02/05/2024

ซัมมิตผู้นำจีน-อเมริกา เมื่อยังส่งยิ้มโบกมือให้กัน โลกยังไม่ถึงขั้นบรรลัย

 

 

แม้จะจบไปแล้วและมีการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางถึงการประชุมข้ามโลกด้วยระบบวิดีโอภาพคบกริบเสียงกระซิบคมชัด  ระหว่างสองผู้นำของสองซีกโลก คือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน จากกรุงปักกิ่ง กับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จากกรุงวอชิงตัน  เมื่อเช้าวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏว่าได้มีข้อสรุปหรือข้อตกลงใดระหว่างสองมหาอำนาจโลก  แต่สาระสำคัญจากการพูดคุยของสองผู้นำ กับแนวโน้มความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐอเมริกาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวล้วนเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด  เพราะไม่ว่าจีนกับสหรัฐฯจะหันมาจูบปากหรือพ่นน้ำลายใส่กันต่อไปก็ย่อมมีผลกระทบต่อนานาประเทศรวมทั้งไทยแลนด์แดนกะลาที่คบหากับทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด

 

          เพื่อนเก่า “เหล่าเผิงโหย่ว”

ย้อนไปปลายปี 2563 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง  น่าจะเป็นผู้นำโลกคนสุดท้ายที่ส่งข้อความแสดงความยินดีถึงว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา  หลังจากมีความแน่ชัดว่าไบเดนสามารถโค่นคู่แข่งขันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ลงได้สำเร็จและจะก้าวขึ้นรับตำแหน่งในต้นปี 2564

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง  

 

ข้อความที่สีส่งถึงไบเดนตอนนั้นคือ “การส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีและมั่นคงระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน กับสหรัฐอเมริกา  ไม่เพียงแค่ตอบสนองผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนในสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นความคาดหวังร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในด้านสันติภาพและพัฒนาการของโลกด้วย”

เป็นที่รู้กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาช่วง 4 ปีในยุคทรัมป์ คือความตกต่ำที่ส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนไม่ใช่แค่ จีน-อเมริกา  แต่ยังเป็นคลื่นสึนามิที่กระทบไปทั่วทั้งโลก  ยิ่งในช่วงไวรัส COVID-19 เริ่มระบาดในปี 2563 แล้วทรัมป์ใช้เป็นข้อกล่าวหาโจมตีจีนว่าเป็น “ต้นตอ” แพร่เชื้อจากแล็ปอู่ฮั่น  เรียกโควิด-19ว่า “ไวรัสจีน” กลายเป็นการสร้างกระแสเกลียดชังจีนก็ยิ่งเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจลงต่ำสุด

          ภาพที่สี จิ้นผิง โบกมือทักทายทักพร้อมรอยยิ้มและเอ่ยทักโจ ไบเดน ในภาษาจีนว่า “เหล่าเผิงโหย่ว”ซึ่งแปลว่า “เพื่อนเก่า”นั้น  นับว่าเป็นการให้เกียรติกับอีกฝ่ายในฐานะผู้ที่เคยรู้จัก คุ้นเคย สนิทสนม ในระดับหนึ่ง  เพราะข้อเท็จจริงนั้นทั้งสองคนต่างก็เคยพบกันมาก่อนในขณะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี   เคยมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ  จนได้มาคุยกันอีกครั้งในฐานะผู้นำประเทศของสองมหาอำนาจที่กุมชะตากรรมและทิศทางของโลก

          หย่าศึกขัดแย้งหรือแค่ปาหี่

สื่อบางสำนักสรุปการพูดคุยของสองผู้นำโลกครั้งนี้ว่าเป็นการ “หย่าศึกความขัดแย้ง” ของสองมหาอำนาจนับตั้งแต่ถูกจุดชนวนให้รุนแรงโดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นับตั้งแต่เรื่องขาดดุลการค้า  จนลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี  สงครามการเงิน และบานปลายในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทรัมป์โยนบาปให้จีนจนกลายเป็นการสร้างกระแสเกลียดชังคนจีนและคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

คำพูดที่ฟังดูดีของไบเดนที่กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างกันต้องดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และไม่กลายเป็นความขัดแย้งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  แต่เอาเข้าจริงๆไบเดนก็ยังชูผลประโยชน์ของอเมริกาโดยเรียกร้องให้จีนทำตามข้อตกลงในการเจรจาการค้าสมัยทรัมป์ ที่จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากอเมริกามูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์

ในการพูดคุยครั้งนี้ไบเดนยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคุ้มครองแรงงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของอเมริกาจากการอุดอนุนการค้าของจีน  ขณะที่สี จิ้นผิง ตอบกลับว่าอเมริกาก็ต้องหยุดใช้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติในทางที่ผิด เพื่อกดขี่บริษัทจีน

หนุน “จีนเดียว”แต่เกี่ยวไต้หวัน

ประเด็นสำคัญของการเจรจาครั้งนี้คือเรื่อง “ไต้หวัน” ซึ่งจีนถือว่าเป็นหนึ่งในดินแดนของแผ่นดิน ใหญ่ที่มิอาจแบ่งแยกและมิอาจปล่อยให้ใครแทรกแซง   เรื่องนี้ไบเดนทำให้บรรยากาศเบาลงนิดว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว” แต่ก็รักษาฟอร์มของตัวเองว่ายังคงสนับสนุนให้ไต้หวันปกป้องตัวเองได้ และคัดค้านอย่างเต็มที่ ในการใช้ความพยายามเพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม หรือบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในประเด็นนี้ว่า มีคนบางกลุ่มในอเมริกาต้องการใช้ไต้หวันเพื่อสกัดกั้นจีน ซึ่งอันตรายมากพอๆ กับการเล่นกับไฟ  “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟจะต้องถูกเผาไหม้”   และสำทับว่า จีนอดทนและต้องการรวมชาติอย่างสันติ แต่ถ้ากลุ่มสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนไต้หวันยั่วยุหรือล้ำเส้น ปักกิ่งจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด

มีข้อน่าสังเกตุว่าหลังประชุมร่วมกับผู้นำจีน ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอเมริกาในภาษานักการเมืองว่า  รัฐบาลสหรัฐไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อไต้หวัน  “เราไม่ได้สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช  เราสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย Taiwan Relations Act  เรื่องเอกราชให้พวกเขาตัดสินใจกันเอง”

ดราม่าเก่า “สิทธิมนุษยชน”

ส่วนประเด็นเก่าที่ผู้นำสหรัฐฯหยิบขึ้นมาคุยเป็นหัวข้อกวนใจผู้นำจีนคือปัญหาสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง  การจัดการธิเบต  และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง  เหมือนกับเป็นสคริปท์ภาคบังคับที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกำหนดให้ประธานาธิบดีทุกคนต้องพูดเรื่องนี้เพื่อดิสเครดิตประเทศคู่แข่ง

ไม่ต่างจากที่ไบเดนยกหูโทรศัพท์จากทำเนียบขาวคุยกับสี จิ้นผิง ที่ปักกิ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ช่วงเทศกาลตรุษจีน  นอกจากกล่าวสวัสดีปีใหม่จีนแล้วยังยกประเด็นสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยระบุรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งกรณีการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

ไบเดนรู้ทั้งรู้ว่าจะพูดอีกร้อยครั้งผู้นำจีนก็จะตอบว่าเป็นเรื่องภายในประเทศของจีนเอง  อเมริกากำลังจะล้ำเส้นเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของจีน  ทั้งๆที่สหรัฐอเมริกามีปัญหาในบ้านของตัวเองให้จัดการแก้ไขอีกมากมาย

เอาอะไรแน่ในอนาคต

         หากสรุปภาพโดยรวมแล้วการเจรจาข้ามโลกของสองผู้นำอภิมหาอำนาจครั้งนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน  เพราะเกือบทุกเรื่องไม่มีบทสรุป  ไม่มีการนัดหมายจะดำเนินการต่อ  ไม่มีการลงนามข้อตกลงใดๆแม้จะเสียเวลาคุยกันถึง 3 ชั่วโมง  นอกจากจะเป็นการตอกย้ำปัญหาเดิมที่คาราคาซังมาอยู่ก่อนแล้วและส่วนใหญ่จะว่าไปแล้วก็อย่างที่ผู้นำจีนว่าคือ  เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศของจีนเอง  ที่สหรัฐอเมริกาพยายามเข้าไปแสดงบทบาทข้องเกี่ยวในฐานะผู้ทรงอิทธิพลของโลก

สิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้  สหรัฐอเมริกาได้ทำการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่แสดงความพยายามรักษาบทบาทความเป็นผู้นำของโลกไว้อีกครั้งด้วยการแสดงความเหนือกว่าในการถามถึงเรื่องราวที่เป็นปัญหาเปราะบางของจีน  แม้จะยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” แต่ก็สามารถประกาศสนับสนุนไต้หวันด้านความมั่นคงซึ่งเป็นการท้าทายจีน   รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนที่สหรัฐฯจ้องเอามาใช้โจมตีได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

ในทางกลับกันงานนี้ฝ่ายจีนก็ได้โอกาสเต็มๆในการยกระดับขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐอเมริกา  เพราะถ้าไม่ใหญ่พอ  ไม่แข็งแกร่งพอ  คงไม่มีโอกาสที่มานั่งเจรจาข้ามโลกอย่างเท่าเทียมกันเช่นนี้  และเป็นโอกาสที่ผู้นำจีนได้กล่าวแสดงจุดยืนของจีนต่อสหรัฐอเมริกา  สามารถบอกกล่าวต่อชาวโลกว่าวันนี้จีนแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับแรงกดดันภายนอก

สำหรับชาวโลกได้เห็นการเจรจาความเมือง  ได้รับรู้ท่าทีของสองมหาอำนาจที่ยังต้องแข่งขันกันอีกยาวไกล  แต่ก็ช่วยลดบรรยากาศ “โลกร้อน”จากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ  ลดความอึมครึมที่เกรงว่าจะมีการจุดชนสนสงคราม  ช่วยบรรเทาความตึงเครียดลงได้ระดับหนึ่ง  ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้เกิดประโยชน์  เกิดความหวังว่าสองประเทศจะช่วยฟื้นฟูโลกหลังโควิด-19 ให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

……………………………………………………………………………

หมายเหตุ : คอลัมน์ปลายซอย 17 โดย ขุนพล กอเตย ลงในอีบุ๊ก บางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 304 วันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2564

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *