27/04/2024

คอลัมน์ Booklizm by Krit

 

1.เรื่อง : จนตรอก

ผู้เขียน​ : ชาติ กอบจิตติ

สำนักพิมพ์ : คนวรรณกรรม

 

ชีวิตของชายชรานั้นเหมือนกับผ้าสีสวยผืนหนึ่ง ที่มีคนนำไปตัดเสื้อ และเมื่อมันเปื่อยขาดเพราะใช้งาน เสื้อตัวนั้นก็เริ่มลดค่าลง กลายเป็นผ้าขี้ริ้วขาดวิ่น นานไปยิ่งสกปรก นานไปยิ่งหาค่าไม่ได้ ชีวิต​แกเป็นเช่นผ้าขี้ริ้วสกปรกผืนที่กล่าวนี้

… ชีวิตที่เงียบเหงา อ่อนโรย ไร้ค่า…

“จนตรอก” นวนิยายเรื่องแรกของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ เขาได้นำชีวิตในแง่มุมหนึ่งออกมาแสดงให้เห็นประจักษ์​เป็นแง่มุมของชีวิตที่วรรณกรรมมักจะละเลยเสียเป็นส่วนมาก เพราะเป็น… ชีวิตที่เงียบเหงา อ่อนโรยไร้ค่า… เผชิญกับชะตากรรมที่บางอย่างเขาต่อสู้ไม่ไหว เอาชนะไม่ได้ ถ้ามองลึกลงไปมันเป็นความสะเทือนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลจำนวนหนึ่งที่อยู่ชายขอบสังคม เผชิญชะตากรรมไปอย่างเงียบ ๆ ดิ้นรนอยู่ในตาข่ายที่ครอบคลุมชีวิตของพวกเขาอย่างไม่มีทางจะหลุดรอดออกไปได้ และนั่นคือความเป็นจริงที่น่าจะได้รับรู้กันไว้ แม้มันจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวของคนที่อยู่ในฐานะอื่นอีกมากก็ตาม… เปรียบเช่นสังกะสีผุ ๆ ถูกรื้อร่อนโยนลงมาบนพื้น.. มองดูเหมือนพวกเขาเหล่านั้นพร้อมรื้อเก็บฉากละครที่พร้อมจะเลิกเล่นแล้ว…!!!

 

2.เรื่อง : งู

นักเขียน : วิมล ไทรนิ่มนวล

สำนักพิมพ์ : ทานตะวัน

 

“งู” ผลงานนักเขียนรางวัลซีไรต์ แม้ว่าจากชื่อจะเป็นในท่วงทำนองนิยายเชิงสัญญลักษณ์​เป็นรูปแบบและการดำเนินเรื่องกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่ามันคือผลงานในแบบพื้นบ้านพื้นเมืองของยุคสมัยนี้ที่สมบูรณ์ที่สุด

นอกจากเหตุการณ์​ในเรื่อง ตัวละครในเรื่องและฉากทุกฉากในเรื่องจะเป็นท้องถิ่นที่เรียกกันว่า ท้องทุ่งท้องนา ชาวชนบทของไทยภาคกลางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและมีอยู่ใน “งู” อย่างชนิดที่ไม่ค่อยได้พบในนิยายเรื่องอื่น ๆ คือแก่นแท้ของความเป็นชนบทที่แฝงอยู่ในเลือดเนื้อและลมหายใจของตัวละครทุกตัว

“งู” นอกเหนือจากความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดคือความเชื่อถือของท้องถิ่นและผู้คนซึ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามว่าถูกหรือผิด…

ไม่ว่าจะเป็นความเชื่ออันเกี่ยวกับศาสนา ประเพณี หรือวัฒนธรรม​ความเป็นอยู่ของผู้คนในดินแดนนั้น ล้วนแต่น่าตั้งคำถามด้วยกันทั้งสิ้น…!!!

 

3.เรื่อง : ศาสดาขบถ กัญชา อิตถีเพศ และเทศนาด้วยบทเพลง

นักเขียน : สตีเฟน เดวิส

แปล : อัคนี มูลเมฆ

สำนักพิมพ์​ : เคล็ด​ไทย

 

เพลงเร็กเกเป็นเหมือนแถลงการณ์​ของคนยาก ผู้อุทธรณ์​เรียกหาอิสรภาพ​และความยุติธรรม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ระดับชาติและเผ่าพันธุ์​ผิวดำทั้งมวล เพื่อการนี้พวกเขาต่อสู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เริ่มตั้งแต่การสร้างอัตลักษณ์​ อุดมการณ์​ สร้างชาติใหม่ สร้างวัฒนธรรม​ใหม่ และแม้กระทั่งผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่ที่กลับมาจุติในนาม”บ๊อบ มาร์เลย์” คิงส์ ออฟ เรกเก…!!!

“บ๊อบ มาร์เลย์” เป็นยิ่งกว่านักปฏิวัติ​ความสำเร็จของเขาเป็นกำลังใจให้ศิลปินคนยากทั่วโลก บทเพลงของเขาทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนดำผู้ถูกกดขี่ โหมกระพือข่าวคราวของเทพเจ้าองค์ใหม่ สร้างอัตลักษณ์​คนดำโดยใช้วัฒนธรรม​ดนตรีเป็นอาวุธอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นตำนาน

จากถิ่นสลัมยากจน ‘บ๊อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส’​ ออกอัลบั้ม​10 ชุด จากอัลบั้ม​ชุดแรก Catch a Fire เรื่อยไปถึง Confrontation มียอดขายรวมกันถึงสามร้อยยี่สิบล้านแผ่น(320,000,000 แผ่น)​ มีเพลงในชุดExodusเป็นอัลบั้ม​ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

“นับเนื่องจนถึงวันนี้ เสียงเพลงของ บ๊อบ มาร์เลย์ ยังดำรงอยู่ เป็นบทเพลงที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงที่สื่อสารถึงผู้คนหลายประเภท สำหรับศาสนิกชน เนื้อหาที่สะท้อนอยู่ในเพลงของเขาแจ่มชัดอยู่แล้ว สำหรับชาวมาร์กซิสม์​พวกเขาได้ยินเสียงปลุกเร้าให้ขบถและลุกขึ้นจับอาวุธ สำหรับคนดำ มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เพลงสื่อสารออกมา แต่สำหรับแฟนเพลงผิวขาว พวกเขาได้ยินเสียงเพลงแห่งความรักสากลและภราดรภาพ” สตีเฟน เดวิส

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *