เพื่อไทยอุดรฯย้ำชัด เลือกประธานสภาเป็นเอกสิทธิ์
“เกรียงศักดิ์” ส.ส.อุดรธานีพรรคเพื่อไทย ชี้การเลือกประธานสภาฯต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย สำคัญต้องมีบารมีเพราะต้องประสานทุกฝ่ายในสภาฯเพื่อให้สภาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของชาติ ชี้หากอ้างต้องได้ตำแหน่งเพื่อผลักดันกฎหมายที่เป็นนโยบายของพรรคตนเองนั้น “แค่คิดก็ผิดแล้ว” เพราะตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นกลาง เผย ส.ส.หลายคนไม่สบายใจ ที่ถูกกดดัน
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเรื่องการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นต้องได้รับการยอมรับจาก ส.ส.ทุกพรรค รวมไปถึง ส.ว.เพราะต้องดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย และที่ไม่ควรมองข้ามคือการได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วย ประธานสภาฯจึงควรมีวัยวุฒิและคุณวุฒิ ทั้งประสบการณ์และบารมี เพราะต้องขับเคลื่อนสภาฯเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
“ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่หากมีประสบการณ์ผ่านการเป็น ส.ส.มาหลายสมัยเช่น 4 หรือ 5 สมัยก็จะมีประสบการณ์ มีความชำนาญแม่นในข้อบังคับต่างๆ ที่สำคัญการเป็น ส.ส.หลายสมัยก็จะเพื่อนในหลายๆพรรคการเมือง หรือเคยทำงานในกรรมาธิการสภาด้วยกัน ก็จะทำให้สามารถประนีประนอมจากสมาชิกทุกคนในสภาฯที่ล้วนหลากหลายความคิด เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้สภาฯขับเคลื่อนไปใช้เวทีสภาในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่าการอ้างว่าต้องการผลักดันนโยบายและข้อกฎหมายของพรรคที่ตนสังกัดผ่านตำแหน่งประธานสภานั้น แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะตำแหน่งประธานสภาฯต้องเป็นกลาง และทุกพรรคล้วนสามารถผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับนโยบายพรรคของตนได้ทั้งสิ้น ที่สำคัญล้วนมีขั้นตอนและการดำเนินการอย่างชัดเจน สภาชิกต้องใช้สภาฯขับเคลื่อนนโยบายของทุกพรรค แม้นว่าบางนโยบายจะริเริ่มจากพรรคฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภา ถ้าหากเป็นเรื่องที่ดีเราก็ต้องช่วยกันในการผลักดันออกเป็นกฎหมาย
“ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีพรรคไหนชนะเด็ดขาดเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เหมือนที่พรรคไทยรักไทยเคยทำได้ สุดท้ายแล้วก็มาจบที่การโหวตในสภาฯ ซึ่งเป็นความชอบธรรมเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะเลือกใครก็ได้ หากมีคนเสนอและมีผู้รับรองครบตามจำนวนที่กำหนด ในกลุ่ม ส.ส.ภาคอีสานหลายคนที่ได้ฟังสมาชิกจากพรรคบางพรรคที่บอกว่าต้องการตำแหน่งนี้เพื่อผลักดันกฎหมายของพรรคก็มีความรู้สึกไม่สบายใจ บางท่านถึงกับเปรียบเทียบว่าจะให้พระบวชใหม่มานั่งหัวแถวโดยไม่ต้องนั่งตามพระลำดับเลยหรือ”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่าการขับเคลื่อนประเทศต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย การออกมากดดันจากสมาชิกของพรรคหรือผู้สนับสนุนทั้งเรื่องตำแหน่งและเรื่องนโยบายว่าจะต้องดำเนินการตามนี้เท่านั้น หากไม่ได้ตามนี้ก็จะมีมวลชนออกมานั้นไม่สมควรที่จะทำเช่นนั้น บางครั้งก็ต้องห้ามปรามสมาชิกหรือผู้สนับสนุนของพรรคตนเองบ้าง เพราะทุกเรื่องล้วนมีคณะทำงานในการประสานงานพรรคร่วมที่จะร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แม้แต่คณะทำงานเองของทุกพรรคก็ไม่ควรตัดสินใจหรือออกความคิดเห็นส่วนตัวว่าตัดสินใจแล้วเรื่องนั้นเรื่องนี้ตำแหน่งนั้นหรือตำแหน่งนี้ เพราะคณะทำงานต้องทำข้อเสนอจากการประสานงานมาขอมติของพรรคแต่ละพรรคว่าเห็นว่าอย่างไรในแต่ละเรื่องแต่ลำตำแหน่ง
“ผมคิดว่าพวกเราควรเดินทีละก้าว กินทีละคำ ไม่สะเปะสะปะ ทำทีละเรื่องเป็นขั้นเป็นตอน เช่นตอนนี้เรื่องแรกคือเลือกประธานสภา ต่อจากนั้นก็เลือกนายกรัฐมนตรี แล้วจึงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี การไปชี้ชัดว่าพรรคไหนควรได้ตำแหน่งประธานสภา หรือชี้ว่าพรรคไหนได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคไหนได้โควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไหนบ้างนั้นไม่ถูกต้อง ถ้าหากเป็นเช่นนั้น ส.ส.ก็ไม่ต้องไปลงมติเลือกตำหน่งประธานสภาฯและนายกรัฐมนตรีในสภาฯแล้วสิ”นายเกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย