  หากเป็นจังหวัดอื่นส่วนราชการคงไม่ยอม

อีกประการหนึ่งของความสำเร็จที่ต่อเนื่องมาถึงวันนี้คือการตรึงกำลังในการตรวจผู้ที่เข้าประเทศทางจังหวัดภูเก็ตอย่างเข้มข้น  โดยตรวจ100% ที่สนามบิน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน

หากจะดึงการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมา  เราควรจะถอดบทเรียนความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และเอาไปใช้ในเรื่องซอฟท์แวร์เดียวกัน  การทำงานเหมือนกัน  ในเรื่องการบริหารจัดการที่อย่าต่างคนต่างทำ  ถ้าจะปลุกให้การท่องเที่ยวรอด  และจีดีพีขึ้นมาอีกครั้ง  ต้องให้หัวเมืองทุกเมืองเอาบทเรียนของภูเก็ตไปใช้

 

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  กระทรวงสาธารณสุขที่เคยฉาย 3 ฉากทัศน์ด้านการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่เกิดขึ้นเลยแม้สักฉากทัศน์เดียว  คือการติดเชื้อวันละ 1-3 หมื่นคน

ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.6 – 4.5% เราคิดในเชิงกึ่งบวกว่าถ้าเราอัดฉีดเม็ดเงิน 1 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ  เศรษฐกิจก็ควรจะโตได้ประมาณ 0.7% เป็นอย่างน้อย เอานโยบายคนละครึ่งและช็อปดีมีคืนใส่เข้าไป 1.3 แสนล้านบาท  บังเอิญเป็นการใส่เข้าไปหลังจากเกิดโอไมครอน และปิดระบบ Test & Go แล้วกลับมาตั้งหลักตั้งฉากใหม่  ก็ยังดีที่จะกลับมาเปิดระบบ Test & Go ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์  ดังนั้นฉากทัศน์ต่างๆได้ถูกเปลี่ยนจากเดิมที่มองว่าสถานการณ์โควิดยังอยู่ซึ่งเราก็คิดว่ายังอยู่  แต่สมมติฐานตอนนั้นเรามองว่าเศรษฐกิจน่าจะโต 3.6-4.5% และเศรษฐกิจไทยน่าจะโต 4.2% มันเป็นความท้าทายที่น่าจะทำได้พร้อมๆกับแนวนโยบายอัดฉีดเงินเป็นแสนล้านบาทในครึ่งปีแรก  การใช้งบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท  และยังมีภาพของการให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้ 5-10 ปี  ภายใน 5 ปีจะมีพนักงานชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทย ประมาณ 1 ล้านคน จะมีเงินหมุนเข้ามาประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปีซึ่งจะดันเศรษฐกิจให้ทะยานอย่างน้อย 5 % แน่นอน

ที่เรามองบวกเพราะโลกฟื้นจากโอไมครอน  จีนก็ฟื้น อาเซียนก็ฟื้น  ไอเอ็มเอฟมองว่าปี 2564 อาเซียนโตประมาณ 3% ปี 2565 อาเซียนจะโตประมาณ 5%กว่า  ดังนั้นประเทศไทยที่ทำการส่งออกกับอาเซียนเป็นสำคัญ  อินเดียก็โตเกือบ 9%  มันมีตรรกะ นัยยะที่ทำให้การส่งออกควรจะขยายตัวเกินกว่า 5% ที่น่าจะทำได้  และถ้าระบบTest & Go เปิด  เราคาดหวังนักท่องเที่ยว 5-6 ล้านคน  แต่ถ้าทำดีๆนักท่องเที่ยวอาจจะถีบตัวขึ้นมาถึง 10 ล้านคน อย่างนี้เศรษฐกิจควรจะฟื้นตัว

แต่ในเวลาเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเปราะบาง  เพราะค่าระวางขนส่งสินค้ายังไงก็ยังแพงจนถึงไตรมาสที่2  เราเคยคิดว่าราคาน้ำมันไม่ควรเกิน 85 ดอลลาร์ต่อบาเรล  แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปทดสอบ 90 ดอลลาร์ต่อบาเรล   พอค่าระวางขนส่งสินค้าแพง  ค่าโสหุ้ยต่างๆจะแพงเป็นเงาตามตัว  ภาคเอกชนเคยเตือนรัฐบาลแล้วว่าสินค้าจะราคาแพง  แต่ที่คาดไม่ถึงคือ “หมูแพง”  ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องคุมราคาไก่ ไข่ไก่ แล้วบอกภาคเอกชนว่าอย่าขึ้นราคาสินค้า  แล้วรัฐบาลก็กลับมาคิดว่าจะลดภาษีสรรพสามิตเพื่อตรึงราคาน้ำมันไม่ให้กระทบค่าขนส่งและเงินเฟ้อ  ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ย  นี่คือ “เปราะ” และ “บาง” พอสมควร ที่จะกระเทือนต่อคนไทยและผู้ประกอบการที่ NPL(หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ยังมีปัญหา  ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปลายปีที่แล้วจะต้องกลับมาเจอสถานการณ์ของการฟื้นตัวที่ยังมีความเสี่ยงของโควิด  และสถานการณ์ของแรงกดดันที่ต้นทุนเริ่มสูงขึ้น

เรารู้ว่าตอนนี้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น  คาดว่าจะทะลุ 90% ต่อจีดีพี โดยเราคาดว่าจะขึ้นสูงสุด 94% ต่อจีดีพีในช่วงกลางปีนี้  เมื่อไปผสมผสานกับปัญหาของแพงของขาด  นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าเปราะบาง คือพร้อมจะทรุดลงมาได้  อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าหลังจากมกราคมสถานการณ์น่าจะคลาย  ระบบ Test & Go กลับมาใช้ 1 กุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจะค่อยๆกลับมา  เราหวังว่าไตรมาส2 น่าจะฟื้น  ครึ่งปีหลังจะดีขึ้นรองรับการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

กระนั้นก็ตามยังมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมีอาการ “ปริ”  พรรคการเมืองสร้างใหม่เปิดตัวเยอะมาก  เป็นภาพของความเปราะบางทางการเมืองซึ่งอาจจะเปลี่ยนทิศทางหรือเปล่า  เศรษฐกิจไทยนั้นพร้อมจะฟื้นตัวแต่อาจจะมีอะไรที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *