27/04/2024

จี้รัฐบาลเร่งเจรจาแหล่งพลังงานกับกัมพูชา

 

 

“พิชัย-เพื่อไทย” ชี้ 8 เหตุผลต้องเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา  จี้ยิ่งเร็วยิ่งได้ประโยชน์และแก้ปัญหาด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูง อีกทั้งได้รายได้เพิ่ม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ค่าไฟฟ้ากำลังจะพุ่งขึ้นอีกจาก หน่วยละ 4.72 บาท อาจขึ้นเป็นหน่วยละ 5.37, 5.70 หรือถึง 6.03 บาทเลย ตามที่ได้เคยเตือนไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล

การประชุม G 20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และต่อด้วยการประชุม APEC ที่กรุงเทพมหานครที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้ผู้นำประเทศที่สำคัญหลายคนจะไม่มาเช่น ผู้นำสหรัฐ ผู้นำรัสเซีย ฯลฯ  และ การประชุมจะดูเหมือนจะไม่คึกคักนักในเวทีโลก แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการจัดประชุมครั้งนี้  หากไทยจะใช้เวทีนี้ในการเจรจากับประเทศกัมพูชาในเรื่องการนำแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชามาแบ่งปันอย่างยุติธรรม เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ ทั้งนี้อยากให้ 8 เหตุผลที่ไทยควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงานดังนี้

 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

 

  1.  ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้
  2.  ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาร์ ลดลง โดยในปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก แถมยังมีปัญหาการส่งมอบสัมปทานยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมอบยิ่งลดลง อีกทั้งประเทศเมียนมาร์มีความขัดแย้งอย่างมากภายในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมาร์ยิ่งลดลง ทั้งนี้ ราคาก๊าซจากอ่าวไทยและราคาก๊าซจากเมียนมาร์มีราคาถูกกว่าราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามามาก ซึ่งทำให้ได้ต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังมีปริมาณมากเกินพอที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม
  3.  ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนอีกทั้งเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ เพราะในปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเวียดนามมาก อีกทั้ง จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้ากันอีกในเดือนมกราคมซึ่งจะมากกว่าหน่วยละ 5.37 บาท และ อาจพุ่งถึงหน่วยละ 6.03 บาทเลย ประชาชนจะยิ่งเดือดร้อนกันมาก
  4.  ในอนาคตการใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน จะใช้ลดลงมากเนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น ก๊าซและน้ำมันในอนาคตอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้
  5. ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้ง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ขึ้นมาได้ ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก
  6.  นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงานแล้ว รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่าง ไทย และ กัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปีโตรเคมี โรงงานพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม จ้างงาน และ จ่ายภาษีให้รัฐทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีรายได้นิติบุคคล และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้กับรัฐได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และ ผู้สูงอายุได้
  7.  ค่าภาคหลวงที่จะได้รับน่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น
  8. การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

 

ทั้ง 8 เหตุผลนี้ ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยควรเร่งการเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยเร็ว เพราะทั้งสองประเทศจะได้พลังงานใช้ในราคาถูก อีกทั้งจะได้รายได้เข้ารัฐอย่างมหาศาล นอกจากนี้ไทยเองยังได้ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีที่มีมูลค่ามหาศาลอยู่แล้ว ให้ดำเนินต่อไปได้

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *