24/04/2024

“ศักราชใหม่…ความหวัง(หรือแค่ฝัน)ประเทศไทย 2022”

 

หนังสือพิมพ์บางกอก ทูเดย์ ร่วมกับ  คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และ The Leader Asia จัดการสัมมนาเรื่อง “ ศักราชใหม่…ความหวัง(หรือแค่ฝัน)ประเทศไทย 2022” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง  ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาพร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แรงขับเคลื่อนประเทศไทยในศักราชใหม่ 2022”  ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2 ปีที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลงถึงประชาชนในวงกว้าง  ทุกประเทศต้องใช้นโยบายการคลังเข้าพยุงเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน  มาตรการด้านการคลังถูกนำมาใช้ในช่วง 2 ปีค่อนข้างมาก  ในกรณีของประเทศไทยจากข้อมูลของไอเอ็มเอฟชี้ให้เห็นว่าไทยได้ใช้มาตรการด้ารการคลังประมาณ 14% ของจีดีพี  ใช้มาตรการกึ่งการคลังประมาณ 4% ของจีดีพี   มาตรการด้านการคลังนั้นเน้นการหาทรัพยากรโดยการออกพ.ร.ก.กู้เงินสองฉบับ  ฉบับแรก 1 ล้านล้านบาท  ฉบับที่สอง 5 แสนล้านบาท  โดยเน้นชดเชยรายได้ของประชาชนที่ขาดหายไป  ต้นปี 2563 ดำเนินโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เยียวหาคนละ 5,000 บาทต่อเดือนรวม 3 เดือน   นอกจากนี้ยังมีเรื่องซอฟท์โลนเพื่อช่วยเอมเอ็มอี  และการรักษาเสถียรภาพตลาดทุน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวที่เคยมีถึงปีละ 40 ล้านคน สร้างรายได้ถึง 12% ของจีดีพีต้องหายไปหมด  กระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานภาคการท่องเที่ยว  รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน  มีมาตรการพักชำระหนี้  การปรับโครงสร้างหนี้  ซึ่งกระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการเข้าไปช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี

ปี 2564 ที่ผ่านมา จีดีพีไทยเติบโตประมาณ 1%  ส่วนปี 2565 เชื่อว่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2564  สะท้อนให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมในด้านการลงทุนของภาคเอกชน  ส่วนภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มค่อยๆกลับมาโดยดูจากการเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เริ่มมีการจ้างงานต่อเนื่อง  ขณะที่ภาครัฐบาลมีงบลงทุนประมาณ 9 แสนล้านที่จะใช้จ่ายในปี 2565  และการให้สัมปทานเอกชนลงทุนในโครงการอีอีซีที่ประมาณการเม็ดเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท

ภาคการบริโภครัฐมีมาตรการรักษาระดับการบริโภค  กระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  ช่วยเหลือการใช้จ่ายด้านการเดินทาง    ส่วนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีมาตรการคนละครึ่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย  โดยจะเริ่มเฟส 4 เร็วขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

ในปี 2565 ยังมีความท้าทาย 3 ประการ  ประการแรกคือการคงอยู่ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้จะไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า แต่จากการแพร่ระบาดที่ไวกว่า ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 6,000-7,000 คนต่อวัน ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสามารถจำกัดพื้นที่แพร่ระบาดได้ และเดินหน้าฉีดวัคซีนตามแผน ก็จะทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้นได้

ประการที่สอง ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในช่วงปี 2563-2564 ที่ภาคธุรกิจมีการปิดตัวลง แรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งพบว่าแรงงานมีการประกอบชีพใหม่ และอาจไม่กลับเข้าสู่ระบบแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวก็เดินทางกลับประเทศจำนวนมาก ทำให้ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เปิดรับคำขอการเดินทางเข้ามาทำงานในไทยจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าสถานการณ์แรงงานขาดแคลนอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น

ประการที่สาม สถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นปัญหาราคาหมูแพง  รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯเข้าไปกำกับดูแล ส่วนราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องนั้น มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯจะเข้ามาเป็นกลไกช่วยเรื่องของราคาน้ำมัน  ปัญหาราคาสินค้านี้คาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีแรก

ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ที่ 1-3% แม้จะมีบางช่วงที่อาจทำให้เงินเฟ้อใกล้ระดับ 3% หรืออาจเกินกรอบไปบ้าง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่แน่ชัด ยังขึ้นอยู่กับการดูแลราคาสินค้าและอาหาร แต่ยืนยันว่าเราจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเกินกรอบ 3%

การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 นี้ได้คาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% โดยธุรกิจที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

1.ดิจิทัลเทคโนโลยี  กลุ่มสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล  Venture capital ซึ่งกระทรวงการคลังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น หรือแพลตฟอร์มต่างๆที่ให้บริการด้านData Center

2.การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ  การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ที่เริ่มจากภาคการขนส่ง  สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า  มาตรการด้านภาษี

3.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องการแพทย์และสาธารณสุข  ดูแลผู้สูงอายุ  มีโครงการรามาธนารักษ์เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

สุดท้ายแล้วการให้ความช่วยเหลือประชาชน เอสเอ็มอี หรือธุรกิจทั่วไป  กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเติมเต็มส่วนที่ขาดไปในระบบสถาบันการเงิน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *