26/04/2024

พลิกวิกฤติ Covid-19 สู่โอกาสทางธุรกิจ

 

 

ตั้งแต่ COVID-19 ระบาดทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องพากันปรับตัวใหม่ภายใต้วิกฤติ และมีงานวิจัยจาก Hitachi Capital Business Finance ที่พบว่าธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กจำนวนมากมีความสามารถในการแก้ปัญหาและยืดหยุ่นอย่างไรในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานี้ โดยผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า 57% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการมีสุขภาวะที่ดีของพนักงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องบริษัทไว้ ผู้นำธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เปิดรับคำแนะนำจากบุคคลรอบข้างมากขึ้น ซึ่งการได้พูดคุยกับผู้อื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและแนวคิดว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจบริหารสถานการณ์วิกฤติ

ทั้งนี้การวิจัยยังพบความแตกต่างของวิธีการหาคำแนะนำของเจ้าของธุรกิจ โดยธุรกิจที่อายุน้อยซึ่งดำเนินการโดยผู้นำรุ่นใหม่จะใช้แหล่งข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ และมักต้องการคำแนะนำในทันที จึงหันไปใช้ช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งพบว่าธุรกิจที่อายุน้อย (อายุกิจการน้อยกว่า 10 ปี) มีแนวโน้มที่จะใช้การหาข้อมูลออนไลน์และ Social Media ถึง 62% ขณะที่ผู้นำธุรกิจที่มีอายุมากกว่ามักจะต้องการได้รับข้อมูลแบบเห็นหน้ากันมากกว่า ซึ่งอาจมาจากที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้มากกว่าการค้นหาทางออนไลน์ โดยพบว่าธุรกิจที่อายุมาก (อายุกิจการมากกว่า 20 ปี) มีแนวโน้มที่จะใช้ที่ปรึกษามืออาชีพและเครือค่ายธุรกิจถึง 87% ซึ่งความแตกต่างระหว่างรุ่นนี้เกิดจากคนรุ่นก่อนที่คุ้นเคยกับโลกธุรกิจที่ต้องใช้ห้องประชุมเป็นเวทีในการหารือเพื่อแก้ปัญหาเป็นหลัก

Joanna Morris หัวหน้าฝ่ายการตลาดและข้อมูลเชิงลึกของ Hitachi Capital Business Finance อธิบายว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีความพิเศษเฉพาะตัว ด้วยการปรับตัวได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น ประกอบการมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาธุรกิจไว้เหนือกว่าบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว กลุ่มธุรกิจครัวใช้มุมมองธุรกิจระยะยาวสร้างโครงการเพื่อปรับทักษะและฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวกำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเอาชีวิตรอดเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ธุรกิจครอบครัวที่ดีนั้นมีจุดแข็งที่พนักงานและลูกค้ามีความจงรักภักดี อีกทั้งยังสามารถสร้างสินค้า บริการ หรือโมเดลธุรกิจใหม่ได้ง่ายจากความเชี่ยวชาญของครอบครัว เหตุผลเหล่านี้ทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงอยู่ได้ท่ามกลางบริษัทน้อยใหญ่ที่ทยอยล้มหายตายจากไปในวิกฤติครั้งนี้

มีการศึกษาผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำรวจโดย Society for Human Resource Management (SHRM) พบว่า พนักงาน 1 ใน 5 คนรู้สึกเหนื่อยหน่ายในการทำงาน (burnt out) ส่วนเจ้าของธุรกิจที่ปกติต้องทำงานโดยเฉลี่ยกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ธุรกิจครอบครัวกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการรับมือกับไวรัสโคโรนาอย่างหนัก ถึงแม้เจ้าของธุรกิจมักจะประสบกับความเครียดในการทำงานเป็นปกติ แต่ความเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของบุคคลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนมีโรคประจำตัวอยู่แล้วด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความบกพร่องของการรู้คิด เป็นต้น ทั้งนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพิ่มความเครียดให้กับเจ้าของธุรกิจจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับระดับความเครียดสูงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาของคนในครอบครัวและพนักงาน รวมถึงรายได้ของบริษัทที่หดหายไปด้วย ประกอบกับธุรกิจครอบครัวมีเส้นแบ่งระหว่างภาระเรื่องส่วนตัวและภาระทางธุรกิจที่ไม่ชัดเจนเหมือนบริษัททั่วไป ดังนั้นเจ้าของธุรกิจครอบครัวจึงมักมีแนวโน้มในการเกิดความเหนื่อยหน่ายและความเครียดสูงมาก ทั้งนี้ความเครียดคือการตอบสนองของร่างกายต่อแรงกดดันจากประสบการณ์หรือสถานการณ์ในชีวิตที่ต้องเผชิญ โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่แบบแรกเป็นความเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress) เป็นความเครียดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่งผลให้เกิดการตอบสนองแบบ “ต่อสู้หรือหนี” โดยที่อาการจะหายไปทันทีที่ความเครียดหายไป แบบที่สองความเครียดต่อเนื่อง (Episodic Stress) เกิดจากมีความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีเป็นประจำและบุคคลไม่มีเวลาฟื้นตัวจากความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้ความอดทนต่อความเครียดโดยรวมลดลง และความไวต่อสิ่งกระตุ้นเพิ่มขึ้น แบบสุดท้ายเป็นความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) เป็นความเครียดระยะยาวจากสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจิตและร่างกาย นอกจากความเครียดเหล่านี้จะสร้างปัญหาอย่างมากให้กับเจ้าของธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงพนักงานและการดำเนินกิจการอีกด้วย การรู้ตัวว่าเรามีความเครียดแบบไหนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

การจะรับมือวิกฤติโควิท-19 สำหรับธุรกิจครอบครัว นั้นมีความจริงอยู่สองประการคือ ผู้นำที่พาธุรกิจครอบครัวฝ่าวิกฤติได้สำเร็จมักจะมาจากคนในครอบครัว ผู้นำเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะ ถ้าแม่ทัพยถอดใจ กองทัพจะแพ้ ในช่วงเวลาวิกฤติองค์กรต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา ในขณะเดียวกันครอบครัวคงฝากความหวังไว้กับคนนอกได้ยาก ครอบครัวจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกัน และใช้จุดแข็งของธุรกิจครอบครัวที่ผู้นำจากครอบครัวมักจะเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง รักองค์กรและพนักงานของตนเอง มีตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวชั้นดีมากมายที่มีอายุหลายร้อยปี และแน่นอนว่าครอบครัวเหล่านี้คงต้องเคยฝ่าวิกฤติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ความจริงอีกประการคือ ธุรกิจครอบครัวปรับตัวช้าในภาวะปกติ แต่ปรับตัวได้เร็วในภาวะวิกฤติ ครอบครัวชั้นดีมักจะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการรีเอนจิเนียริ่งธุรกิจเพราะมองเห็นว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ นั้นโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคตมีน้อย หรือรูปแบบการทำงานที่ทำอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในภาวะปกติที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมเงื่นไขด้านครอบครัวทำให้การจะเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่โควิท-19 นั้นทำให้ทุกอย่างช้าลง รวมถึงเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ก็พิเศษ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจเสียใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธุรกิจครอบครัว ด้วยการกำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจ วางยุทธศาสตร์ รวมถึงจัดระบบการบริหารใหม่ทั้งของธุรกิจและครอบครัว หลายเรื่องที่ไม่เคยทำได้ในช่วงเวลาปกติแต่วิกฤติจะทำให้เรื่องยากๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ทำการสืบทอดธุรกิจ ทรานฟอร์มสู่ยุคดิจิตอล หรือเลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เป็นต้น

 

ที่มา: Andrews, P. 2020.  The Adaptability Of Family Businesses.  Available: https://familybusinessunited.com/2020/11/09/the-adaptability-of-family-businesses/

Managing Stress in a FamilyOwned Business.  November 23, 2020.  In Human Resources.  Available:https://www.ahola.com/managing-stress-in-a-family-owned-business/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *