04/05/2024

จีนส่งออกภาวะเงินฝืด กระทบศก.ไทย-อาเซียน

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า  มีการคาดการณ์ว่าภาวะเงินฝืดและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงของจีนมีโอกาสยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือนถึงหนึ่งปี และ ยุคสมัยของความรุ่งเรืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 10% ของจีนได้จบลงแล้ว

จีนอาจไม่ได้เผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยยาวนานเหมือนญี่ปุ่นเคยเผชิญเนื่องจากจีนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้มแข็งกว่า  มีตลาดภายในใหญ่กว่า  ตอบสนองต่อพลวัตปัญหาวิกฤติฟองสบู่ในภาค                          อสังหาริมทรัพย์ และภาคการลงทุนได้เร็ว  และยังมีความพร้อมทางด้านการคลังการเงินในการผ่อนคลายและอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แม้นหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในสัดส่วนที่สูงก็ตาม

 

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีน โดยมีอัตราเงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง อุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้ จึงมีการส่งออกสินค้าต่างๆในราคาถูกมากทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน  ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของไทยและอาเซียน กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและติดลบในบางประเทศ

จีนส่งออกภาวะเงินฝืดผ่านการทุ่มตลาด  การที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้เกิดสภาวะ  ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคชะลอการซื้อเพราะคาดว่าราคาจะปรับลดลงอีก  ผู้ผลิตชะลอการผลิตเพราะขายไม่ได้ราคา  ภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอุปทานสูง (มีส่วนเกินของผลผลิตมากจากการลงทุนส่วนเกินหรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง)  มีอุปสงค์ต่ำ (การบริโภคลดลงมาก) หรือ อุปทานเงินลดลงและดอกเบี้ยสูง

ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อลดต่ำลงดังกล่าวยังเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภาพของแรงงานและทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีที่ทำให้การแข่งขันมากเกินไป  ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะเจ้าหนี้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาระหนี้แท้จริงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น  มูลค่าแท้จริงของหนี้สินสูงขึ้น และ เป็นภาวะที่คนที่ถือเงินสดได้ประโยชน์เพราะอาจเกิดโอกาสของการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้มากขึ้น

 

 

ดัชนีหุ้น CSI300 ของจีนปรับตัวลดลงแล้วไม่ต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2564 ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตล้วนปรับตัวติดลบ ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ตัวเลขล่าสุดเดือนมกราคมดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงติดลบ -2.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคาติดลบเป็นเดือนที่สี่เหมือนประเทศไทย โดยจีนมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -0.8% ไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -1.1%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินฝืดและอัตราเงินเฟ้อติดลบในจีนนั้นย่ำแย่กว่าไทย แม้นติดลบต่อเนื่องสี่เดือนเหมือนกัน   แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีที่แล้วของจีนติดลบ ขณะที่ไทยยังคงเป็นบวกอยู่  สถานการณ์เงินเฟ้อจีนติดลบจะส่งผลให้สินค้าราคาถูกมากหลากหลายชนิดทะลักเข้าตลาดไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนต้องออกจากตลาดไป

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *