15/05/2024

เศรษฐีจะแก้หนี้นอกระบบ

 

ในระหว่างที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ยังต้องผลักดันแผนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทอย่างยากลำบาก  และในระหว่างที่หัวหน้าพรรคอุ๊งอิ๊งแพทองธาร ชินวัตร ยังต้องอธิบายทำความเข้าใจเรื่อง “ซอฟท์ พาวเวอร์”  และยืนยันว่าไม่ใช่จะให้เล่นสงกรานต์ทั้งเดือนรัฐบาลเพื่อไทยจึงต้องเข็นนโยบาย “แก้หนี้นอกระบบ”  ออกมาใช้แก้ขัดไปก่อน

เพื่อให้บังเกิดผลงานร่วมกัน  นายกฯเศรษฐาจึงผูกมือเสี่ยหนูอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหวังอาศัยกลไกฝ่ายปกครองที่มี “ศูนย์ดำรงธรรม”  ให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และดึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มาร่วมขบวนการแก้หนี้คนจน  โดยหลักการคือจะเรียกนายทุนเงินกู้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้

 

 

เป็นการต่อยอดนโยบายการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพลซึ่งรัฐบาลประกาศมาตั้งแต่แรกโดยมีกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานอย่างขึงขัง(ในช่วงแรก)

หนี้นอกระบบคือการค้าทาสยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้  ปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง 

 

 

วันนี้เราจะเอาจริงเอาจังทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ  ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่  คืนศักดิ์ศรี  คืนความหวัง  และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน”  ส่วนหนึ่งของสคริปที่นายกฯเศรษฐาอ่านในวันแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล  เป็นคำพูดที่ฟังดูสวยงามที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากทีมงานของนายกรัฐมนตรี

ข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า  สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.6 % ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล  ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง

หมายความว่าวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อปากท้อง  เพื่อการกินการอยู่  มากกว่าจะกู้เพื่อการค้าการลงทุนอย่างเมื่อก่อนแล้วใช่ไหม

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2564 คนไทยมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบเฉลี่ยประมาณ 205,679 บาทต่อครัวเรือน  แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 202,075 บาทต่อครัวเรือน  ที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบ 3,604 บาทต่อครัวเรือน

มีงานวิจัยถึงสาเหตุการเป็นหนี้นอกระบบพบว่าส่วนใหญ่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ซื้อเครื่องประดับ  โทรศัพท์มือถือ  46.8%  ใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน รักษาพยาบาล ค่าเทอม 41.5%  ลงทุนประกอบอาชีพ   9.4%  กู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า   2.3%

ส่วนกลุ่มอาชีพที่เป็นหนี้นอกระบบ  อาชีพอิสระเป็นหนี้เฉลี่ย  18,713 บาท  ผู้มีอาชีพรับจ้างหรือลูกจ้าง  31,776 บาท  อาชีพค้าขาย  33,265 บาท  พนักงานเอกชน   46,569  บาท  ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวมีหนี้เฉลี่ย  65,432  บาท  เกษตรกร  90,818 บาท  ข้าราชการ  117,932  บาท  พนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นหนี้สูงสุดเฉลี่ย 158,181  บาท

ย้อนไปสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (2544 – 2549) ช่วงนั้นระบุว่ามีหนี้นอกระบบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท  สมัยรัฐบาลลุงตู่พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557 -2566) ระบุว่าคนไทยเป็นหนี้นอกระบบทั้งประเทศประมาณ 9 แสนราย  ส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน 5 แสนราย   ลุงตู่นั่งเป็นนายกฯ 8 ปีมีกองทัพหนุนหลังบอกว่าเคลียร์หนี้ได้เยอะ

มาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทีมงานประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบคิดเป็นมูลค่าประมาณแค่ 5 หมื่นล้านบาท  ถือเป็นผลงานอันเหลือเชื่อของรัฐบาลลุงตู่  หรือสวนทางกับความรู้สึกและสภาพความจริงในสังคมปัจจุบัน

เพราะแม้แต่นายกฯเศรษฐาเองก็ยังพูดว่าตัวเลขต่ำเกินไป  จึงจัดให้ลงทะเบียนยาวนาน 3 เดือนตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

หนี้นอกระบบนั้นมีมากหรือน้อยแค่ไหนไม่มีใครรู้  ก็เพราะมันอยู่นอกระบบ ไม่มีนายทุนคนไหนออกมาประกาศตัวหรือเปิดเผยผลประกอบการ หรือจ่ายภาษีให้สรรพากร  แต่นายทุนเงินกู้คงอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน  เพราะทุกรัฐบาลไม่สามารถให้บริการสินเชื่อได้อย่างทั่วถึง  พอเกิดปัญหาหนักในสังคมแล้วค่อยมาแก้ไข

สมัยรัฐบาลลุงตู่มีการแก้ไขเพิ่มเติม...ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  พ..2560  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขหนี้นอกระบบ   แต่หนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหดก็ยังคงอยู่มาถึงวันนี้   มีทั้งดอกเบี้ยลอยรายวัน  บางรายเรียก 20%ต่อเดือน  บางรายคิดดอกเบี้ยทุก 24 วัน  เจ้าหนี้ให้บริการรับจำนำรถยนต์  รถจักรยานยนต์  รับจำนอง บ้าน ที่ดิน  บางรายให้ทำขายฝากโดยกำหนดให้ทำการไถ่ถอนระยะสั้น  ส่วนใหญ่จะมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง  ว่ากันว่าบางคนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้นักการเมืองด้วยซ้ำ

ลูกหนี้นอกระบบที่นายกฯเศรษฐาบอกว่าเป็นทาสยุคใหม่นั้น  แม่ค้าขายอาหารรถเข็นบางคนมีหนี้เกือบ 1 แสนบาท  ดอกเบี้ยร้อยละ 20 รายได้ไม่พอส่งรายวัน  วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่งบอกว่ามีหนี้อยู่ 5 หมื่นบาท ต้องหมุนเงินมาเคลียร์หนี้ทุกวัน

เจ้าหนี้นอกระบบนอกจากจะคิดดอกเบี้ยสูงแล้วยังใช้วิธีการทวงหนี้สารพัดแบบ  ตั้งแต่ทวงกันต่อหน้าธารกำนัน  ประจานกลางตลาดให้อับอาย   จำนวนมากที่ใช้ลูกน้องตามทวงถึงบ้าน  ข่มขู่  คุกคาม  ยึดทรัพย์สิน  ทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย  ยุคนี้โพสต์ประจานลงโซเชียลมีเดีย  และถึงขั้นยิงตายเป็นข่าวดังกรณีหนี้แค่ 400 บาท

อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้นอกระบบใช่ว่าจะเลวร้ายไปหมด  นายทุนใจดีก็มีไม่น้อยที่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ลำบากกว่า  ไม่ได้คิดดอกโหด  ให้เวลาผ่อนชำระยาวนาน  เห็นหน้าเห็นตา  เจ้าของที่นาให้เช่าทำนาน  จ่ายดอกเบี้ยเป็นข้าวสารหรือผลผลิตทางการเกษตรก็มี  ดังนั้นจึงมีหนี้นอกระบบที่ไม่มีปัญหาอีกมากพอสมควร

แต่ที่มีปัญหาคือแก๊งเงินกู้โหดที่มาพร้อมนโยบาย ต้องมี  ห้ามหนี  ต้องจ่าย

คนที่ไปลงทะเบียนกับรัฐบาลในช่วง 3 เดือนนี้ เชื่อว่าน่าจะเดือดร้อนจริงๆ  ยอมรับว่าไปกู้เงินเขามาจริง  อยากจะให้ลดดอกเบี้ย  หรือหมดปัญญาชำระหนี้เพราะขาดอาชีพ  ธุรกิจล้มเหลว  ขาดรายได้  อยากหาความคุ้มครองจากรัฐ  อยากหาทางรีไฟแนนซ์เปลี่ยนเจ้าหนี้  หรืออยากได้เงินกู้เพิ่มเพื่อการดำรงชีวิต  เพราะรัฐบาลประกาศให้ความหวังมีแบงก์รัฐมาเตรียมปล่อยกู้ให้ใหม่

 

 

เหตุที่ปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้น  เพราะไปกู้ในระบบไม่ผ่าน  เงื่อนไขเยอะ  ต้องมีทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน  ต้องมีรายได้เพียงพอชำระหนี้ตามกติกาของสถาบันการเงิน

ปัญหาที่ซ้ำเติมคือเศรษฐกิจถดถอย  ฝืดเคือง  คนใช้จ่ายน้อยลง  เงินไม่สะพัด  รายได้จากการค้าขายไม่เพียงพอจะชำระหนี้  แค่หาเงินส่งดอกเบี้ยก็แทบไม่พอ  ชักหน้าไม่ถึงหลัง

คนเป็นหนี้หลายคนยอมรับว่าเคยคิดสั้น  จะฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหาความรับผิดชอบ  แต่เพราะห่วงคนข้างหลังต้องมาแบกรับหนี้ต่อ  ห่วงลูก ห่วงพ่อแม่ ฯลฯ จึงต้องก้มหน้าหาเงินมาจ่ายดอกให้เจ้าหนี้

บรรดามหาเศรษฐีอย่างท่านนายกเศรษฐา  ท่านรองนายกฯอนุทิน ที่เดินทางด้วยรถหรูมีคนขับ  พักอาศัยอยู่คฤหาสน์หลังงาม  จิบไวน์  กินอาหารมื้อละหลายพัน  จะลงมาแก้หนี้นอกระบบที่เชื่อมโยงนายทุนกับผู้มีอิทธิพล  ท่านเข้าใจหัวอกคนจนจริงหรือ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *