27/04/2024

คิดอย่าง Leader ต้องเลิก BRT

 

โดย  ดร.โสภณ พรโชคชัย

ถ้าไทยเรามี “ผู้นำ”  ที่เป็นผู้นำจริงๆ ต้องรีบเลิก “BRT” หรือโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bangkok Rapit Transit) และอย่าได้คิดนำระบบขนส่งมวลชนนี้ไปทำในต่างจังหวัดหรือที่ใดในไทยอีก

BRT เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบหนึ่งที่ใช้รถโดยสาร ให้บริการเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากรถโดยสารประจำทางทั่วไป โดยพัฒนารูปแบบการเดินรถ ตัวรถโดยสาร ตารางการเดินรถ ระบบขนส่งอัจฉริยะ และที่สำคัญคือจะมีช่องทางวิ่งแยกออกมาจากถนนปกติเป็นช่องทางเฉพาะ โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีคุณภาพของบริการเทียบเท่ากับระบบขนส่งมวลชนระบบราง ในความเร็วและความจุผู้โดยสารที่เทียบเท่ากับระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างและการเดินรถโดยสารประจำทางที่ประหยัดกว่า ทั้งยังสามารถจัดเส้นทางการเดินรถได้ยืดหยุ่นมากกว่าระบบราง (http://bit.ly/2ji4xMi)

อย่างไรก็ตาม BRT สายแรกในไทยคือที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์-ถนนพระรามที่ 3 ก็เคยมีข่าวว่า BRT “6 ปีขาดทุนยับพันล้าน” (http://bit.ly/1RXLWhL และ http://bit.ly/25Jn1Ip) โดยมีรายละเอียดว่า “จนถึงปัจจุบันรวมเวลาให้บริการประมาณ 6 ปี พบว่าขาดทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจาก กทม.ต้องใช้งบประมาณ ในการสนับสนุนปีละประมาณ 200 ล้านบาท ทุกปี. . .ส่วนจำนวนประชาชนที่ใช้บริการนั้น ตามเป้า ที่ตั้งไว้ คือ 30,000 คน แต่มีผู้ใช้บริการประมาณ 20,000 คนเท่านั้น และจำนวนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็น้อยมาก ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้”

ในกรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  (www.area.co.th) ตั้งข้อสังเกตว่า

  1. การลงทุนมากขนาด 2,009.7 ล้านบาท นี้และประสบการขาดทุน แสดงว่าไม่ได้ทำการศึกษามาให้ดีหรือไม่
  2. การปล่อยให้มีการขาดทุนทุกปีๆ ละ 200 ล้านบาทจนบัดนี้ 6 ปีแต่ยังไม่ได้แก้ไข ถ้าเป็นภาคเอกชนก็คงปิดกิจการไปแต่แรกแล้ว การกระทำอย่างนี้แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควรหรือไม่
  3. การริเริ่มโครงการนี้ถือเป็นการหาเสียงทางการเมืองโดยใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการหรือไม่ ถือเป็นการขาดจริยธรรมทางการเมืองหรือไม่

โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีคลองอยู่ตรงกลางสามารถสร้างรถไฟฟ้าแบบลอยฟ้า หรือขุดลงใต้ดินได้ โดยอาจร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการได้ แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการ ทำให้ประสบปัญหามากมาย แม้แต่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้กั้นช่องทางจราจรให้โดยเฉพาะ และแม้หากมีการกั้นช่องทางจราจร ก็กลับกลายเป็นการลดพื้นที่การจราจรของรถโดยสารอื่นอีกต่างหาก

ที่ผ่านมายังมีการไปทำแบบสอบถามๆ ผู้ใช้บริการ ส่วนมากก็ต้องตอบว่าอยากให้อยู่ต่อเพราะตนเองใช้บริการประจำ แต่ถ้าหากทราบว่าที่ผ่านมาขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท หากไม่ต้องการให้ขาดทุนสำหรับผู้ใช้สอยวันละ 20,000 คน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 27.4 บาท จากที่เก็บค่าโดยสารปัจจุบัน 5 บาท กลายเป็น 32.4 บาท หรือเผื่อค่าดำเนินการต่าง ๆ ก็ควรเก็บ 40 บาทตลอดสาย และเพื่อหาเงินชดเชยที่ขาดทุนไปแล้วนับพันล้าน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 60 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการขึ้นราคาที่ประชาชนผู้ใช้บริการคงรับไม่ได้เพราะปัจจุบันราคาเพียง 5 บาท และค่ารถประจำทางในปัจจุบันก็มีค่าโดยสารที่ถูกกว่านี้ การที่ทางราชการจะขึ้นอีก 5 บาท เป็น 10 บาท ก็คงไม่ได้ช่วยให้เลิกขาดทุนแต่อย่างไร

อันที่จริงควรเลิก BRT  แต่อาจเกรงใจพรรคการเมืองที่สร้าง BRT นี้ขึ้น จะกลายเป็นการฟ้องว่าโครงการนี้ล้มเหลว ส่งผลกระทบทางการเมืองหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการสร้างรถไฟฟ้าวิ่งแทนเพราะคลองตรงกลางถนนสามารถสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าได้โดยไม่กระทบต่อการจราจรในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ต้องมีการแก้ผังเมืองให้สามารถก่อสร้างพื้นที่อาคารในอัตราส่วนได้ถึง 15-20 เท่าของพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio) เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้า  ส่วนในช่วงเฉพาะหน้า เส้นทาง BRT นี้ให้ใช้เป็นช่องจราจรพิเศษ เฉพาะช่วงเวลา 06.30-09.00 น. และช่วง 1630 – 19:00 น. เพื่อให้รถประจำทางวิ่งโดยเฉพาะ เพื่อการบริการแก่ประชาชน แต่นอกเหนือจากเวลานี้ ให้คืนพื้นที่จราจรให้กับรถอื่นๆ

ในอินโดนีเซีย BRT เขาเรียกขานว่า Busway แต่ทั้งระบบ เรียกว่า ทรานส์จาการ์ตา (อังกฤษ: TransJakarta) เป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษในจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินงานวันที่ 25 มกราคม 2547 ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวจาการ์ตา โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน รถโดยสารจะวิ่งในช่องทางที่กำหนดเท่านั้น ในปี 2547 มีสถิติผู้โดยสาร 350,000 คน และรถโดยสาร 500 เที่ยวต่อวัน (https://lnkd.in/fJqSFze)

จากประสบการณ์สำรวจ BRT ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่กรุงจาการ์ตา ดร.โสภณ ในฐานะที่เคยไปทำงานให้กับธนาคารโลก และให้กับกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย พบว่าโครงการประเภทนี้ไม่อาจประสบความสำเร็จจริง แม้กรุงจาการ์ตาจะใช้บริการประเภทนี้มากที่สุดในโลก มากกว่าที่กรุงโบโกตาที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็ยังต้องหันมาสร้างรถไฟฟ้าแทน แต่ที่ยังดำเนินการอยู่ได้ในกรุงจาการ์ตาเพราะยังไม่มีทางเลือกอื่นและเป็นวิสาหกิจผูกขาด แต่ BRT ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเจริญโดยรอบได้เช่นกรณีรถไฟฟ้า ในขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียก็พยายามสร้างรถไฟฟ้าทั้งแบบลอยฟ้าและแบบใต้ดินเช่นไทยแล้ว เพื่อมาแทนที่ Busway นั่นเอง

ที่ผ่านมามีความพยายามในการสร้าง BRT ในเมืองภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา หรือแม้แต่ภูเก็ต  หากมีการก่อสร้างจริง ก็ถือว่าเป็นการนำหายนะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครไปแพร่ต่อ สร้างปัญหาในต่างจังหวัด การที่ช่องทางการจราจรไป-กลับหายไปถึง 2 ช่องทาง ต็ตกกเป็นเรื่องใหญ่และแม้จะมีการเปิดบริการกันมากมายเช่นในกรุงจาการ์ตา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรได้ และยังมีผู้ขับรถฝ่าฝืนเข้าไปในช่องทางจราจรของ BRT เสียอีก  การคิดตามๆ กันโดยไม่ศึกษาให้ดี จะเป็นการทำลายการพัฒนาเมืองมากกว่าจะช่วยให้เมืองมีระบบระเบียบมากขึ้น

        ถึงเวลารื้อทิ้งระบบ BRT บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์-ถนนพระรามที่ 3 ได้แล้ว สังคมจะได้พัฒนามากขึ้น เลิกอนุรักษ์แนวคิดพัฒนาเมืองแบบผิดๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *