“อินเดีย” ในสมัยที่ 3 ของ “โมดี”
“อินเดีย” เป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก มีพรรคการเมืองที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้เกือบ 3,000 พรรค การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดที่กินเวลายาวนาน 6 สัปดาห์ ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2024 มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประมาณ 642 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 968 ล้านคน คิดเป็น 66.3% การนับคะแนนรู้ผลกันแล้วเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า พรรคภารติยะชนตะ (BJP) ภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดี ได้รับชัยชนะให้บริหารประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3
BJP ชนะตามคาดหมาย โมดี จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีก 5 ปี ไม่พลิกโผ แต่พอผลออกมาทำไมตลาดหุ้นอินเดียดิ่งหนัก ค่าเงินรูปีร่วง
คำอธิบายจากคนอินเดียคือ เพราะ BJP ไม่สามารถทำแลนด์สไลด์ได้อย่างที่คุยโม้เอาไว้ และเพราะผลนับคะแนนไม่เหมือนผลเอ็กซิตโพล ที่บอกว่า BJP จะกวาดเก้าอี้ 350-400 ที่นั่ง เป็นพรรคเดียวเสียงข้างมากในสภา
ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการบอกว่า พรรคBJP ได้รับเลือกตั้งเพียง 240 ที่นั่งจาก 543 ที่นั่งใน “โลกสภา” หรือสภาผู้แทนราษฎร ลดลง 63 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ซึ่งBJP เคยทำสถิติไว้ได้ 303 ที่นั่ง และการที่ BJP มีเสียงในโลกสภาไม่ถึง 272 ที่นั่ง จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยดึงพรรคการเมืองพันธมิตรอีก 3-4พรรคเข้ามาร่วม
ปี 2014 -2024 ช่วง 10 ปีที่โมดีกับพรรคBJP นำพาอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งจนติดท็อป 5 มหาอำนาจ และสร้างฝันแก่ชาวภารตะว่าในอนาคตอันใกล้จะแซงหน้าจีน ชาติเพื่อนบ้านที่เป็นคู่รักคู่แค้นไปยืนประกบสหรัฐอเมริกาแทนที่จีน
ผลงานที่โดดเด่นของโมดีคือปั้น GDP อินเดียโตระดับ 7% เป็นแชมป์โลก ทุ่มเทงบประมาณลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งไฟฟ้า ประปา อินเตอร์เน็ต ถนน ทางด่วน เครือข่ายรถไฟ ช่วงปี 2014 -2023 GDP ขยายตัว 55% จนอินเดียเนื้อหอมได้รับความไว้วางใจเป็นเจ้าภาพจัดประชุม G20 ด้านเทคโนโลยีก็สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นชาติที่ 4 ของโลก
แต่เกิดอะไรขึ้น? คนอินเดียคิดอะไรจึงไม่เทคะแนนให้พรรค BJP อย่างที่คาดหวังกันไว้
ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียวิเคราะห์ว่าเพราะโมดีและพรรค BJP มั่นใจตัวเองมากเกินไป การที่ประกาศว่าจะได้ที่นั่งในสภามากถึง 400 ที่นั่ง คนอินเดียที่เป็นนักประชาธิปไตยอาจไม่ต้องการเผด็จการในสภา และคนอินเดียที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจไม่ต้องการผู้นำหน้าเก่าวัยชราที่ครองเก้าอี้มา 10 ปีแล้ว
ประการต่อมา แม้ประเทศอินเดียจะเปลี่ยนโฉมหน้าเจริญขึ้นอย่างมาก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับอานิสงฆ์จากการพัฒนาประเทศ รายได้ไม่เพิ่ม ชีวิตไม่ดีขึ้น อัตราการว่างงานยังสูง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบแล้วตกงาน หรือได้งานในอัตราผลตอบแทนต่ำ
เหตุผลสำคัญอีกข้อคือคือพรรค BJP ใช้แนวทางอนุรักษ์นิยม ใช้นโยบายชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง สร้างความแตกแยกในสังคม ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูอาจชอบ แต่คนต่างศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่พอใจกับการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน สร้างความแตกแยกระหว่างชาวฮินดูกับชาว
หนึ่งในผลงานของรัฐบาลโมดีและพรรคBJP ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ การสนับสนุนให้มีการก่อสร้างและเปิด “วิหารพระราม” เทวสถานฮินดูแห่งใหม่เมื่อต้นปี 2024 โดยวิหารพระรามตั้งอยู่ในเมือง อโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย เดิมทีจุดนี้เป็นมัสยิดที่สร้างขึ้นสมัยศตวรรษที่ 16 แต่ถูกกลุ่มชาวฮินดูรื้อทำลายไปในปี 1992 เกิดการจลาจลทั่วประเทศทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,000 คน
การสร้างวิหารพระรามจึงเหมือนสร้างทับที่มัสยิดเดิม ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามในอินเดีย และจากที่คาดหวังว่าจะได้คะแนนเสียงเพิ่มในรัฐอุตตรประเทศที่เคยมี สส.ในสภา 62 ที่นั่งจากการเลือกตั้งปี 2019 ผลการเลือกตั้งล่าสุดกลับลดเหลือเพียง 33 ที่นั่ง
เมื่อมองถึงโอกาสและความเสี่ยงของอินเดียในสมัยที่ 3 ของโมดี และพรรค BJP ความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตต่อไปได้ดี แนวโน้มจะยังสดใสในระดับ 6-7% แต่รัฐบาลโมดีก็รู้ดีว่าเป็นการเติบโตทรงปิรามิด รวยกระจุก จนกระจาย คนรวยร่ำรวยยิ่งขึ้น คนจนยังเป็นฐานทางสังคม จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นดีใจว่าแซงจีน แต่จีนนั้นขจัดความยากจนไปแล้ว ส่วนความยากจนในอินเดียยังฝังรากลึก
ที่ผ่านมาอินเดียมีปัญหาประชากร 15% ยังยากจนและอดอยาก สังคมอินเดียยังคงอยู่กับการแบ่งชนชั้นและวรรณะแม้จะมีกฎหมายห้าม แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยจึงปรากฎภาพสลัมขนาดใหญ่ และสลัมใหม่ๆยังเกิดเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนกลุ่มน้อยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเศรษฐี หรืออภิมหาเศรษฐี กินหรูอยู่สบายยิ่งกว่าราชา คนร่วมประเทศอีกหลายสิบล้านคนยังอดอยากไม่มีที่ซุกหัวนอน
ในประชากรอินเดีย 1,428 ล้านคนนั้น พบว่าเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอายุเฉลี่ย 28 ปี จำนวนมากเกือบ 300 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นพลังทางเศรษฐกิจเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า และหากพิจารณาคนในวัยทำงานอายุ 15-64 ปี พบว่ามีมากถึง 900 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 67% ของประชากรรวม
แม้ว่าอินเดียยังตามหลังจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจโลกอันดับ 2 แต่อินเดียในช่วง 5 ปีหลังก็โตวันโตคืนทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ผ่านวิกฤติโควิดมาได้เพราะเป็นแหล่งผลิตวัคซีนของโลก มีการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์มานาน มีอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีแบรนด์ของตนเองอย่าง TATA และ Mahindra
ช่วงที่จีนยังปิดประเทศเพราะต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อินเดียกล้าเปิดประตูให้เข้า-ออก นักท่องเที่ยวอินเดียจึงเริ่มออกท่องโลก เคยทำสถิติเป็นชาติผู้นำการท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่มาไทย จนรัฐบาลและภาคเอกชนไทยที่เคยมองข้ามอินเดียต้องทบทวนนโยบายกันใหม่ว่าไม่ควรหวังพึ่งแต่จีน
นายกฯโมดี เคยประกาศจะสร้าง “อินเดียใหม่” (New India) ภายในปี 2022 แต่เจอโควิดทำให้เป้าหมายคลาดเคลื่อน แต่ความฝันยังไม่จบในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จะพัฒนาเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เป้าหมายระยะยาวของอินเดียคือวาระครบ 100 ปีฉลองเอกราชของอินเดียในปี 2047 ที่เรียกว่า “อมฤตกาล” (Amrit Kaal) ที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท สามารถพึ่งพาตนเองแทนการนำเข้าสินค้า และเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนตลาดโลก (Make in India)
ถึงวันนั้นโมดีน่าจะยังอยู่ร่วมฉลองอมฤตกาล