27/04/2024

ครม.ไฟเขียว มาตรการอุ้มสายการบิน

ครม.ไฟเขียว มาตรการอุ้มสายการบิน หวังลดค่าบริการท่าอากาศยาน-เดินอากาศ ของสนามบิน พร้อมลดค่าธรรมเนียมเข้า-ออกประเทศกลุ่มเสี่ยง 10 บาทต่อราย ขณะเดียวกันเคาะเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ชดเชยรายได้ที่หายไปจากไวรัสโควิด -19 วงเงิน159 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย

  1. สำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน 4 ด้าน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563
    1.1. ปรับลดค่าบริการท่าอากาศยานที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ค่าบริการการขึ้น – ลงอากาศยาน (Landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลดลงอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรืออกประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงปรับลดค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานอย่างอื่น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสายการบินสัญชาติไทยตามความเหมาะสม อาทิ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น
    1.2 ปรับลดค่าบริการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการเดินอากาศ ในอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และลดลงในอัตรา 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
    1.3 ปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากสายการบินตามจำนวนผู้โดยสาร จากอัตราคนละ 15 บาท ลดลงเป็นคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกกประเทศกลุ่มเสี่ยง
    1.4 ขอขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น จากเดิมมีผลถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2563 2.มาตรการการอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของสายการบิน ดังนี้
    2.1 ด้านการจัดสรรเวลาการบิน ผ่อนผันการตัดสิทธิในฤดูกาลถัดไปให้สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะไม่ถูกนำมาใช้คำนวณเงื่อนไขการทำการบินของเวลาการบินต่อเนื่องที่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน รวมถึงประสานงานหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินในต่างประเทศที่สายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบิน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขอคงสิทธิในเวลาการบินที่ได้รับจัดสรรเดิม
    2.2 ด้านการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ ทบทวนหลักเกณฑ์การขอจัดสรรเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางภายในประเทศและปรับปรุงกระบวนการพิจารณาจัดสรรเส้นทางให้รวดเร็วขึ้น และเจรจาสิทธิการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ ที่สายการบินของไทยมีศักยภาพในอนาคต อาทิ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ เป็นต้น
  2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ ได้แก่ ออกประกาศรองรับสิทธิของสายการบินในการปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และประชาสัมพันธ์มาตรการด้านการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ อาทิ กระบวนการคัดกรองผู้ป่วย วิธีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องโดยสาร เป็นต้น
  3. มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
  4. มาตรการทางการเงิน ได้แก่ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit terms) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน โรงแรม ภาคบริการต่าง ๆ เป็นต้น
  5. มาตรการอื่น ๆ ได้แก่ ลดค่าเช่าพื้นที่ลง 50% จากราคาค่าเช่าที่เพิ่งปรับขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสารตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่อัตราการจัดเก็บค่าเช่าหลังหักส่วนลดต้องไม่ต่ำกว่าอัตรา ที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมี.ค. – ส.ค. 2563

นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากไวรัสโควิด -19 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงประกอบด้วยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งขอขอรับเงินอุดหนุน 500 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติ 159 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานมีสภาพคล่องเหลือ 1,625.7 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงาน แต่หาก ทย. ได้รับผลกระทบหนักขึ้นและมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ก็ให้เสนอขอรับ PSO เข้ามาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้เสนอขอรับ PSO จากการนำรถโดยสาร (รถทัวร์) ไปให้บริการรับส่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจำนวน 54 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เห็นชอบ PSO ให้จำนวน 53.1 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าบริการระหว่างวันที่ 7 มี.ค.- 4 มิ.ย. 2563

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *