06/05/2024

จีนนำเข้า ‘ทุเรียนเวียดนาม’ พุ่งทะยาน หนุนการค้าทวิภาคีเติบโต

 

หนานหนิง, 12 ธ.ค. (ซินหัว) — ด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งเป็นด่านนำเข้าทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้และคุ้นเคยกับการนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นหลัก ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามนับตั้งแต่มีการอนุญาตทุเรียนเวียดนามเข้าถึงตลาดจีนเมื่อปีก่อน

หนงหลี่ชิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าและส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองผิงเสียงของกว่างซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านบกโหย่วอี้กวน สามารถประสานงานขนส่งทุเรียนสดใหม่ถึงมือลูกค้าในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่อยู่ใกล้เคียง และมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนอย่างรวดเร็ว

“ปีนี้เรานำเข้าทุเรียนมากกว่า 1,600 ตู้คอนเทนเนอร์แล้วเมื่อนับถึงเดือนธันวาคม โดยนอกจากไทย เราได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามด้วย” หนงกล่าว พร้อมเสริมว่าปัจจุบันมีการนำเข้าทุเรียนหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละวัน

อนึ่ง จีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 รวม 825,000 ตัน โดยข้อมูลศุลกากรระบุว่าการนำเข้าทุเรียนครองอันดับหนึ่งในหมู่ผลไม้นำเข้าของจีน คิดเป็นมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.43 แสนล้านบาท)

สำหรับทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักว่ามีฤดูเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าและราคาถูกกว่า ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตลาดจีนภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2022 โดยปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งหลักของเวียดนาม

“สักสิบกว่าปีก่อน ผลไม้จากประเทศอาเซียนอย่างทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ถือเป็นของหายากในจีน แต่ตอนนี้พบเจอได้ตามแผงขายผลไม้ในแทบทุกเมืองใหญ่และมีราคาย่อมเยามากขึ้น” หวังเจิ้งโป๋ ประธานบริษัทผลไม้ในกว่างซีกล่าว

 

 

บริษัทของหวังก้าวเข้าแวดวงการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม และลงนามสัญญากับสวนทุเรียนหลายแห่งในเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 3,000 เฮกตาร์ (ราว 18,750 ไร่) เมื่อปีก่อน โดยหวังเผยว่าปีนี้มีแผนนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน

ด่ง กวาง หาย นักธุรกิจชาวเวียดนามที่ทำธุรกิจเพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามมานานนับสิบปี กล่าวว่าทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มีความต้องการจากผู้บริโภคและศักยภาพทางการตลาดสูงมาก

ปัจจุบันด่านโหยวอี้กวนกลายเป็นด่านบกสำหรับการแลกเปลี่ยนทางพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนามที่คึกคักและสะดวกมากที่สุด โดยสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกที่ด่านโหยวอี้กวนได้รับรองยานพาหนะเข้าและออกในปีนี้ 400,000 คัน เมื่อนับถึงวันอังคาร (5 ธ.ค.) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 122 เมื่อเทียบปีต่อปี

ถังซาน หัวหน้าศุลกากรด่านโหยวอี้กวน ระบุว่าด่านโหยวอี้กวนเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับส่งออกผลไม้เวียดนามสู่จีน มีรถบรรทุกขนส่งทุเรียน แก้วมังกร ขนุน และผลไม้อื่นๆ ของเวียดนามเข้าทำพิธีศุลกากรช่วงในฤดูกาลวันละเกือบ 300 คัน และมีการขนส่งทุเรียนเวียดนามช่วงนอกฤดูกาลวันละมากกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์
“เราเริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อปีก่อน ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าผลไม้นำเข้าที่ขายดีที่สุด มีการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์และออนไลน์ทั่วประเทศ” ฟางช่วงเฉวียน ผู้ค้าผลไม้ในเมืองผิงเสียงกล่าว

ข้อมูลจากศุลกากรหนานหนิงระบุว่ามูลค่าสินค้านำเข้าจากเวียดนามผ่านด่านโหยวอี้กวน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปีนี้ รวมอยู่ที่ 9.14 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.47 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 271.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าผลไม้เวียดนาม 1.17 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.73 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 637.9 โดยมูลค่าการนำเข้าทุเรียนรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.43 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,084.2

การค้าทวิภาคีด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอานิสงส์จากการอนุมัตินำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายรายการจากเวียดนามสู่จีน กอปรกับการส่งออกผักผลไม้ที่มีคุณภาพจากกว่างซีสู่ตลาดเวียดนาม

นอกจากด่านโหยวอี้กวนแล้ว ด่านเหอโข่วในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังกลายเป็นด่านนำเข้าทุเรียนยอดนิยมของจีน นับตั้งแต่มีการอนุมัตินำเข้าทุเรียนผ่านด่านเหอโข่วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

 

 

ฟู่จิง ผู้ค้าผลไม้จากมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงการค้าผลไม้นำเข้ามานานมากกว่า 10 ปี ได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อไม่นานนี้เช่นกัน โดยฝูบอกว่าขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วของด่านเหอโข่วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเลือกนำเข้าทุเรียนเวียดนาม

เหยาฉี ตำรวจหญิงประจำสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกเหอโข่ว เผยว่าการนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดึงดูดผู้คนมายังด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้น มีบริษัทจำนวนมากเข้ามาตั้งสาขาหรือสำนักงานในอำเภออันเป็นที่ตั้งของด่านเหอโข่ว
ปัจจุบันด่านเหอโข่วรับรองยานพาหนะเข้าและออกเฉลี่ยวันละราว 700 คัน และจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการทำพิธีการศุลกากรของผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์ปลีกย่อย รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของขั้นตอนพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่อง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *