30/04/2024

ระเบียบโลกใหม่และภูมิรัฐศาสตร์ ผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองไทย-จีน

 

เชิงรุก เชิงสร้างสรรค์ในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ คลี่คลายความขัดแย้ง  ซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องทำโดยลำพัง  แต่อาศัยเพื่อนในอาเซียนอีก 9 ประเทศให้ช่วยผลักดันสู่ความสำเร็จ

 

โลกวันนี้ถูกย่อให้เล็กลง  ถูกย่นระยะทางให้สั้นลง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยจนรู้สึกว่ามีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น  แต่ขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อน มีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น  ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารซึ่งมิใช่มาจาก “สื่อมวลชนอาชีพ”เพียงฝ่ายเดียว

แต่วันนี้ประชาชนทั่วไปที่มีมือถือคือ “พลเมืองข่าว” สามารถสื่อข่าว ส่งความ ออกสู่โลกอินเตอร์เน็ตได้ในชั่วเวลาไม่กี่วินาที  ซึ่งหลายเรื่องราวมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย

ประเทศไทย กับจีน มีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนานนับพันปี และมีความสัมพันธ์ทางการทูตยุคใหม่มาถึงวันนี้ 49 ปี  ที่ผ่านมาก็ได้อาศัย “สื่อมวลชนอาชีพ” ของทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่เสนอข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจอันดีของประชาชนสองประเทศ

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมี “สื่อพลเมือง”ทั้งไทยและจีน ทั้งประเภทที่ตั้งใจผลิตเนื้อหาสาระที่ดีออกเผยแพร่  และประเภทสมัครเล่นที่นำเสนอเรื่องราวความคิดเห็นตามกระแสสังคมแบบผิดๆถูกๆ  ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีทั้งที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสองฝ่าย  และที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อภาพพจน์ของประเทศ

เรื่องราวของไทย-จีนนั้นแม้จะแตกต่างกันที่ขนาดพื้นที่  จีนมี 23 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 2 เขตบริหารพิเศษ กับพลเมือง 1,400 ล้านคน  เทียบกับไทยที่มี 77 จังหวัด พลเมือง 66 ล้านคน  แต่ในมุมของสื่อมวลชนนั้นมีเรื่องราวให้ติดตามมากมาย

ไม่ใช่แค่เรื่องทุเรียนไทยไปจีนปีนี้จะเพิ่มเท่าไร หรือรถEVจีนค่ายไหนจะมาบุกตลาดไทยอีก

ไม่ใช่แค่ฟรีวีซ่าพานักท่องเที่ยวมาอีกเท่าไร  หรือหมีแพนด้าคู่ใหม่จะมาเมื่อไร จะชื่ออะไร

ไม่ใช่แค่ให้ทายว่าระหว่างรถไฟไทย-จีน กับถนนพระราม 2 เส้นทางไหนจะเสร็จก่อนกัน

 

 

ไทย-จีน เรายังมีความท้าทายร่วมเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย  เรามีปัญหาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่ไทยยิ่งค้ายิ่งขาดดุล  เรามีความร่วมมือเรื่องล้านช้าง-แม่โขง  เรามีปัญหาร่วมเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์  เรามีปัญหาเรื่องอนาคตของ“เมียนมา”ประเทศเพื่อนบ้านของไทยและจีน

ต่างๆเหล่านี้คือภารกิจของสื่อมวลชนที่ต้องติดตามและนำเสนอต่อประชาชนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  และนี่คือที่มาของงานเปิดตัว “สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน” เมื่อค่ำคืนวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องพาโนรามา โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

ในงานดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คือหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ ระเบียบโลกใหม่และภูมิรัฐศาสตร์ : ผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองไทย-จีน” โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า  ความสัมพันธ์ไทย-จีนโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจนั้นเกินเลยไปกว่าที่จะพูดว่าเป็นความสัมพันธ์  เพราะจีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย  ไทยคือคู่ค้าอันดับ 3 ในอาเซียนของจีน  การลงทุนของจีนในไทยเติบโตขึ้นโดยลำดับ  ในปี 2566 ที่ผ่านมาจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นๆเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์

เมื่อเรากำลังเข้าสู่ปีที่ 50 ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เราได้เห็นมาตลอดว่าการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีการเปิดกว้างและมีหลายมิติมากขึ้น  ก่อนโควิดจะมาเราพบว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวคือนักท่องเที่ยวจีน  และเราก็หวังว่าเมื่อโควิดยุติลงเราจะมีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเหมือนเดิม

ปีที่แล้วตัวเลขอาจจะต่ำกว่าที่หวังไว้  แต่2เดือนแรกของปี2567ได้เห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาจำนวนมาก  ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่อง “วีซ่าฟรี”ยกเว้นการตรวจลงตรา  ซึ่งได้ทดลองและมาดำเนินการถาวรในปัจจุบัน

ช่วงที่เกิดโควิดโลกเกิดความตึงเครียดจากสงครามทางการค้าย่อยๆระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน  ซึ่งแม้ไทยหรือประเทศในอาเซียนไม่ได้ไปเกี่ยวข้องโดยตรง  หรืออาจจะได้ประโยชน์บ้างจากการย้ายฐานการผลิต  แต่โดยรวมแล้วความขัดแย้งแบบนี้ได้ลดมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ  ลดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก  และที่สุดคือการกระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศ

จากสงครามการค้ามาเป็นสงครามจริง ยูเครน-รัสเซีย  อิสราเอล-ฮามาส  เราหวังว่าจะไม่มีมากไปกว่านี้แต่ไม่มีใครประมาทได้เลย  เวลาเกิดสงครามขึ้นจริงผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานเป็นรูปธรรมมาก

แต่ปัญหาไม่ได้หยุดแค่เพียงด้านกายภาพ  ถ้าความขัดแย้งเป็นสงครามตัวแทน  เป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  เรื่องนี้ใหญ่มาก  เพราะความสำเร็จของจีนในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา  ความสำเร็จของไทยตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  เกิดขึ้นได้เพราะปรากฏการณ์ “โลกาภิวัตน์” ที่สร้างโอกาสในการเพิ่มพูนการค้าการลงทุน  การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ  และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนในโลกพ้นจากความยากจนมากเป็นประวัติการณ์

แต่ถ้าแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่  สามารถยืนยันได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯและจีนที่มีต่อกันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  ถ้อยคำ ภาษา แถลงการณ์ การสัมภาษณ์ที่มีการพาดพิงถึงกัน  อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง  ซึ่งหวังว่าจะมีความพยายามหยุดยั้ง ยุติ ไม่ให้ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้

เพราะจากความหวาดระแรงและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันได้นำไปสู่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจการค้า  มีการจัดประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง  ไล่เรียงไปถึงห่วงโซ่อุปทานที่หากมาจากอีกประเทศหนึ่งก็จะมีการกีดกัน  ผลกระทบที่ตามมาอาจจะมีการได้ประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิต  แต่โดยรวมนั้นได้ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานทางเศรษฐกิจโลกขาดประสิทธิภาพ

 

 

คำถามก็คือนอกเหนือจากการรับมือกับสิ่งเหล่านี้และปรับกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของเรา  ซึ่งขณะนี้ทั้งจีนและไทยก็ได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเองแล้ว  ทั้งไทยและจีนควรจะช่วยกันหาทางไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสำหรับมนุษยชาติ

เชื่อว่าทั้งไทยและจีนไม่มีความประสงค์จะอยู่ในความขัดแย้ง  เพียงแต่ที่ผ่านมาความแตกต่างด้านวัฒนธรรม  ความแตกต่างทางประวัติศาสตร์เรื่องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเมืองซึ่งนำไปสู่ความแตกต่างทางความคิด  ในเชิงค่านิยม ได้สร้างความหวาดระแวงขึ้นจนกลายเป็นความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  นำไปสู่ความวิตกกังวลว่าจะมีการครอบงำ  หรือเขียนกติกาให้กับโลก

สหรัฐฯที่เคยเป็นมหาอำนาจเดี่ยวเริ่มกังวลกับความสูญเสีย  ฝ่ายจีนได้กล่าวหลายครังว่าเหตุใดโลกตะวันตกต้องใช้ค่านิยมตะวันตกเข้ามากำหนด ขีดเส้น ให้กับประเทศอื่นๆซึ่งอาจจะเลือกเส้นทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน

นี่คือปัญหาซึ่งมิใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่จะแก้ไข  แต่ต้องมีเวทีในการพูดคุยหารือ  ต้องสร้างค่านิยมในโลกที่เราบอกว่าเป็นโลกาภิวัตน์  เราจำเป็นต้องมีกติกาพหุภาคีที่ทั่วโลกเคารพ  ไม่ว่าคุณจะเป็นประเทศเล็กหรือมหาอำนาจ

ประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญได้ในการเป็น “สะพาน” เป็น “ตัวเชื่อม”  เป็นผู้เล่นที่ทำงาน

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *