26/04/2024

“เซี่ยงไฮ้” ดึงนักลงทุนต่างชาติ หนุนเศรษฐกิจโตสูง 9%

 

นายกง เจิ้ง (Gong Zheng) นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวแนะนำยุทธศาสตร์การพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ในงาน “ลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา​ กรุงเทพฯ

นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ ยังเน้นย้ำถึงเสน่ห์และโอกาสในการพัฒนาของเซี่ยงไฮ้ พร้อมทั้งยังกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วโลกไปลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ และจับมือกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

มหานครเซี่ยงไฮ้มีเนื้อที่ 6,340 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการเงิน โลจิสติกส์ แฟชั่น และนวัตกรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่ “นำร่อง” ที่ใช้ทดสอบทดลองนโยบายสำคัญของจีน

อาทิ การปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) และงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo)

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเซี่ยงไฮ้ได้ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่

 

 

โดยหนึ่งในพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้แก่ “หลินกั่ง” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ มีเนื้อที่ 873 ตารางกิโลเมตร ติดกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก

หลินกั่งถูกกำหนดให้เป็น FTZ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสิทธิประโยชน์พิเศษส่งเสริมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดสรรทรัพยากรทั่วโลกอย่างมีศักยภาพและดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน อาทิ HSBC และธนาคารกสิกรไทย

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในด้านยา ไบโอเทคโนโลยี​ ปัญญาประดิษฐ์ การบินพลเรือน EV อุปกรณ์ที่ทันสมัย วัสดุใหม่ และเซมิคอนดักเตอร์

โดยปัจจุบัน มีบริษัทที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุน 220,000 ล้านหยวน มูลค่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 263,400 ล้านหยวน โดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ TESLA ที่ผลิตและส่งมอบแล้ว 760,000 คัน

นอกจากนี้ยังมีการผลิตเครื่องบินพลเรือน C919 และการบริหารจัดการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยมีบริษัทเดินเรือ 4 บริษัท บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหม่ 12 แห่งมาตั้งบริษัทสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้และใช้ท่าเรือหยางซานพัฒนาเป็นเขตปลอดภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างชาติเข้าจะเข้ามาลงทุนในการค้าออนไลน์

 

 

ปัจจุบัน หลินกั่งอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์ Big Data ระดับสากลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล

ด้วยความพร้อมสรรพดังกล่าว และการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้พื้นที่หลินกั่งในปี 2022 มีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่า 40% และสามารถดึงดูดการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เติบโต 9% จาก 5.5% ของปีก่อน

บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีคือหนึ่งในบริษัทที่เข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมาก็มีแผนจะขยายการลงทุนในเขตหลินกั่งด้วย

 

 

นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของจีน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน

การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ริเริ่มโครงการ Belt and Road Initiative มาตั้งแต่ปี 2556 มีผลให้จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี โดยในปี 2565 ปริมาณการค้าระหว่างไทยและจีนมีมูลค่าสูงถึง 135,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังกลายเป็นประเทศที่มาลงทุนในมูลค่าสูงสุดของไทย อาทิ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ อาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ

การพัฒนาความร่วมมืออย่างลึกซึ้งภายใต้กรอบความร่วมมือ TCEP และแม่โขง-ล้านช้าง รวมไปถึงยุทธศาสตร์ 4.0 ของไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ“อีอีซี” ตลอดจนความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

เนื่องจากประเทศจีนมีตลาดใหญ่กำลังการซื้อสูง และมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการลงทุน

“เมื่อคิดถึงการลงทุนในประเทศจีน ต้องนึกถึงนครเซี่ยงไฮ้ก่อนเป็นลำดับแรก” ซึ่งมีหลายบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมของเราได้เข้าไปลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้แล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ บริษัทชั้นนำของไทย อย่างเครือซีพี

 

 

ขณะเดียวกัน รถยนต์เอ็มจี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เอสเอไอซี มอเตอร์ จากนครเซี่ยงไฮ้ กับ เครือ ซีพี ของไทย เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรายิ่งมีความมั่นใจต่อการลงทุนใน นครเซี่ยงไฮ้ จนขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเกือบ 900 บริษัท ได้มาตั้งสำนักงานใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ และยังมีอีกกว่า 530 บริษัท เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา

เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านครเซี่ยงไฮ้ มีความน่าสนใจที่ต้องพิจารณาถึงเป็นพิเศษสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศนับตั้งแต่ดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ

จนทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในฐานะเมืองที่ทันสมัยที่สุด จนมีฉายาว่า “นครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมในทุก 3 ปี”

ในปี 2565 GDP ของนครเซี่ยงไฮ้สูงถึงกว่า 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯและมาตรฐานการดำรงชีพของชาวเซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูงสุดในประเทศจีน

อนึ่ง งานสัมมนาในครั้งนี้มีแขกรับเชิญพิเศษร่วมกล่าวสานความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แนบแน่นระหว่างไทย-เซี่ยงไฮ้ อาทิ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และเลขาธิการบีโอไอ ท่ามกลางผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยและจีนที่เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน รวมทั้งยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกันรวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *