28/03/2024

อเมริกายังไล่ล่าจีน

               โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สังกัดพรรคเดโมแครต มาพร้อมกับสโลแกน America Must Lead Again มีเป้าหมายจะฟื้นคืนประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทั้งหลาย จะปกป้องเศรษฐกิจอเมริกาและนำอเมริกากลับสู่ความเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง

               นโยบายของไบเดนก็ไม่ต่างอะไรกับ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนที่สังกัดพรรครีพับริกัน ที่ใช้สโลแกน “America First” จุดชนวน “สงครามการค้า”กับจีนตั้งแต่ปี 2561 ด้วยประเด็นการขาดดุลการค้าปีละกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯโดยกล่าวหาว่าชาติเอเชีย “ขี้โกง” แล้วชี้นิ้วพุ่งเป้าไปที่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งได้เปรียบการค้าอเมริกามากที่สุด

               แม้จะต่างคนต่างพรรค แต่ทั้งไบเดนและทรัมป์คืออเมริกันที่มีเป้าหมายเดียวกันในการทวงคืนความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำของโลกที่เสียไป

 


               เสียไปให้ใคร?
               ใช่แล้ว “สาธารณรัฐประชาชนจีน” คือเป้าที่ต้องพุ่งชน คือคู่แข่งขันในเวทีโลกของอเมริกาที่ในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เติบโตอย่างรวดเร็วแทบทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคม เทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้นำจีนอย่างสี จิ้น ผิง ที่กลายเป็น “พญามังกร” บินเหนือเมฆจนบดบังพญาอินทรีให้กลายเป็นแค่ “อีแร้งไร้ราคา”
               30 ปีที่ผ่าน จีนอาศัยกระแสโลกาภิวัตน์สร้างความแข็งแกร่งและความร่ำรวยแก่ชาวจีนหลายร้อยล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและก้าวพ้นจากความยากจน ในขณะที่สหรัฐฯหยุดนิ่ง เสื่อมถอยและยากจนลง

               แล้วสรุปว่านั่นคือ…ความผิดของจีน!
               ไบเดนบอกว่าจะใช้นโยบายการค้าที่ Free and Fair จะไม่เอาชนะจีนด้วยความก้าวร้าว บีบบังคับ ฝืนกฎระเบียบสากลแบบทรัมป์ซึ่งโลกไม่ยอมรับ แต่จะใช้ภาพที่สุขุม นุ่มลึก และวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรม แค่นั้นยังไม่พอไบเดนจะใช้การรวมพลังกับชาติพันธมิตรสู้กับจีน

               หรือพูดแบบภาษาชาวบ้านว่างานนี้จะ “รุมกินโต๊ะจีน”
               จุดยืนของพรรคเดโมแครตที่ชัดเจนคือการให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชนซึ่งประเด็นหลังนี่โยงถึงจีนอย่างชัดเจน เช่นกรณีชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ หรือการใช้เอไอตรวจสอบพฤติกรรมประชาชน
               กระบวนการรุมกินโต๊ะจีนที่เป็นรูปเป็นร่างได้เกิดขึ้นแล้วในการประชุม Group of Seven หรือ G7 เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ประเทศอังกฤษ


               กลุ่ม G7 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี แคนาดา และญี่ปุ่น เคยเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่นอกจากจะครอบครองความมั่งคั่งไว้ในมือแล้ว ยังร่วมกันกำหนดชะตากรรมโลกโดยอ้างเหตุผลต่างๆ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประเทศยากจน ส่งเสริมการค้าเสรี คุ้มครองสภาพแวดล้อมโลก ฯลฯ
               แต่โดยเนื้อแท้ของกลุ่ม G7 คือต้องการจัดระเบียบโลกด้วยกฎกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของกลุ่มเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสูบทรัพยากรและตักตวงผลประโยชน์จากดินแดนต่างๆทั่วโลกที่ไม่มีพลังต่อรอง หรือถูกบีบบังคับด้วยกฏกติกาที่มหาอำนาจทั้ง 7 ร่วมกันกำหนดฝ่ายเดียว
               วงสนทนาของกลุ่ม G7 ในปีนี้แม้จะมีประเด็นเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดเกาะกินปอดชาวโลกจนล้มตายไปร่วม 4 ล้านคนแล้ว แต่มติที่ออกมาก็แค่ซื้อใจประเทศยากจนด้วยคำประกาศจะบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,000 ล้านโดส ภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยพี่ใหญ่สหรัฐฯจะให้ 500 ล้านโดส อังกฤษ 100 ล้านโดส แคนาดา 100 ล้านโดส

               วาระที่แท้จริงที่ 7 ชาติอุตสาหกรรมคุยกันคือ “การลดบทบาทจีนในเวทีโลก”
               เรื่องที่เกินหน้าเกินตาจนอเมริกานิ่งเฉยไม่ได้คือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนเสนออภิมหาโครงการต่อนานาชาติในการร่วมกันพัฒนาระบบการขนส่งคมนาคมเชื่อมทวีป เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและคนอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

               ช่วง 8 ปีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดโครงการ BRI ต่อชาวโลก วันนี้มีมากกว่า 100 ประเทศที่รวมลงนามข้อตกลงกับจีนในโครงการต่างๆมากว่า 2,600 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
               มติที่ประชุมG7 ที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชงขึ้นมาคือแผนการ “สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่” (Build Back Better World หรือ B3W) โดยต้องการให้นานาชาติมีทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่าโครงการ BRI ของจีน

               B3W ของG7 มีเป้าหมายจะแข่งกับจีนเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่องวิกฤติสภาวะอากาศ ความมั่นคงทางสุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และความเท่าเทียมทางเพศและความเสมอภาค โดยตั้งวงเงินไว้ประมาณ 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,245 ล้านล้านบาทถึงปี 2035 ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกากับอังกฤษจะเป็นเจ้ามือหลัก
               การตั้งกองทุน B3W เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริจาควัคซีนสู้โควิด-19 ล้วนเป็นเรื่องดีแม้จะมีเจตนาอันแท้จริงในการลดบทบาทจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกนักวิชาการทั่วโลกวิจารณ์ว่าเป็นอะไรที่ช้าเกินการณ์เพราะ BRI ของจีนเดินหน้ามา 8 ปีแล้วจนบางโครงการ เช่นรถไฟจีน-ลาว จะเปิดวิ่งในปลายปีนี้

               วันนี้สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ศูนย์กลางโลกเหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 7 ทศวรรษแล้ว เพราะอเมริกาเองก็มีปัญหาของตัวเองมากมาย เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก แต่เจอโควิด-19 ตายไปกว่า 6 แสนคน เศรษฐกิจดิ่งเหว คนตกงานหลายสิบล้านคน ภาพชาวอเมริกันนับร้อยนับพันคนยึดฟุตบาทเป็นที่พักพิงเพราะเป็นคนไร้บ้าน

               ส่วนสมาชิก G7 แต่ละประเทศก็(ไม่)ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 หรือร่ำรวยอู้ฟู่อย่างสมัยก่อน ซ้ำบางประเทศยังต้องพึ่งพาอาศัยจีนในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

               สรุปแล้ว G7 วันนี้ก็แค่ “เครื่องมือ ” ของโจ ไบเดน ในการรักษาหน้าตาความเป็นผู้นำโลก เป็นการเพรียกหาอดีตอันยิ่งใหญ่ แต่คงทำได้แค่ชะลอความเสื่อมถอยตามกาลเวลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *