08/07/2024

คนไทยมองบวกเศรษฐกิจปี’67 ไม่เชื่อวิกฤติแต่รับดิจิทัลหมื่นบาท

 

เผยผลสำรวจคนไทยส่วนใหญ่ยังมองบวก  ไม่เชื่อว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤติและปีมะโรงเศรษฐกิจจะดีขึ้น  การกู้เงิน5แสนล้านบาทไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนแถมเพิ่มความเสี่ยง  แต่ถ้าแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทก็รับเอาไว้ใช้จ่าย  โดยรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ออกนโยบายต้องร่วมกันกับรับผิดชอบ 

 

 

นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  ผู้อำนวยการ อปท.นิวส์โพล  และ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษา

ด้านวิชาการ ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 14-27 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปภายใต้หัวข้อ  เงินดิจิทัล 10,000 บาท กู้มาแจกใครแบกหนี้  โดยได้ออกแบบสอบสำรวจโดยใช้ฐานข้อมูลจากบัญชีรายชื่อสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน  1,328 คน เป็นชาย 650 คน  หญิง 599 คน ไม่ระบุเพศ 79 คน

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวเป็นผู้มีอายุ 50ปีขึ้นไป 37.7%  อายุ 20-30ปี 29.7%   อายุ 41-50 ปี 18.4%   อายุ 31-40 ปี 8.7%  และต่ำกว่า 20ปี 5.6%  ด้านการศึกษาส่วนใหญ่ระดับปริญญาตรี 52.8%  สูงกว่าปริญญาตรี  28.9%  ต่ำกว่าปริญญาตรี 18.3%  โดยมีทั้งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ  พนักงานบริษัทเอกชน  ผู้ประกอบการอิสระ  ข้าราชการบำนาญ  ผู้เกษียณอายุ และนิสิตนักศึกษา

 

 

สำหรับคำถามสำคัญที่ว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันถือว่าเป็นวิกฤติและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาทเพื่อแจกเงินประชาชนหรือไม่  ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  31.5%  รองลงมาไม่เห็นด้วย 29.5%  เห็นด้วยว่าวิกฤติ 11.7% และเห็นด้วยอย่างยิ่ง 10.3% อีก 17 % เฉยๆ

เมื่อถามว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะดีขึ้นหรือไม่  ส่วนใหญ่ 34.9% ตอบว่าน่าจะดีขึ้น   29.5% ตอบว่าไม่แน่ใจ   22.7% มองว่าน่าจะแย่ลง   8.1% เชื่อว่าจะแย่แน่ๆ  สวนทางกับอีก 4.8% ที่มั่นใจว่าจะดีขึ้นมาก จากประเด็นดังกล่าวทีมงานลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อตอกย้ำคำถามนี้พบว่าประชาชนยังเชื่อมั่นว่าปี 2567 เศรษฐกิจน่าจะขยับไปในทิศทางที่นี้กว่าปี 2566 เพราะรัฐบาลน่าจะสามารถใช้งบประมาณได้แต่ไม่ควรให้ประชาชนเฝ้ารอนานเกินไป

 

 

ถามถึงหลักเกณฑ์ในการแจกเงินดิจิทัลที่ว่าจะให้เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท  หรือมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท มีความเหมาะสมหรือไม่ 25.2% ตอบว่าไม่เหมาะสม  24.5% ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง  21.2% เห็นว่าเหมาะสม  19.5% มองเฉยๆ  9.6% ตอบว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง

เมื่อถามว่าอยากได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทหรือไม่  ส่วนใหญ่ 31.6% ตอบว่าเฉยๆ 24.4%  ตอบว่าอยากได้ และ อยากได้อย่างมาก  13.3%   มี 15.4% บอกว่าไม่อยากได้อย่างมาก  และไม่อยากได้ 15.2%

ถามต่อไปว่าถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะรับหรือไม่  ผู้ตอบแบบสอบถาม 40.7% ตอบว่ารับ   และรับทันที16%  ไม่อยากรับเพราะไม่ต้องการ 13.2%  ไม่อยากรับ  11.7%  มีผู้ตอบเฉยๆ 18.3%  โดยเมื่อรับเงินแล้วจะใช้หรือไม่ 41% ตอบว่าจะทยอยใช้ และใช้ทันที 16.1%  ไม่ใช้แต่จะเก็บออม  4.6% ที่เหลือ 18.6% ยังยืนยันว่าไม่ต้องการ  และไม่ออกความเห็น 19.7%

การที่รัฐบาลพยายามจะออกพ.ร.บ.กู้เงินในวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่  53% บอกว่าไม่แน่ใจ  23.4% เชื่อว่าผิดวินัยการเงินการคลัง  14.5% มอง่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ  แต่ 9% มองว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

 

ต่อคำถามที่ว่าการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท มาแจกประชาชนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อประเทศหรือกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่   64.2% ตอบว่าเพิ่มความเสี่ยง   16.9% กระตุ้นเศรษฐกิจ   ไม่แน่ใจ 16%   ไม่สนใจขอให้ได้เงิน  1.4 %  ไม่เพิ่มความเสี่ยง 1.5 %

โดยเฉพาะประเด็นนี้ทางคณะทำงานลงสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มต่างๆทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า  กลุ่มเยาวชน กลุ่มข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มพนักงานเอกชนและกลุ่มอาชีพอิสระในประเด็นยอมรับได้ไหมที่คนไทยต้องแบกหนี้จากการที่รัฐบาลออก พรบ กู้เงินในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกันว่ายอมรับไม่ได้ที่จะต้องมารับหนี้จากรัฐบาลออก พ.ร.บ. กู้เงินครั้งนี้ แต่หากออก พ.ร.บ. กู้เงินควรมีความรอบครอบและโปร่งใสในการแจกเงินและต้องสร้างความเข้าใจต่อภาคสังคมให้มากกว่านี้

ถามว่าท่านคิดว่าสส.ในสังกัดพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะยกมือสนับสนุนร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทหรือไม่ 45.4% ตอบว่าไม่แน่ใจ  43.5% เชื่อว่าจะยกมือสนับสนุนแน่นอน  มีเพียง 11.1% ที่เห็นว่าจะไม่ยกมือสนับสนุน

แล้วสมาชิกวุฒิสภาหรือสว.ล่ะ จะยกมือให้ผ่านร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทหรือไม่  47.6% ดูสถานการณ์แล้วไม่แน่ใจ  30.7% มั่นใจว่าจะยกมือสนับสนุนฝั่งรัฐบาลแน่นอน  แต่ 21.7% กลับคิดว่าจะไม่ยกมือให้  ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีสว.บางท่านออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางรัฐบาลแล้วว่า  ประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่วิกฤติดังนั้นเงินดิจิทัลปีนี้ไม่ได้ใช้แน่

ถามว่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้นใครควรรับผิดชอบ   38.4% ตอบว่าพรรคการเมืองที่ออกนโยบาย  30.9%ระบุว่ารัฐบาล  12.4% รัฐสภาที่ผ่านกฎหมาย   11.2% ระบุประชาชนที่รับเงินต้องรับผิดชอบ  ที่เหลือไม่แน่ใจ  7.1%

สุดท้ายแล้วถามว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลจะเป็นจริงหรือล้มเหลว  ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 51.2% บอกว่าไม่แน่ใจ   34.2% เชื่อว่าล้มเหลวแน่นอน  แต่ 14.5% เชื่อว่าจะเป็นจริงเพราะรัฐบาลตั้งใจทำงาน

อาจเป็นเพราะทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงความมั่นอกมั่นใจในการกู้เงินว่าได้เดินหน้าต่อแน่  เดือนพฤษภาคมนี้ได้แจกเงินแน่…แม้จะเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *