04/05/2024

แรงงานยุคดิจิทัล

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็น “วันแรงงานสากล” มีการจัดกิจกรรมด้านแรงงานพร้อมกันทั่วโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนในการสร้างชาติและสร้างโลก  แต่สังเกตว่าปีนี้มีอะไรที่ค่อนข้างร้อนแรงตามอุณหภูมิโลก

แถวยุโรปกลุ่มชาติพัฒนาที่ต้องอาศัยแรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก  ในช่วง 3 ปีที่ต้องเผชิญทั้งโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างมากจึงมีการเดินขบวนเรียกร้องจาสกบรรดาสหภาพแรงงานต่างๆให้รัฐบาลเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่พุ่งทะยานไปไกล

“ฝรั่งเศส”เป็นประเทศที่มีความดุเดือดหลังจากเคยนัดหยุดงานทั่วประเทศมาแล้ว  สหภาพแรงงานในฝรั่งเศสได้นัดเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล  มาคร็อง   ที่ขยายอายุการเกษียณแรงงานจาก 62 ปีเป็น 64 ปี

กรุงปารีสเกิดความรุนแรงกลายเป็นจลาจลเผารถยนต์  ทุบกระจกทำลายร้านค้า  เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในฝั่งเอเชียที่กรุงโซล เกาหลีใต้  มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและลดชั่วโมงการทำงาน  เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น การชุมนุมอย่างสงบเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานอันเนื่องมาจากผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น  ให้เท่าเทียมกับการที่รัฐบาลไปเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นเท่าตัว

 

 

ข้างบ้านเราที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ผู้ใช้แรงงานร่วมเดินขบวนเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการที่ดีขึ้น

ส่วนที่ประเทศไทยเรานายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพจัดงานวันแรงงานแห่งชาติให้ดังเช่นทุกปี  ฝ่ายสหภาพแรงงานก็ทำหน้าที่ร่วมเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 700 บาท  โดยให้เหตุผลว่า  จากการประเมิน 700 บาทเป็นอัตราค่าจ้างที่จะทำให้แรงงานอยู่ได้ตามอัตภาพ และควรมีการปรับค่าจ้างทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ

ข้อเรียกร้องของแรงงานไทยในปีนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับแน่  เพราะ“อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ“ล่าสุดที่ใช้ทั่วประเทศ 328 – 354 บาท / วัน เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี่เอง

เปรียบเทียบกับวันแรงงานในจีนที่เป็นไปอย่างราบรื่น  ผู้ใช้แรงงานทั่วจีนมีทั้งเดินทางกลับบ้านและออกเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศกันอย่างคึกคัก  หลังจากอั้นกันมา 3 ปี

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวอวยพรวันแรงงานปีนี้โดยเน้นย้ำ การส่งเสริมจรรยาบรรณในการทำงาน   สนับสนุนให้คนจีนทำงานอย่างขยันขันแข็งและกล้าหาญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างมั่นคงในการก้าวไปสู่ความทันสมัยของจีน และมีบทบาทนำในการเดินทางครั้งใหม่เพื่อสร้างจีนให้เป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและตระหนักถึงการฟื้นฟูประเทศและมุ่งเน้นสร้างแรงงานคุณภาพ

 

 

รัฐบาลจีนมีเป้าหมายชัดเจนในการนำประเทศมุ่งสู่ความทันสมัยและความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล  เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและผลักดันให้จีนขึ้นแท่นความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์แบบ

แต่สำนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งเคยรายงานผลการศึกษาว่า  การก้าวสู่ความทันสมัยอย่างเร่งด่วนของจีนก็ได้สร้างปัญหาแก่ตัวเอง  เช่นการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการผลิต  การใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อการจัดการในโรงงานและอื่นๆแม้จะช่วยลดต้นทุน  เพิ่มความเร็ว และลดความผิดพลาดของมนุษย์ได้  แต่กลับส่งผลต่อการจ้างงาน  การลดค่าจ้างและตำแหน่งงานที่แรงงานในประเทศเคยปฏิบัติลงเป็นจำนวนมากถึง 77%

ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “แรงงานทักษะต่ำ และแรงงานสูงอายุ” คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด  โดยต้องทำงานยาวนานยิ่งขึ้นถึงเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง  และเมื่อรายได้ลดลงก็จะเกิดการหยิบยืมหรือกู้เงินเพื่อให้ตนเองมีกินหรือเลี้ยงดูครอบครัวต่อไปได้

ขณะเดียวกันสื่อจีนเองก็เคยสะท้อนปัญหาด้านแรงงานจีนภายใต้บรรยากาศของการมุ่งสู่ความทันสมัยของภาคเอกชนจีน  นั่นคือ “วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996”  หรือการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม  6 วันต่อสัปดาห์  ซึ่งเป็นการใช้แรงงานคนเสมือนหุ่นยนต์  สร้างความเครียดแก่ลูกจ้างและส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนี้มีผลให้รัฐบาลจีนต้องปรับนโยบายการพัฒนาประเทศ   โดยการเดินหน้าสู่ความทันสมัยพร้อมๆกับการพยายามสร้างโอกาสในการทำงานและขยายการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิธีการของจีนคือส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และใช้นโยบายด้านภาษีมาช่วยส่งเสริมการจ้างงานที่สมดุลระหว่างเขตเมืองและในเขตชนบทในภูมิภาคต่างๆ  ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ไปลงทุนในภูมิภาค  ทั้งอุดหนุน ลดหย่อนภาษี  ปล่อยสินเชื่อและการจัดหาเงินทุนโดยตรง

 

 

รัฐบาลจีนเชื่อว่าด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนเช่นนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาพร้อมๆกับการจ้างงานขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับแรงงานทักษาต่ำหรือแรงงานผู้สูงอายุนั้น  จีนได้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำคล้ายๆกับไทย  กล่าวคือมีการกำหนดอัตราที่แตกต่างตามพื้นที่และเมืองไม่เท่ากันตามค่าครองชีพที่แตกต่าง  จีนมี 34 มณฑล มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แตกต่าง  บ้างทำการเกษตร  อุตสาหกรรม  เทคโนโลยี  ในแต่ละมณฑปยังมีเมืองที่เจริญ และไม่เจริญ  มีอัตราค่าครองชีพที่แตกต่าง  ดังนั้นแต่ละมณฑลจึงสามารถกำหนดค่าแรงของตนเอง

ดังเช่นกรุงปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวง กำหนดอัตราเดียว 2,320 หยวน/เดือน (ประมาณ 11,600 บาท) และ 25.30 หยวน/วัน  (ประมาณ 1,012 บาท)

เซี่ยงไฮ้ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจชั้นนำ 12,590 บาท/เดือน  115บาท/ชั่วโมง

เมืองกว่างโจว  รายเดือนมี 4 ระดับ คือ 11,500 บาท  9,500 บาท 8,500 บาท และ 8,100 บาท

รายชั่วโมง 111 บาท  90บาท 85บาท และ 80 บาท

เมืองเซินเจิ้น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติดกับฮ่องกง  มีความทันสมัยที่เน้นพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการเงิน  กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน 11,800 บาท  รายชั่วโมง 111 บาท

มณฑลส่านซี อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม  รายได้ขั้นต่ำแบ่งเป็น3ระดับ รายเดือน 9,750 บาท  9,250บาท และ 8,750 บาท  รายชั่วโมงแบ่งเป็น 95 บาท 90 บาท และ 85 บาท

มณฑลยูนนานทางใต้ของจีน ส่วนใหญ่ทำการเกษตร  เมืองคุนหมิง ขั้นต่ำรายเดือน 8,350 บาท  เมืองลี่เจียงขั้นต่ำรายเดือน 7,500 บาท  ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงอยู่ที่ 75 บาท  70 บาท และ 65 บาท

เชื่อได้ว่าหลังผ่านพ้นโควิด  หลังจากจีนเปิดประเทศได้ระยะหนึ่ง  แต่ละมณฑลจะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สรุปสุดท้ายกลับมาที่ประเทศไทย  เมื่อเลือกตั้งกันไปแล้ว  เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว  รัฐบาลชุดใหม่ก็อย่าลืมสัญญาที่หาเสียงกับผู้ใช้แรงงานล่ะ

……………………………………………………………………………………………………………………………………………..

หมายเหตุ : คอลัมน์ “โลกของจีน” โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์  ปีที่ 17 ฉบับที่ 404 วันที่ 16-31 พฤษภาคม พ.ศ.2566      

 

   

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *