05/05/2024

ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท แก้อย่างไรให้เห็นผล

 

การหลั่งไหลของทุนจีนที่เข้ามาลงหลักปักฐานในไทยเริ่มเห็นชัดเจนเมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้การตอบรับรถEV (Electric Vehicle)จากจีนที่มีเทคโนโลยีทันสมัย  รูปทรงถูกใจและราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับค่ายยุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่น   เฉกเช่นเดียวกับสินค้าจีนอีกนับพันนับหมื่นรายการที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคชาวไทยในคุณภาพที่รับได้กับสนนราคาที่ไม่อาจปฏิเสธ

ทุนจำนวนมหาศาลที่อวดอ้างตัวเลขว่าสูงนับพันนับหมื่นล้านบาทที่จะขนเข้ามาลงในไทยในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว  ย่อมเป็นที่ต้องการเพื่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิต  เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มจะหวนกลับมาหลายล้านคนพร้อมเม็ดเงินที่คาดหวังหลายแสนล้านบาท  คือเหตุผลที่ต้องเสนอเงื่อนไขเชื้อเชิญให้เข้ามาลงทุนให้เข้ามาเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตามกับสถานการณ์ที่สินค้าจีนกำลังทะลักทลายเข้ามาท่วมตลาดไทยเหมือน “เขื่อนแตก”  เมื่อเทียบกับสินค้าไทยที่ส่งไปจีนอย่างยากลำบากด้วยเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ  จนล่าสุดในปี 2566 ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าแก่จีนสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2567 แนวโน้มการขาดดุลก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท  โดยมีแต่เสียงของผู้ประกอบการไทยที่แสดงความกังวลกับผลกระทบที่จะรุนแรงขึ้น  ในขณะที่ฝ่ายราชการและรัฐบาลยังไม่แสดงความอนาทรร้อนใจหรือตื่นตัวว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขแต่อย่างใด

 

 

ในประเด็นดังกล่าว สมาคมสื่อมวลชนไทย – จีน ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท  แก้อย่างไรให้เห็นผล” เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณบดี คณะวิทยาการจัดการ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มรภ.พระนคร ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมศึกษาถึงประเด็นปัญหาดุลการค้าไทย-จีน  ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมาถึงจุดที่ผู้รับผิดชอบควรใส่ใจดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด  โดยต้องการร่วมแสวงหาข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลเพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

 

การเสวนาครั้งนี้ ผศ.ดร.จุฑาทิพย์  พหลภาคย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.พระนคร เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา  โดยมีวิทยากรที่ให้เกียรติเข้าร่วมประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล  ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล  นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์  ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน  และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ผศ.กัลยา นาคลังกา  ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์  และนายอนพัทย์ พัฒนวงศ์วรัณ  อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ  มรภ.พระนคร  ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน

 

 

นายณรงค์ศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2566 คู่ค้าสำคัญของไทย 5 อันแรกคือ จีน มูลค่าการค้า 104,965 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  สหรัฐอเมริกา มูลค่า 68,358 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ญี่ปุ่น มูลค่า 55,861 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย 25,118 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และไต้หวัน มูลค่า 21,401 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ารายเดียวคือสหรัฐฯ 29,371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   อีก4รายขาดดุล คือจีน 36,636 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท)  ญี่ปุ่น 6,522 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ไต้หวัน 11,808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ มาเลเซีย 1,369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม 59.35%    สินค้าเกษตรกรรม 32.96 %  สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สัดส่วน 5.96%  สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 1.74%   ส่วนโครงสร้างสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ส่วนใหญ่ 37.42% เป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป  34.20% เป็นสินค้าทุน  18.95% เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค  6.69% เป็นยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง  2.30%เป็น อาวุธยุทธปัจจัย  และ0.45% เป็นสินค้าเชื้อเพลิง

นายณรงค์ศักดิ์มีความเห็นว่า  การแก้ปัญหาการค้าไทย-จีนด้วยการดึงนักธุรกิจจีนมาร่วมธุรกิจการค้าในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสัดส่วน ไทย51: จีน49 จะดีที่สุด  มีข้อดีหลายด้าน เพราะได้เงินลงทุนจากฝ่ายจีน ได้ขยายตลาดจีน ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยจากจีน

 

 

          นายปารเมศกล่าวว่า สินค้าจีนราคาถูกแต่คุณภาพดีขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เป็นสินค้าก็อปปี้ลอกเลียนแบบ  เดี๋ยวนี้มีแบรนด์ของตนเอง  มีตั้งแต่เกรดธรรมดาจนถึงA+  ขณะนี้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากและมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ  เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีชาวบ้านก็เลือกใช้สินค้าราคาถูก

ในสภามองการขาดดุลการค้าว่าน่าเป็นห่วง  โดยไทยตำหนิจีนไม่ได้  ต้องหันกลับมาดูตัวเอง  ทำอย่างไรจึงจะให้SMEไทยมีการพัฒนาสินค้า สร้างนวัตกรรม ได้ค่าแรง  คำตอบคือต้อง Upskill (การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม)  Reskill (การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน)  ต้องสร้างหรือผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ  ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี  อย่างจีนบังคับต่างชาติที่เข้าไปลงทุนว่าต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างน้อย 50% ซึ่งไทยยังช้าในเรื่องนี้แม้จะมีบทเรียน  ไทยต้องมองอนาคตในระยะยาว

การร่วมลงทุนด้วยการจดทะเบียนบริษัทนั้นพบว่าเป็น “นอมินี”มากมาย   ไทยยังขาดหน่วยงานในการตรวจสอบ  ต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้  ต้องมีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส   กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแค่รับจดทะเบียนบริษัท    แต่พบว่ามี 2 คนไทยร่วมถือหุ้นในเกือบ 300 บริษัท  และที่ยังตรวจไม่พบอีกมากมาย

คนไทยอยากเปิดร้านในเถาเป่า(Taobao แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ของจีน)ยากมาก  แต่ต่างชาติเปิดในไทยง่ายมาก  เป็นผลกระทบรุนแรง  ต้องมีมาตรการปกป้องช่วยเหลือSMEไทย ที่เข้มแข็ง รัดกุม  เอาจริงเอาจังเรื่องการยืนยันตัวตนตอนจดทะเบียนพาณิชย์  สินค้าจากต่างประเทศไม่ต้องมีมอก.  รวมทั้งของกินจากจีนที่วางขายกลางเยาวราช  แต่สินค้าไทยกลับต้องขออนุญาตมากมาย  หลายหน่วยงานต้องทำงานแบบบูรณาการไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

 

 

ผศ.กัลยา  กล่าวว่าการค้าไทย-จีน เกิดการขาดดุลมากอาจจะเพราะรัฐบาลไม่วางนโยบายรองรับให้ดีเมื่อปล่อยให้เกิดการค้าเสรี  ตัวเกษตรกรไทย  หรือองค์กรท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมรับมือกับรูปแบบการค้าจากจีน  มองด้านเกษตรเช่นชาวสวนลำไยเคยมีความหวังมากต่อการส่งผลผลิตสู่ผู้บริโภคจีน  จึงมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มผลผลิต  แต่มีล้งจีนเข้ามากำหนดราคาแทนล้งไทยในท้องถิ่นที่ทุนน้อยกว่า  สู้ชาวจีนไม่ได้  สุดท้ายล้งจีนเป็นผู้กำหนดราคา

 

นายอนพัทย์ พัฒนวงศ์วรัณ

 

หรือสินค้าเกษตรไทยส่งออกมากแต่เป็นการขายผ่านคนจีน จะเห็นว่าผลไม้ไทยอย่างทุเรียนคนจีนไลฟ์สด ซื้อถูกขายแพงเอาไปเพิ่มมูลค่าได้  ขณะที่เกษตรกรไทยพัฒนาด้านนี้ไปอย่างช้ามาก    ดังนั้นเกษตรกรไทยหรือSMEไทยต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น  พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทยเพื่อคนไทยให้สามารถสู้กับต่างประเทศ

 

 

นายจิรบูลย์   การเจรจาปัญหาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ไม่ได้ค้าขายคุยกันในห้อง  ส่วนพ่อค้านั่งรอนอกห้องประชุม

การขาดดุลจีนนั้นไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน  ประเทศอื่นมีการตั้งรับและแก้ไขปัญหา  บางประเทศมีการสร้างเงื่อนไขโดยไม่ละเมิดกฎองค์การการค้าโลก WTO  เป็นการสร้างกำแพงโดยไม่ผิดกฎหมาย  อาทิกลุ่มมุสลิมเอาศาสนาเป็นข้ออ้าง  อินโดนีเซียมีมาตรการปกป้องเกษตรกร เช่น ฤดูที่ผลผลิตออกห้ามนำเข้าไปขาย  และรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ส่งเสริมการค้าออนไลน์

ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 40 ล้านคน  ปี 2567 ตั้งเป้า 35 ล้านคน น่าจะใกล้เคียงเป้าหมาย  เฉพาะจีนในช่วง 1 มกราคม -16 เมษายน 2567 เข้ามาแล้ว 2 ล้านคน ใกล้เคียงเป้าหมาย 8 ล้านคน  หวังว่าทัวร์ศูนย์เหรียญจะไม่กลับมาเพราะคนไทยไม่ได้ประโยชน์เลย  อย่างไรก็ตามรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่คาดหมายไว้หลายแสนล้านบาทก็ไม่อาจเอามาหักตัวเลขการขาดดุลการค้าเพราะเป็นคนละบัญชี

“ถึงเวลาที่ต้องเปิดศักราช Business Matching ร่วมทุนจากธุรกิจไทย 51 จีน 49 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย   ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 ของจีนเน้นเรื่องพลังงานสะอาด  จีนมีโอกาสย้ายฐานมาไทยสูงมาก  เราจะรับมืออย่างไร  ระวังสินค้าจีนจะมาเปลี่ยนกล่องว่าผลิตในไทยแล้วส่งขายต่างประเทศ” นายจิรบูลย์กล่าว

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *