30/04/2024

การบินไทยยื่นแผนฟื้นฟูฯ เชื่อมั่นทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน

       นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นั้น ในวันนี้ (วันที่ 2 มีนาคม 2564) การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จและได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การบินไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดทุน
ขาดสภาพคล่อง และมีกระแสเงินสดเหลือน้อย การบินไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
และมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะหนี้สิน สภาพทางการเงิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจของการบินไทยสามารถสร้างรายได้จนกลับมามีกำไรอีกครั้ง นายชาญศิลป์ฯ กล่าวต่อไปว่า การบินไทยมีจุดแข็งในการประกอบธุรกิจและมีความเพรียบพร้อมด้านทรัพยากร ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินรายอื่นในประเทศจะมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจได้เทียบเท่า
การบินไทย อีกทั้ง การดำเนินธุรกิจของการบินไทยยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภูมิภาคอาเซียน การดำเนินธุรกิจของการบินไทยจึงเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยนายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยว่า ในปี 2562 การบินไทยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศรวม 1.2 ล้านล้าน (ประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน
7.2% ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก
มาอย่างยาวนานและมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น การให้บริการของการบินไทยที่เป็นที่ประทับใจของลูกค้า
และมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

นายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยว่า ภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลง การบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน โดยการบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนา
แบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ
ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดี
อย่างต่อเนื่อง
(Private High Quality Full Service Carrier with Strong Thai Brand, Connecting Thailand to the World and Generating Consistently Healthy Profit Margin) ประกอบด้วย
กลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

  1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า
    โดยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า
    เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูงโดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น
    โดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไรของธุรกิจจากการนำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือก
    อย่างเต็มรูปแบบ และมีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ทำให้เกิดการตลาดแบบผสมผสานกันในหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งทางการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น
  3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน
    ที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น
    การปรับลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้
  4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลาง
    การเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยการปรับใช้และปรับปรุงระบบและกระบวนการ
ในการทำงานด้วยวิธีการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพและ
ขีดความสามารถของพนักงานในทุกระดับ ทั้งผู้บริหารและพนักงานระดับปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงและ
พัฒนาด้านวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติของพนักงานภายในองค์กร รวมถึงการกำหนดดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) และแรงจูงใจ (Incentives) ที่เหมาะสมให้สอดคล้องไปกับความสำเร็จของแผนปฏิรูปธุรกิจ และการทบทวนและพัฒนาการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับโลกในภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การบินไทยสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชาญศิลป์ฯ กล่าวว่า การบินไทยได้มองไปข้างหน้าและเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัดจากการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจโดยละเอียด การบินไทยได้ริเริ่มจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Chief of Transformation Office) และได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายการเงิน พร้อมระบุแผนการดำเนินงานโดยละเอียด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน
และกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการบินไทยได้มีการวางระบบการดำเนินงานเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จ โดยได้มีการปรับใช้ระบบและวิธีการที่ได้รับการรับรองว่าประสบผลสำเร็จแล้ว
ของบริษัทอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกว่า 500 แห่งทั่วโลก รวมถึงการปรับโครงสร้าง
ของสายการบินต่างชาติและการปฏิรูปธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568 ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากร เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนระบบการทำงานรูปแบบใหม่ และเน้นความโปร่งใส ซึ่งกระบวนการดังกล่าว
จะทำให้แผนประสบความสัมฤทธิ์ผล­­

นับแต่การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายไทย การบินไทยก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการทำให้ธุรกิจของการบินไทย
อยู่รอด การบินไทยจึงได้มีมาตรการในการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย และได้เร่งดำเนินการดังกล่าว
อย่างสุดความสามารถและเต็มศักยภาพ โดยนายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การบินไทยเองก็มีมาตรการ
ที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปบ้างแล้ว อาทิเช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) และการลดค่าใช้จ่าย โดยมีโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งการบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562
โดยในปี 2562 การบินไทยมีพนักงานประมาณ 29,000 คน ซึ่งปัจจุบันที่การบินไทยได้ดำเนินการปรับลด
ขนาดองค์กรสำเร็จลุล่วงแล้ว ทั้งโดยการลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงาน
ที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการร่วมใจจากองค์กร
MSP A ทำให้วันนี้การบินไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 21,000 คน และคาดว่าในปี 2564 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน ซึ่งจะทำให้
มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 ถึง 15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต

นายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยต่อไปว่า การบินไทยยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์
ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้นทำให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบินในระยะสั้นจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างสมบูรณ์ คณะผู้ทำแผนจึงได้ดำเนินการเจรจาจัดทำข้อตกลงเพื่อปรับเงื่อนไขการใช้เครื่องบินกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน โดยปรับค่าเช่าเป็นลักษณะยืดหยุ่นตามชั่วโมง
การใช้งานจริง รวมถึงได้มีการจัดกลุ่มนักบินให้มีความเหมาะสมกับแบบของเครื่องบินและปรับชั่วโมงการบิน
ซึ่งจะทำให้การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบินได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

นายชาญศิลป์ฯ แจ้งว่า หลังจากการบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
ในลำดับถัดไป เจ้าหนี้จะได้รับสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากคดีนี้
มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนมาก ทั้งเจ้าหนี้ในประเทศไทยและต่างประเทศ การบินไทยจึงได้รับอนุญาต
ให้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้และประหยัดทรัพยากร
โดยเจ้าหนี้สามารถสแกน QR Code เพื่อเข้าดูและดาวน์โหลดแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้จากหนังสือ
แจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้ที่จะได้รับจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งนายชาญศิลป์ฯ คาดว่าเจ้าพนักงาน
พิทักษ์ทรัพย์จะส่งหนังสือแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้ พร้อมลิงก์สำหรับเข้าดูและดาวน์โหลดแผนฟื้นฟูกิจการ
ให้เจ้าหนี้เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี หากเจ้าหนี้ท่านใดประสงค์จะรับสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับรูปเล่ม สามารถ
มาติดต่อขอรับได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การบินไทย วิภาวดีรังสิต ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป เปิดทำการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยขอให้ผู้ติดต่อรับสำเนา
แผนฟื้นฟูกิจการ นำหลักฐานที่แสดงสถานะความเป็นเจ้าหนี้ในคดี หรือหลักฐานการมอบอำนาจมาแสดงด้วย
ในส่วนของการประชุมเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้จะได้รับแจ้งวัน เวลา และสถานที่ประชุมจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่ปรากฏในหนังสือแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

อนึ่ง การบินไทยได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจัดเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
กับเจ้าหนี้ทั้งหลายมากที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้จะได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้
และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยในเบื้องต้น คณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยผู้ทำแผนได้เตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนเอาไว้เป็นอย่างดีและได้ดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปแล้วดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น ได้เตรียมแผนการประกอบธุรกิจ ได้เริ่มเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการ
ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น ในส่วนของพนักงาน มีการลดจำนวนผู้บริหาร อีกทั้งยังมีการลดขั้นตอน
การบังคับบัญชา เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ คล่องตัวขึ้น คณะผู้ทำแผนจึงมั่นใจได้ว่าผู้บริหารแผนจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้การบินไทยกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในฐานะสายการบินแห่งชาติของประเทศไทยได้ต่อไป

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *