17/05/2024

กลไกตลาดเสรี ทางออกสินค้าเกษตร ทางรอดเกษตรกรไทย

 

โดย ณัฐภัทร ร่มธรรม นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร

การปรับลดลงของราคาหมูหน้าฟาร์มและเนื้อหมูหน้าเขียง อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือน เป็นบทพิสูจน์สำคัญของ “กลไกตลาด” ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ที่มีปริมาณอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply)  เป็นตัวกำหนดทิศทางของราคาสินค้า เมื่อปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี โดยไม่ต้องมีใครกำหนดราคาหรือควบคุมปริมาณการผลิต ในที่สุดราคาจะกลับสู่สมดุลได้เอง โดยไม่มีการควบคุมให้กลไกผิดเพี้ยน

ถามว่ากลไกตลาดหมูทำงานอย่างไร ทำความเข้าใจง่ายๆ จากปริมาณหมูทั่วประเทศที่ลดลงไปมากกว่าครึ่ง ทำให้ระดับราคาสูงขึ้นตาม จากนั้นผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมการบริโภคเอง ด้วยการหยุดบริโภคเนื้อหมูไประยะหนึ่ง เมื่ออุปสงค์กับอุปทานกลับมาอยู่ในระดับเดียวกัน ราคาหมูจึงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องได้ให้ความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

  • อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวถึงสถานการณ์ราคาหมูขณะนี้เป็นไปตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งราคาขายมีแนวโน้มต่ำลง ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการของเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาหมูแพง โดยปัจจุบันหมูมีราคาที่ผู้บริโภครับได้ ขณะเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศให้ความร่วมมือรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มโดยตลอด “จึงยังไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้าหมูเข้ามา” นอกจากนี้ การสู้รบระหว่างรัสเซียและซูเครน 2 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวลาสีรายใหญ่ของโลก โดยรัสเซียผลิตข้าวสาลีอันดับ 2 และยูเครนอันดับ 10 มีการผลิตข้าวสาลีรวมกันถึง 29% ของโลก และทั้งสองประเทศผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมกันได้ถึง 16% ของโลก ความตึงเครียดดังกล่าวจึงมีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบการเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยต้นทุนของเกษตรกรไทยสูงขึ้น 10% แล้ว
  • นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ บอกว่า ปัจจุบันเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น ตามสถานการณ์โลกที่มีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น จากวิกฤติยูเครน อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐเดินหน้านโยบายดูแลพี่น้องเกษตรกรคนเลี้ยงหมู โดยไม่เปิดนำเข้าหมู เข้ามาซ้ำเติมทุกข์ของเกษตรกร ทำให้ภาคผู้เลี้ยงมีกำลังใจร่วมกันผลิตหมูปลอดภัยต่อไป ขอเพียงภาครัฐยึนเคียงข้างเกษตรกร ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้ราคาหมูเกิดเสถียรภาพ และเป็นแรงจูงใจอย่างดี ทำให้เกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก หันกลับมาเลี้ยงหมู ปริมาณหมูจึงเข้าสู่ระบบมากขึ้น ตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการผลักดัน
  • นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ กล่าวว่าราคาหมูและเนื้อหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าบริหารจัดการป้องกันโรคในหมู และภาวะโรคหมู ทำให้ผู้เลี้ยงหมูหายไปจากระบบ ส่งผลให้ปริมาณหมูแม่พันธุ์และหมูขุนลดลง สวนทางกับความต้องการบริโภคหมูเพิ่มมากขึ้น การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ไม่ถูกจำกัดโดยภาครัฐ ทำให้ราคาหมูปรับเข้าสู่สมดุลได้เอง ถือเป็นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และอาชีพของเกษตรกรที่เข้าถึงหัวใจของปัญหาอย่างแท้จริง การไม่ให้มีการนำเข้าเนื้อหมูเข้ามา นับเป็นนโยบายที่ถูกต้องของภาครัฐที่ไม่เข้ามาแทรกแซงตลาดหมูในประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงหมูมากขึ้น
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวในงานเสวนา “สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาด คือทางออก?” ว่าปัญหารัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ย 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงได้ในครึ่งปีหลังเฉลี่ย 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ไทยมีปัญหาราคาเนื้อหมูปรับขึ้น ซึ่งคาดว่ากว่าจะเพิ่มผลผลิตหมูได้ต้องใช้เวลาเป็นปี ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลี 1 ใน 5 ของโลก ทั้งนี้มาตรการตรึงราคาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะเป็นการกดดันทำให้เอกชนลดการผลิตสินค้า และผู้ประกอบการก็อาจจะต้องปรับตัวจัดการต้นทุน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รัฐบาลควรแก้ไขและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแบบเจาะจง
  • VOA รายงานว่า ทั่วโลกเผชิญหน้ากับปัญหาราคาอาหารสูงขึ้นอยู่ก่อนแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยสงครามในยูเครนส่งผลให้ราคาสัญญาซื้อขายในตลาดกลางชิคาโก ทั้งข้าวสาลีสูงขึ้นมาก 40% และข้าวโพดสูงขึ้น 16% สงครามยังทำให้ปริมาณการขายเชื้อเพลิงทั่วโลกชะงักงัน ปัญหานี้จะยิ่งเลวร้ายลงอย่างมากหากการแซงชั่น (sanctions) รัสเซีย ถูกขยายไปถึงการส่งออกพลังงานด้วย

จะเห็นว่าภาคปศุสัตว์กำลังประสบปัญหาใหญ่ จากภาวะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เรื่องนี้กระทบกับการผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ผลิตหลายรายต้องลดกำลังการผลิต ย่อมส่งผลให้ภาคการเลี้ยงสัตว์ขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์ ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เพราะถูกภาครัฐควบคุมราคาหรือตรึงราคาสินค้า ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงตลาด ที่จะกลายเป็นทางตันของปัญหาในที่สุด หากภาคผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรทั้งหมดถอดใจเลิกเลี้ยง คนรับผลของเรื่องนี้คือ ผู้บริโภคที่จะไม่มีอาหารโปรตีนรับประทาน ความมั่นคงทางอาหารของไทยต้องพังลง

วันนี้ภาครัฐต้องใช้ความสำเร็จของ “การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี” จากราคาหมูที่ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แล้วเป็นต้นแบบ ต้องยกเลิกมาตรการคุมราคาสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต และเปิดทางให้กลไกตลาดเสรีเป็นทางออกของสินค้าเกษตร เป็นทางรอดของเกษตรกร ให้พวกเขาวสามารถผลิตสินค้าได้ตามกำลังของตนเอง โดยมีความต้องการตลาดเป็นตัวชี้นำราคา และเป็นแนวทางการวางแผนการผลิตของตัวเกษตรกรเอง เพื่อรองรับการบริโภคของประชาชน ดังคำพูดที่ว่าราคาสินค้ามีขึ้นย่อมมีลงเป็นธรรมดา โดยไม่ต้องมีใครมาแทรกแซงให้เสียเวลา./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *