08/05/2024

ล็อก10จังหวัดแดงเข้มเคอร์ฟิว 3 ทุ่ม-ตี 4

ศบค.เลี่ยงไม่พ้นต้องใช้ไม้แข็งคุมโควิดสั่งล็อค 10 จังหวัดสีแดงเข้ม 14 วันเริ่ม 12 ก.ค. มีเคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4 เขตกรุงเทพฯปริมณฑลให้เวิร์ค ฟอร์ม โฮม มากที่สุด ร้านอาหารขายได้ถึง 2 ทุ่ม นายกฯนำครม.สละเงินเดือน 3 เดือนช่วยแก้ไขสถานการณ์


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังรรค์ รองโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงถึงมติของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า มีข้อสรุปออกมาตรการปฏิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนี้
-ห้ามการเดินทางที่ไม่จําเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจําเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
– กําหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สําคัญ และการบริการประชาชน
– ระบบขนส่งสาธารณะ เปิดบริการเวลา 21.00 น. – 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
– ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ถึงเวลา 20.00 น.
– ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
– ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
– สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสําหรับการออกกําลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
– ห้ามการรวมกลุ่มทํากิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมตัวตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ที่ประชุม ศบค.ยังมีมติให้ขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2564 นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการศบค. ยังได้ประกาศในที่ประชุมว่าจะไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในเวลาต่อมามีผลให้บรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลได้แสดงสปิริตสละเงินเดือน 3 เดือนสมทบทุนช่วยเหลือประชาชนเช่นเดียวกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *