17/05/2024

ร่วมสร้าง“สายแถบและเส้นทาง” ร่วมกันชนะกับอนาคตที่งดงาม

        

 นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา“จีนร่วมสมัยกับโลก”ว่า “สายแถบและเส้นทาง”เป็นข้อริเริ่มสำคัญที่เสนอโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเมื่อปี 2556 โดยมีจุดมุ่งหมายคืออาศัย”เส้นทางสายไหม”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับคนหนุ่มสาวจากจีนและไทยที่จะรวมตัวกันและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา จีนและหุ้นส่วนระหว่างประเทศได้ยึดมั่นในหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์ และยึดมั่นในมาตรฐานระดับสูง ความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งได้เปลี่ยน “สายแถบและเส้นทาง” จากพิมพ์เขียวให้เป็นความจริง และนำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาประเทศต่าง ๆ และสร้างประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

จนถึงปัจจุบัน ข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” ได้ดึงดูด 151 ประเทศและ 32 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือ ขับเคลื่อนการลงทุนเกือบหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการ สร้างงาน 420,000 ตำแหน่งสำหรับประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง และช่วยให้ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนพ้นจากความยากจน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” ระหว่างจีนและไทยได้ประสบผลสำเร็จมากมาย  โดยทั้งสองประเทศได้ประกาศร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-ไทย และลงนามใน แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อันเป็นการร่วมกันเขียนพิมพ์เขียวเพิ่มเติมและกำหนดทิศทางของการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง”

โครงการรถไฟจีน-ไทยเป็นโครงการสัญลักษณ์สำหรับการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” ระหว่างสองประเทศ ปัจจุบัน การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยระยะแรกเข้าสู่ขั้นเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการเตรียมการก่อสร้างของระยะที่สองก็อยู่ระหว่างผลักดันอย่างเต็มที่  คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2571 การเปิดทางรถไฟจีน-ลาวและการเชื่อมต่อกับทางรถไฟมีเตอร์เกจในไทยช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างจีน ลาว และไทยได้ 30% ถึง 50% ในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟความเร็วสูงของคาบสมุทรอินโดจีนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้การเชื่อมต่อของภูมิภาคก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ในประวัติศาสตร์

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี ปริมาณการค้าทวิภาคีในปี 2565 สูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของไทย และ 96% ของการส่งออกทุเรียนของไทยขายให้กับจีน

จีนและไทยยังคงกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  นับตั้งแต่RCEPมีผลบังคับใช้ สินค้าไทย 39,000 รายการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ในจำนวนนี้ มี 29,000 รายการได้รับการยกเว้นภาษี โดยจีนเป็นประเทศที่ไทยใช้ RCEP ในการส่งออกสินค้ามากที่สุด จีนกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเวอร์ชั่น 3.0 กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานในอาเซียน เชื่อว่าชุดการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในระดับสูงจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงจีนและไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของแต่ละประเทศ

จีนเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนหลักของไทยมาโดยตลอด ในปี 2565 จีนมีการลงทุนในโครงการ158 โครงการในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน 77,381 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของไทย  นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ได้ดึงดูดผู้ผลิตของจีน 180 บริษัทและบริษัทสนับสนุนอีกกว่า 30 บริษัทให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 45,000 ตำแหน่ง

จีนจัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศนำร่องแรกที่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวได้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้ในไตรมาสแรกนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยแล้วมากกว่า 500,000 คน เทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากร่วมเล่นน้ำกับชาวไทยอย่างครึกครื้น อันเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

เราต้องใช้ความพยายามร่วมกัน เพื่อให้โอกาสที่สดใสของ “สายแถบและเส้นทาง” กลายเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการร่วมมือพัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า

ต้องมีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ในระดับทวิภาคี ทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามฉันทามติสำคัญที่ผู้นำของสองประเทศบรรลุร่วมกัน เร่งความร่วมมือรถไฟไตรภาคี จีน-ลาว-ไทย และส่งเสริมแนวคิดการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย – ลาว – จีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า และ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน

ในระดับภูมิภาค เพิ่มการหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระหว่างข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” กับกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง  กลไกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ “แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนปี 2025” เป็นต้น

ร่วมกันสร้างจุดเติบโตใหม่ ทั้งสองประเทศต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล เสริมสร้างความร่วมมือด้านอินเทอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ 5G อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” ต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียว เพิ่มการประสานงานและทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCGของประเทศไทยผ่านความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า โซล่าเซลล์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ

ต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ เสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการฝึกอบรมบุคลากร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนโบราณระหว่างทั้งสองประเทศ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ต้องขจัดการแทรกแซงจากภายนอกอย่างเด็ดเดี่ยว ภายใต้สถานการณ์ใหม่ การร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” ระหว่างจีน-ไทยกำลังเผชิญกับโอกาส รวมทั้งความเสี่ยงกับความท้าทายบางประการที่ไม่เคยมีมาก่อน  เราควรดำเนินการบนพื้นฐานของผลประโยชน์พื้นฐานของชาติและของประชาชนทั้งสองประเทศ ไม่คล้อยตามความผันผวนของสถานการณ์ และไม่ถูกรบกวนโดยเรื่องที่มิใช่สาระสำคัญ  ขจัดการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายที่สาม ยึดมั่นในความร่วมมือที่เป็นมิตรและการได้ประโยชน์ร่วมกัน

ขนาดเศรษฐกิจของจีนแตะ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และเติบโต 4.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้  จีนกำลังส่งเสริมการสร้างประเทศที่เข้มแข็งและการฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของประชาชาติด้วยความทันสมัยในแบบของจีนอย่างกว้างขวางและอย่างสันติ  ย่อมหมายถึงโอกาสครั้งประวัติศาสตร์และอนาคตที่สดใสสำหรับประเทศเพื่อนบ้านตลอดจนทั่วโลก

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *