16/04/2024

จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน

 

สถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย  ศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน  ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่อง “จีนร่วมสมัยกับโลก  การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน”  ในวันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจันทร์จรัส ชั้น 3 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ผลการพัฒนาระหว่างไทย-จีนในยุคสมัยใหม่ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน

 

 

นายเกา อันหมิง รองประธาน สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ส่งเสริมความร่วมมือคนรุ่นใหม่ไทย-จีน  รวมพลังสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ว่า  การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทยและจีน จะเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  2.การส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลให้คนรุ่นใหม่ ในเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และ 3.สร้างกลไกเพื่อผลประโยชน์ร่วมทั้งสองฝ่าย

โดยมีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน และเน้นโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว  ระบบโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการแสดงบทบาทของสื่อ เพื่อพัฒนากิจการความเป็นมิตรระหว่างไทยและจีน  รวมถึงการส่งเสริมมิตรไมตรีระหว่างไทยและจีน โดยมีสถาบันวิจัยจีนและโลกร่วมสมัย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอาเซียน เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ และ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน

 

 

ขณะที่นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย และในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์  กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและการร่วมสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก”ว่า  ในอดีตชาวจีน มีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี แต่ระหว่าง ค.ศ.1941 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสงครามปลดแอกจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 82 ปี ที่จีนสามารถปลดแอกตัวเองออกมาจากอดีตที่ยากจน และ กล่าวได้ว่า เติ้ง เสี่ยวผิง คือ ผู้นำจีนที่ทำให้จีนเริ่มมีกินมีใช้ เริ่มพัฒนา และในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนเดินหน้าสู่การพัฒนาในทุกด้านอย่างเต็มตัว

“ผมกล่าว 2 ประเด็นคือ เรื่องประวัติศาสตร์จีน และการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยคนรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะปัจจุบันจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก  มีการตั้งกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ หรือ กลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในไทยจะต้องมีข้อมูล รวมถึงเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย  ล่าสุดทำให้ทุเรียนไทยส่งออกไปถึง 25 โบกี้ และทำให้คนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น” นายพินิจกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน” โดยมี ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  นายชุน ไพลินดีเลิศ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน นายเอกรัตน์ จันทน์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  รศ.ดร.หาน เซิ่งหลง  ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายจีน)  นางสาวต๋า หองจวน ผู้จัดการฝ่ายความสัมพันธ์ภายนอกและภาครัฐ บริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการข่าว เดอะ ลีดเดอร์ เอเซีย (The Leader Asia) เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

ในเวทีดังกล่าวมีการพูดถึงประเด็นทุนจีนสีเทาที่ตกเป็นข่าวต่อเนื่องในไทยจนถึงปัจจุบัน โดยนายชุน ไพลินดีเลิศ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน กล่าวว่า   ก่อนเกิดโควิดคนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเฉลี่ยปีละ 10 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าไปประเทศญี่ปุ่นหลายเท่า  คนจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำการค้าในไทยและอยากรวยเร็วจนทำผิดกฎหมายนั้นย่อมมีบ้าง  แต่ถ้าเทียบกับจำนวนคนที่ทำตามกฎหมายแล้วถือว่าน้อยมาก เชื่อว่าจะเป็นปัญหาที่ภาครัฐของทั้งสองประเทศสามารถจัดการได้ และไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของไทยและจีน

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *