27/04/2024

ประชุมอเมริกา – อาเซียน มีอะไรรออยู่ที่วอชิงตัน ?

 

 

โดย ขุนพล กอเตย

กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาว่า  บรรดาผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา-อาเซียน สมัยพิเศษ ( U.S. – ASEAN  Special Summit)  ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2022 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา  เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการกระชับความร่วมมือในหลากหลายด้าน  อาทิ การรับมือกับโควิด-19 ความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือทางทะเล การพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

โฆษกทำเนียบขาวแถลงในวันเดียวกันว่า  การประชุมดังกล่าวจะแสดงถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทที่สหรัฐฯ มีต่ออาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยเล็งเห็นถึงบทบาทหลักของอาเซียนในการคลี่คลายความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะเป็นการเฉลิมฉลอง 45 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนอีกด้วย

การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีไบเดนได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนทางออนไลน์ เมื่อเดือนตุลาคม 2564  โดยเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯคือการเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงและพึ่งพาได้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เพื่อยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ “เสรีและเปิดกว้าง มั่นคง เชื่อมโยง และพร้อมรับมือ

 

 

สำหรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกของอาเซียนนั้น  แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมพลาดที่จะล็อกปฏิทินเพื่อเดินทางไปร่วมเวทีใหญ่ที่ทั้งโลกจับตามอง  เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมรู้เหมือนที่โลกรู้ว่า  วาระการประชุมครั้งนี้นอกจากที่บอกกล่าวว่าเป็นการต่อยอดจากปลายปีก่อนแล้ว  เจ้าภาพอย่างสหรัฐฯย่อมมุ่งเป้าไปอีกอย่างน้อย 3 เรื่องที่อาจจะต้องปิดประตูคุย

  1.     กรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สหรัฐฯและพวกพ้องในยุโรปยังดันหลังให้ยูเครนต่อสู้ยืดเยื้อ  และยังเดินหน้าหาทางคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย
  2. ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ( INDO-PACIFIC STRATEGY) ที่สหรัฐฯเป็นศูนย์กลางและต้องการปิดล้อมจีน
  3. ปัญหารัฐบาลเผด็จการและการละเมินสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งรัฐบาลไบเดนถือว่าเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯที่ต้องมีบทบาทในการเข้าแก้ไขเพื่อคืนประชาธิปไตยแก่เมียนมา

เกมการเมืองระดับภูมิภาคเช่นนี้มหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างจีนย่อมไม่อาจอยู่นิ่ง  เมื่อต้นเดือนเมษายน หวัง อี้  มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมหารือ  นอกจากกระชับความสัมพันธ์ ผลักดันโครงการเส้นทางสายไหม( BRI) หรือการร่วมลงทุนพัฒนาระบบขนส่งระหว่างประเทศแล้ว  แน่นอนว่าได้หารือเรื่องความเป็นกลางของอาเซียนในกรณีรัสเซีย-ยูเครน

สมาชิกอื่นๆอีก 6 ประเทศนั้น จีนมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย บรูไน ส่วนเวียดนามนั้นแม้จะมีปัญหาทะเลจีนใต้แต่ก็ยังคุยกันได้ในฐานะชาติเอเชียที่มีศัตรูร่วม

สำหรับ “สิงคโปร์” ที่วันนี้ทำตัวเหมือน “แกะดำ”ของอาเซียน   เมื่อนายกรัฐมนตรีลี เซียงลุง ชิงจังหวะบินเดี่ยวไปนั่งเสนอหน้าคุยกับประธานาธิบดีไบเดนให้สื่ออเมริกันตีข่าวไปทั่วโลก  โดยก่อนหน้านั้นสิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ประกาศร่วมคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามจับตาว่า  ในการพบกันที่วอชิงตันครั้งต่อไปผู้นำสิงคโปร์ กับโจ ไบเดน จะจับมือ จูบปาก หรือถึงขั้นตวัดลิ้นกันแค่ไหน

จีนมองว่าสหรัฐฯมีเจตนาแอบแฝงแน่นอนตามสไตล์ที่ชอบเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้ง  เข้าแทรกแซง  ยึดครอง  กอบโกยผลประโยชน์  แล้วถีบหัวส่ง  ดังนั้นการนัดเลี้ยงน้ำชากับชาติสมาชิกอาเซียนก่อนไปจิบกาแฟที่วอชิงตัน  จึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยกันล่วงหน้า

ประเด็นที่สมาชิกอาเซียนต้องสนใจทำการบ้านเพื่อเตรียมส่งคำตอบคือ

 

 

รัฐบาลสหรัฐฯประกาศชัดเรื่องการฟื้นฟูความเป็นผู้นำของอเมริกาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก  เพื่อรับมือกับความท้าทายเร่งด่วนโดยพุ่งเป้าไปที่ “พญามังกร”ที่สหรัฐฯมองว่าเป็นทั้งคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ  เป็นความท้าทายและภัยต่อความมั่นคง   โดยยกเอาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคโควิด-19 มาเป็นข้ออ้างผสม

ยิ่งหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน  สหรัฐฯยิ่งหมายหัวจีนว่าให้การสนับสนุนรัสเซีย  ทั้งไม่ร่วมประณาม ไม่คว่ำบาตรเศรษฐกิจ แถมยังขยายการค้า เปิดช่องทางการเงินหยวน-รูเบิล ให้รัสเซียหายใจ  รับซื้อก๊าซจากรัสเซียในขณะที่สหรัฐฯแบนพลังงาน  ถือเป็นการหยามหน้าสหรัฐฯและอียู

ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการต่างๆของสหรัฐฯที่จะดำเนินการตามสโลแกน “เสรีและเปิดกว้าง มั่นคง เชื่อมโยง และพร้อมรับมือ จะตามมาอย่างรวดเร็วและเข้มข้นสำหรับกลุ่มอาเซียนที่บอกว่าวางตัวเป็นกลาง แต่สหรัฐฯก็รู้ว่าแอบแบ่งใจให้จีนที่อยู่ในโซนเอเชียและใกล้ชิดกันมากกว่า

การที่สหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีไบเดนกลับมาแสดงท่าทีตีสนิทอาเซียนอีกครั้งในวันนี้  ชัดเจนว่าเพื่อรักษาภาพพจน์ของความเป็นผู้นำโลกด้านประชาธิปไตย  หวังเบรกอิทธิพลจีนในภูมิภาคอาเซียน  หาพวกมาร่วมปิดล้อมจีน

 

 

การกลับมาครั้งนี้สหรัฐฯบอกต่ออาเซียนว่าจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  จะดำเนินงานตามเป้าหมายของอาเซียน  ไบเดนเคยมีหนังสือเป็นทางการต่อกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2022 ว่า “สหรัฐอเมริกาเคารพความเป็นกลางของอาเซียน

แต่สัญญายังฉีกทิ้งกันได้  พูดไปแล้วยังกลืนน้ำลาย  แค่ตัวอักษรไม่กี่คำบนจดหมายจึงไม่อาจยึดมั่น

10 ชาติอาเซียนคงต้องไปฟังเนื้อแท้ที่วอชิงตัน  และเตรียมคำตอบไว้ให้ดีถ้าไบเดนจะส่งใบ “ออร์เดอร์” ให้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *