17/05/2024

ชาวหลักหกรุกต่อต้านถมคลองเปรมฯ หน่วยงานรัฐหลับตาอ้าง“แผนแม่บท”

 

ประชาชนตื่นรู้หน่วยงานรัฐมั่วนิ่มถมคลองเปรมประชากร  อ้างแผนแม่บทฯป้องกันน้ำท่วมรุกล้ำคลอง  แต่กลับหลับหูหลับตาถมคลองกว้างจาก50เมตรเหลือ25เมตรเพื่อสร้างบ้านมั่นคง  ชี้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วหากปล่อยต่ออาจหายนะ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 นายภาณุเมศวร์ ศิรินรานันตร์ ตัวแทนประชาชนชาวหลักหก ได้นำชาวบ้าน  ในพื้นที่ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เข้าร้องเรียนถึงความเดือดร้อนจากการที่หน่วยงานของรัฐสนับสนุนให้ทำการถมคลองเปรมประชากรเพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงซึ่งเป็นการกระที่ผิดกฎหมาย  อีกทั้ง ไม่เคยทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่สองฝั่งคลอง  ไม่ทำการศึกษาผลกระทบ สิ่งแวดล้อม(EIA)  จนเมื่อฝนตกหนักทำให้การระบายน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติมีผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหมู่บ้านใกล้เคียง

 

 

นายภาณุเมศวร์กล่าวว่า  คลองเปรมประชากร​ ขุดโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่​ 5 เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และได้ทรงมอบที่ดินสองฝั่งคลองให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ทำมาหากินตลอดแนวคลอง  นับตั้งแต่ขุดเสร็จในปี พ.ศ.2413 ถึงปัจจุบัน คลองเปรมประชากรมีอายุ​ 153​ ปี​ ถือเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน​ คลองมีความกว้างประมาณ 50 เมตร แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีการสมคบคิดถมคลองเปรมฯให้แคบลงเหลือขนาดความกว้างเพียง 25 เมตร โดยอ้าง “แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร” ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562

ในแผนแม่บทฯดังกล่าวมี 2 เรื่องสำคัญคือ การสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ ที่มีสำนักการระบายน้ำ กทม. และกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผดชอบเป็นหลัก  กับการพัฒนาชุมชนริมคลองที่มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กำกับดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รับผิดชอบสร้างบ้านมั่นคง

 

 

“กรมธนารักษ์​ผู้ให้เช่าที่ราชพัสดุ กรมชลประทานผู้ดูแลคลองเปรมประชากรและผู้ส่งมอบที่ราชพัสดุคืนให้กับกรมธนารักษ์ ​ กรมโยธาธิการและผังเมือง​ผู้สร้างเขื่อนกลางคลองแต่ไม่สร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งริมคลอง กรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้จัดตั้งสหกรณ์และเอาใครไม่รู้มาอยู่ในสหกรณ์​  พอช.​ผู้ออกแบบวางแบบแปลนโครงการบ้านมั่นคง เป็นผู้จัดการโครงการ  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นผู้ดำเนินการและผู้อำนวยการตามที่มหาดไทยสั่งการลงมาแต่ไม่เคยลงพื้นที่มาดูสภาพความเป็นจริง ​ เทศบาลตำบลหลักหกผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการถมคลอง  โดยเพียงแจ้งให้เทศบาลทราบและเป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้าง  กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้​  ถามว่าเอาอำนาจอะไรมา​บังอาจถมคลองที่เสด็จพ่อ​ ร.5 ทรงขุดไว้ให้ปวงประชาราษฎร และคณะที่ประชุมใดกำหนดให้คลองเปรมประชากรมีขนาดความกว้างเหลือเพียง 25 เมตรจากเดิม 50 เมตร” นายภาณุเมศวร์ตั้งคำถามต่อทุกส่วนงานที่รับผิดชอบ

 

 

คลองเปรมประชากรในตำบลหลักหกนี้ เปรียบเสมือนแก้มลิงขนาดใหญ่ที่สุดเพราะมีความกว้างถึง 50 เมตร สามารถอุ้มน้ำในดินได้มากตามความกว้างเดิม เป็นพื้นที่คอยรับน้ำไหลย้อนกลับจากพื้นที่ งามวงค์วาน หลักสี่ ดอนเมือง และในตำบลหลักหกฝั่งตะวันตก โดยในปี 2554 ซึ่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เคยใช้แก้ไขในการระบายน้ำท่วมขังที่ประตูน้ำเปรมใต้  แต่ปัจจุบันคลองเปรมฯไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากถูกถมเหลือความกว้างเพียง 25 เมตรเพื่อสร้างบ้านมั่นคงแทนที่จะขยายความกว้าง  ไม่มีการทำเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้งสองฝั่งคลอง ไม่มีการขุดลอกคลองให้ลึก 4 เมตรตามแผนแม่บทที่กล่าวอ้าง

นายภาณุเมศวร์กล่าวในตอนท้ายว่า  ชาวหลักหกได้พยายามร้องถึงความไม่ถูกต้องในเรื่องนี้ไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่ดูเหมือนโครงการนี้มีอำนาจพิเศษกำกับอยู่ทำให้ข้าราชการพยายามลอยตัวและอ้างแผนแม่บทฯมาตลอด  จึงอยากเพื่อให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้รับรู้และรีบหยุดการก่อสร้างทันที  เพราะปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว   หากยังไม่ระงับการก่อสร้างความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดตามมาในภายหลังอาจประเมินค่าไม่ได้

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *