27/04/2024

Stagflation แค่ฝันร้ายหรือหายนะ

 

โดย ขุนพล กอเตย

 

ขณะนี้มีการพูดกันมากว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation  หรือภาวะที่เงินเฟ้อขึ้นสูงมากควบคู่กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ   หลังจากที่เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตุกันมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าไทยกำลังจะเผชิญกับสถานการณ์อันตรายดังกล่าว

ย้อนไปช่วงปลายปี 2564 จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565  เมื่อถามเรื่องนี้กับนักเศรษฐศาสตร์หลายคน  คำตอบคือยังเชื่อว่าไม่น่าจะเกิด Stagflation กับประเทศไทย  เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุขให้ข่าวทุกวันว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเบาบางลงเพราะฉีดวัคซีนกันเยอะมากแล้ว  ต่อไปจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดที่ตายเป็นเบือเหมือนที่ผ่านมา  จึงทำให้เชื่อต่อไปด้วยว่าทั้งโลกจะผ่อนคลาย  ผู้คนจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยว  การค้าขายจะคึกคัก  เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตตามศักยภาพ  ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่องเงินเฟ้อและของแพงจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินไว้เมื่อต้นปี 2565 ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 1-3% คงประมาณ 1.7%  สถานการณ์โควิดสามารถควบคุมได้  การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีประมาณ  3.4%   แต่ก็ยอมรับว่ายังมีคนที่เดือดร้อนที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่รายได้ยังไล่ไม่ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้น  โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหารสดและพลังงาน  และในความเป็นจริงยังมีคนว่างงานกว่า 3 ล้านคน  ยังมีคนชั้นกลางที่ร่วมเผชิญปัญหาค่าครองชีพ  มีการคาดการณ์ด้วยว่ารายได้ที่ลดลงช่วงโควิดกว่าจะฟื้นกลับต้องใช้เวลายาวนานซึ่งไม่ใช่ปีนี้หรือปี 2566

เศรษฐกิจไทยไม่ได้เจอปัญหาเงินเฟ้อมานาน  ช่วง 5 ปีย้อนหลัง พ.ศ.2560-2564 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียงแค่ 0.57%  เฉพาะปี 2564 ที่โลกเริ่มฟื้นตัวจากโควิดราคาน้ำมันเริ่มขยับช่วงปลายปีอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับ 1.23%  นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จึงวางใจว่าปี 2565 ทั้งปีเงินเฟ้อคงไม่เกิน 2%

ในข้อเท็จจริงบวกกับความรู้สึกของคนไทย  เศรษฐกิจไทยนั้นชะงักงันมาพักใหญ่ด้วยปัญหาการเมืองภายใน  จนมานิ่งสนิทในปี 2563-2564 ที่โควิด-19 แพร่ระบาดพร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ที่แม้จะผ่อนคลายมาตรการแต่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

ครั้นเมื่อจรวดลูกแรกจากรัสเซียถูกยิงใส่ยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565  การสู้รบที่นึกว่าจะเร็วแต่กลับยืดเยื้อกว่าเดือนเพราะยูเครนได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากกลุ่มนาโต้ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นขาใหญ่  ประกอบกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ลามไปถึงเรื่องการซื้อ-ขาย น้ำมันและก๊าซ  จึงกลายเป็นการปั่นราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบทั่วโลก

สหรัฐอเมริกาที่คุยโม้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วแต่เงินเฟ้อเดือนมีนาคมพุ่งถึง 7.9% สูงสุดในรอบ 40 ปีกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศ  สหราชอาณาจักร ขุนพลอยพยักของเมริกา เจอภาวะเงินเฟ้อ 6.2% สูงสุดในรอบ 30 ปี  ประเทศไทยแม้จะอยู่ห่างไกลสงครามยุโรป เงินเฟ้อเดือนมกราคม 3.23 % เดือนกุมภาพันธ์ 5.28%  เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี คาดว่าตัวเลขเดือนมีนาคมมีความเป็นไปได้ที่จะแตะ 6%

ตัวเลขเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการนั้นวัดจากการบริโภคของประชาชนโดยรวม  แต่คนที่มีรายได้น้อยมีน้ำหนักการใช้จ่ายด้านอาหารสดและพลังงานสูงกว่าคนที่มีรายได้มาก  ตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนกันว่ารายได้โตไม่ทันค่าครองชีพที่ถีบตัวหนีห่างออกไปทุกวัน

ประชาชนอยู่กับ Fact & Feeling คือความเป็นจริงกับความรู้สึก ระหว่างเงินในกระเป๋ากับราคาสินค้า  เศรษฐกิจไม่ดี เจอโควิด 2 ปี ค้าขายไม่ได้ทุนหายกำไรหด เงินเดือนไม่ขึ้น  ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้เพิ่ม  แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี  อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนคือ “ของแพงค่าแรงถูก” ยังไม่นับเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งมาจ่อคอหอยและกำลังจะท่วมหัว

ปลายเดือนมีนาคมช่วงสิ้นไตรมาสแรก มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่แล้วว่าตลอดทั้งปีนี้ไม่มีทางเติบโตตามที่คาดหมายไว้แต่ต้นแน่เพราะมีปัจจัยลบรุมเร้ามากมาย   สำนักวิจัยบางสำนักปรับลด GDP จาก 3.7% เหลือแค่ 2.5%

แม้จะมีข่าวดีขึ้นมาบ้างว่าการเจรจาสงบศึกระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน น่าจะได้ข้อยุติในเร็ววัน  แต่พ่อค้าอาวุธรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาคงไม่รามือจากรัสเซียง่ายๆจากการแทรกแซงยูเครน  หรือเลิกล้มการคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย  อีกทั้งยังอาจหันกลับมาคิดบัญชีทำสงครามการค้าหนักข้อยิ่งขึ้นกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  หรืออาจรวมไปถึงอินเดียในฐานะผู้สนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่รัสเซีย

 

คำถามถึงรัฐบาลคือจะรับมือกับ Stagflation อย่างไร?

รัฐบาลยังจะนั่งฝันตามสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 3.5-4.5% เพราะเงินเฟ้อแค่ 1.5-2.5% การบริโภคในประเทศจะโต  ท่องเที่ยวจะฟื้น  ส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องอย่างนั้นหรือ

          กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังฝันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มจาก 4 แสนคนในปี 2564 เป็น 10 ล้านคนในปี 2565 สร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท  โดยไม่คิดว่าจีนยังปิดประเทศ  รัสเซียกับยูเครน ต่อให้หยุดรบก็คงไม่มีใจจะเที่ยวเพราะต้องฟื้นฟูบ้านเมืองอีกนาน  กลุ่มยุโรปตะวันตกที่เป็นลูกค้าใหญ่ทั้งสมาชิกอียู และนาโต้ ยังอ่วมกับผลกระทบสงคราม ถึงขนาดต้องเตรียมตุนไม้และถ่านเอาไว้จุดไฟแทนก๊าซ รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียงในแถบเอเชียที่พากันอ่อนแรง

นโยบายการเงินการคลังอย่างเดิมๆมาบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยในประเทศ เช่น คนละครึ่ง  ลดเงินสมทบประกันสังคม  เที่ยวด้วยกัน ตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม  ย่อมไม่ใช่คำตอบระยะยาว

ปัญหาเงินเฟ้อในยามปกติแก้ไม่ยากในมุมของนักเศรษฐศาสตร์   ตามทฤษฎีคือหากเศรษฐกิจร้อนแรงก็แตะเบรกด้วยการขึ้นดอกเบี้ย  แต่ในยามไม่ปกติที่สินค้าและบริการถูกบีบให้ปรับขึ้นราคาเพราะต้นทุนด้านพลังงาน  การขนส่ง หากขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์

รัฐบาลต้องคิดใหม่ในการบริหารจัดการโดยใช้กลไกที่ไม่บิดเบือนตลาด  เพราะมิเช่นนั้นต่อไปอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า  หรือเกิดการกักตุนสินค้า  เกิดการเก็งกำไร  กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาและหายนะของรัฐบาลในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *