18/05/2024

“อาเซียน-จีน”ในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ไทย

 

 

ในการเสวนาหัวข้อ “ความร่วมมืออาเซียน-จีนในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ไทย”  ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  ร่วมกับศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ณ อาคารบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิทยากรร่วมการเสวนาประกอบด้วย นายอุดม สุขสุดประเสริฐ  อดีตนายกสมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่  นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ  ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย  พรรคไทยสร้างไทย  ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  นายจตุรงค์ กอบแก้ว  บรรณาธิการข่าว EEC NEWS  นางสาวอรทิพย์ ทัศนีย์ทอง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ดำเนินการเสวนาโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการ The Leader Asia และอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

ดร.วิรุฬห์กล่าวว่า ในด้านการศึกษานั้นกระทรวงศึกษาของจีนมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาของไทยและอาเซียนมายาวนานประมาณ 17 ปีแล้ว  มีการประชุมด้านการศึกษาจีน-อาเซียน ที่เมืองกุ้ยโจว 12 ครั้งแล้ว  เฉพาะไทยนั้นมีการตั้งสถาบันขงจื่อจำนวน 16 แห่ง มากที่สุดในโลก  น่าคิดว่าทำไมจึงให้ความสำคัญกับไทยมาก  จีนส่งเสริมให้ข้าราชการไทยไปเรียนภาษาจีนระยะสั้นที่จีนเพราะภาษาคือสะพานเชื่อมด้านมิตรภาพ

 

ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี

 

แนวคิดของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน คือแต่ละประเทศมีความชอบธรรมในการนำพาประชาชนของตนเอง  ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย  จีนประสบความสำเร็จในการขจัดความยากจน  นานาชาติสามารถไปเรียนรู้ได้  แต่แนวคิดหรือวิธีการของจีนอาจจะเหมาะกับจีน  ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ  และไม่เอาไปยัดเยียดให้คนอื่น

นางสาวธิดารัตน์ มองด้านการเมือง   ตอนนี้มี 3 ประเด็นใหญ่ที่เป็นจุดเปลี่ยนในการเมืองระหว่างประเทศ

1.โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดมา 2 ปีครึ่งแล้ว จะเห็นว่ามีความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ที่ดีสม่ำเสมอ  จีนให้ความช่วยเหลือเกือบทุกประเทศทั้งวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดี

2.วิกฤติเศรษฐกิจ  ขณะนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่หนักสุดในรอบหลายสิบปี  การที่จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ  มีกำลังซื้อและกำลังการผลิต  หากจีนฟื้นอาเซียนและโลกจะฟื้นตามไปด้วย

3.สงครามรัสเซีย-ยูเครน  หลายประเทศในอาเซียนมีจุดยืนที่คล้ายกับจีน

 

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ 

 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดถึง Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน  ตอนนี้มนุษยชาติเจอภัยพิบัติร่วมทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสงคราม  การจะออกจากวิกฤติครั้งนี้ต้องร่วมมือกันอย่างWin Win  มุ่งไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมั่งคั่งร่วมกันได้อย่างไร  หลายคนอาจมีสมมติฐานว่าระเบียบโลกใหม่อาจทำให้เกิดความแตกแยก  ความไม่เห็นด้วยซึ่งกันและกัน  อาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย

วิเคราะห์ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน มองได้ 3 มิติ คือ  ความเป็นหุ้นส่วน  เห็นได้ชัดเรื่องโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)   ความเป็นเพื่อน   และความเป็นพี่น้อง เช่นไทย-จีน

อะไรที่เป็นผลกระทบจากระเบียบโลกใหม่  อาเซียนได้เรียนรู้จีนมากขึ้น  4 ข้อคือ 1.BRI ทำให้เกิดการพัฒนา  ทำให้เกิดการเชื่อมต่อด้านการเดินทาง การขนส่ง  2.การขจัดความยากจน  จีนใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ  เป็นงานละเอียดอ่อนและยิ่งใหญ่มาก ที่อาเซียนสามารถเรียนรู้ได้  3.ความเสียสละของผู้นำ  และ 4.การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ

นายอุดม กล่าวว่า จีนกับอาเซียนมีการทำการค้ากันมากว่า 700 ปี  ก่อนมหาอำนาจเกิดหลายร้อยปี   ตลาดจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน อาเซียน 650 ล้านคน รวมกันมากกว่า 2,000 ล้านคน เกิน 25% ของประชากรโลก ตอนนี้จีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน  ส่วนอาเซียนคือคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน

 

นายอุดม สุขสุดประเสริฐ

 

ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนเมื่อปลายปี 2564  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวไว้ 5 ประการ มีเรื่องสภาพภูมิอากาศ  การส่งเสริมด้านการศึกษาของเยาวชน  จีนจะให้ความช่วยเหลืออาเซียนเป็นเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 3 ปีเพื่อช่วยการต่อสู้กับโควิด-19 และการพัฒนาเศรษฐกิจ  และจะสั่งสินค้าที่มีคุณภาพและสินค้าเกษตรจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอีก 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 5 ปี  รวมถึงจะช่วยสร้างนักวิทยาศาสตร์ 300 คนภายใน 5 ปี  แสดงถึงจิตใจที่เอื้ออาทรต่อประชาชนในกลุ่มอาเซียน

ในสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ  ราคาพลังงาน การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยากขึ้นแพงขึ้น  อาหารขาดแคลน ฯลฯ  จะเป็นการส่งเสริมให้อาเซียน – จีน ต้องทำการค้ากันมากขึ้น  และจีน-อาเซียนจะแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น

นางสาวอรทิพย์ กล่าวว่าวงการบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  วงการบันเทิงเติบโตขึ้นมาเป็นระยะ  10ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนจาก  ยุคอนาลอคสู่ยุคดิจิทัล  มีแพลทฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย  ประชาชนเข้าถึงสื่อออนไลน์มากขึ้นซึ่งมีสื่อบันเทิงรวมอยู่ด้วย ภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ส์ เพลง

 

นางสาวอรทิพย์ ทัศนีย์ทอง

 

2ปีกว่าที่เกิดโรคระบาดโควิดมีผลให้ประชาชนเสพสื่อบันเทิงออนไลน์มากขึ้น  มีการพัฒนาคอนเท้นท์  มีผลให้เยาวชนจีนอยากเรียนภาษาไทย  เยาวชนไทยอยากเรียนภาษาจีน  นอกจากนี้ยังมีงานเบื้องหลังการผลิต เช่นงานออกแบบ กราฟฟิก ครีเอทีฟ แอนนิเมชั่น ฯลฯ ทั้งการผลิตโฆษณา  คลิปวิดีโอ  และซีรี่ส์  ที่นักศึกษาจีนนิยมถือเอาผลงานไทยเป็นกรณีศึกษา

นายจตุรงค์ ให้ความเห็นด้านสื่อสารมวลชนว่า  จีนให้ความสำคัญด้านข่าวสาร  นอกจากมีสำนักข่าวและผู้สื่อข่าวในอาเซียนจำนวนมากแล้ว  ยังมีความร่วมมือด้านข่าวสารในการแลกเปลี่ยนข่าวสารของแต่ละประเทศ  ซึ่งจะได้ประโยชน์รวมไปถึงข่าวสารประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนด้วย  อีกทั้งจีนมีการเชิญสื่อมวลชนไทยไปดูงานทำข่าวที่ประเทศจีนบ่อยครั้งทำให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้ความเข้าใจจีนมากขึ้น  แทนที่จะรับข่าวสารจากสื่อตะวันตกด้านเดียว   

 

   

นายจตุรงค์ กอบแก้ว  

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *