อพท. ผนึกพลังพันธมิตรเพื่อนบ้าน หนุนไทยเป็น Hub of ASEAN
พท. ศึกษาและพัฒนา 5 เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ตรึงแผนที่วัฒนธรรม ปักหมุดเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้อัตลักษณ์ร่วมอาเซียน ผ่านการสืบค้นคุณค่าสู่มูลค่า ยกระดับการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (Single Tourism Destination) และตอบโจทย์นโยบาย Ignite Tourism Thailand ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (Hub of ASEAN) หวังเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและภาคธุรกิจในภูมิภาค
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.กล่าวในโอกาสที่เป็นประธานเปิดการประชุมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวเชื่อมโยงอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 -29 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเบส เวสเทริ์น จตุจักร ว่า ภารกิจหลักของ อพท. ที่ทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานเพื่อสร้างความยั่งยืนใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยกระดับงานพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เพียงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยประเทศเดียว แต่ อพท. ยังได้เชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมของประเทศอาเซียน ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในภาพรวมและยังใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และส่งต่อวัฒนธรรมอาเซียนให้เป็นที่รู้จัก หวังเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจและในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในประเทศในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป โดยนำแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับประเด็นที่องค์การการท่องเที่ยวโลก (UN Tourism) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปกป้องรักษามรดกและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการยกระดับการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (Single Tourism Destination) ตามวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประชาคมอาเซียน และตอบโจทย์นโยบาย Ignite Tourism Thailand ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Hub of ASEAN) หวังเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน
** ระดมความเห็นและสร้างเครือข่าย 5เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มว่า การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อผลการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน จากเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวจากอาเซียน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษาและชุมชนท่องเที่ยวจากประเทศไทย กัมพูชา สปป. ลาว และมาเลเซีย โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูง อาทิ Chief Executive Officer of Cambodia Tourism Board, Director of Department of Kampot Tourism รองหัวหน้าแผนกแถลงข่าววัฒนธรรมและท่องเที่ยวแขวงหลวงพระบาง มาร่วมกันระดมความคิดเห็นและร่วมออกแบบ 5 เส้นทางท่องเที่ยว เพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่างของเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงอาเซียน สร้างแรงจูงใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกในการเดินทางมาท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนเรียนรู้อัตลักษณ์และวัฒนธรรม สร้างความประทับใจ ความผูกพันระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจและในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ (1) เส้นทางราชมรรคา อีสานใต้- เสียมเรียบ (นครธม) กัมพูชา (2) เส้นทางวิถีชีวิตริมโขง เชียงคาน เลย-แขวงเวียงจันทน์ แขวงไชยบุรี แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว (3) เส้นทางแห่งศรัทธา พุทธศาสนาและชาวสยาม ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-รัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) -ปีนัง มาเลเซีย (4) เส้นทางอารยธรรมสองฝั่งโขง เชียงแสน–แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และ (5) เส้นทางการค้าทะเลตะวันออก ตราด-เมืองกำปอด กัมพูชา-เมืองฮาเตียน เวียดนาม โดยหลังจากวันนี้ อพท. จะนำผลการร่วมออกแบบเส้นทางและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม นำไปร้อยเรียงพัฒนาต่อยอด ทดสอบเส้นทาง ก่อนจะผลักดันเข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นของไทยและอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป