03/05/2024

รัฐย้ำชัด!! “หมูไม่หาย” แล้วทำไม? ต้องนำเข้า นักวิชาการแนะควรปล่อยกลไกตลาดทำงาน

 

โดย : กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์

การอภิปรายทั่วไปของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่เพิ่งจบไป มีประเด็นซักถามหลัก 4 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องโรค ASF

ประเด็นนี้ ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงโดยย้ำว่า ไม่ใช่เพราะหมูป่วยเป็นโรคที่ทำให้หมูราคาแพง แต่มีกระบวนการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้แพง ยืนยัน รัฐบาลไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคระบาด ตรงกันข้ามรัฐได้หาทางแก้ไขอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด

ที่สำคัญการที่ไทยสามารถส่งหมูมีชีวิตไปประเทศเพื่อนบ้านได้มากกว่า 3 ล้านตัว ในปี 2563 และอีก 1.4 ล้านตัว ในปี 2564 ดังนั้น จะปิดบังไม่ได้เลยว่าหมูเป็นโรค เพราะประเทศอื่นก็ตรวจอย่างจริงจังเช่นกัน

นอกจากนี้ ปี 2563-2564 ไทยมีหมูแม่พันธุ์ประมาณ 1.1 ล้านตัว สามารถขยายพันธุ์ได้ 1 แม่ ต่อ 20 ตัว ดังนั้น ในปี 2564 ที่ผ่านมา จึงมีหมูขุน 19 ล้านตัว ขณะที่คนไทยบริโภคหมูวันละ 5 หมื่นตัว เท่ากับในหนึ่งปีคนไทยกินหมูไปทั้งหมด 18 ล้านตัว อีก 1.3 ล้านตัว เป็นการส่งออก ตัวเลขหมูจึงไม่ได้หายไปไหน

ขณะเดียวกันการที่กรมปศุสัตว์และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันสำรวจสต๊อกหมูปูพรมทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่าเหลือหมูถึง 12 ล้านตัว และในห้องเย็นกว่า 1,087 แห่ง มีเนื้อหมูในสต๊อก 25 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น ไม่ใช่โรค ASF ที่ทำให้หมูตาย หมูขาดตลาด แล้วส่งผลให้เนื้อหมูราคาแพง เพราะปริมาณหมูยังอยู่ครบ

คำตอบนี้ชัดเจนว่าปริมาณหมูของไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่ก็มิวายที่บางฝ่ายยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ อ้างว่าเพื่อเพิ่มสต๊อกหมูในประเทศ แต่เมื่อภาครัฐยืนยันหนักแน่นเช่นนี้ ก็ทำให้คิดไปได้ว่า ฤาจะเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตนเองกันแน่ ทั้งที่รู้ดีว่าการมาของหมูนอกนั้น ไม่ต่างกับการผลักเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้ดิ่งเหว จากสารพัดความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

ความเสี่ยงแรก : เนื้อหมูต่างประเทศอาจนำพาโรคหมูเข้ามาด้วย อุตสาหกรรมหมูไทยจึงมีความเสี่ยงจากโรคต่างถิ่นที่มากับหมูนำเข้า หากเชื้อโรคปนเปื้อนและกระจายเข้าสู่ฝูงหมูของไทย ซึ่งทุกคนต่างได้เห็นตัวอย่างความเสียหายแล้ว จากโรค ASF ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ความเสี่ยงที่ 2 : หมูต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าไทยมาก จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่า เนื่องจากประเทศในแถบยุโรปถือเป็นผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ด้วย ต่างจากไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาเพิ่มสูงถึง 30-40% และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก หมูไทยจึงไม่อาจแข่งขันด้านราคากับหมูนอกได้

ความเสี่ยงที่ 3 : สารอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อหมูนำเข้า เช่น สารเร่งเนื้อแดง ที่จะก่อโรคให้กับประชาชน และส่งผลกระทบทางด้านสาธารณสุขไทย

เมื่อรัฐยืนยันหนักแน่นว่าประเทศไทยไม่ขาดแคลนหมู การนำเข้าเนื้อหมูจึงไม่มีความจำเป็น และควรจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ด้วยการไม่ปล่อยให้หมูนอกเข้ามาขายปะปนหมูไทย และควรปล่อยกลไกตลาดทำงานดังเช่นที่ผ่าน ซึ่งทำให้ปริมาณหมูและการบริโภคกลับสู่สมดุล ราคาหมูจึงปรับตัวลดลงได้เองโดยไม่ต้องควบคุม หลังจากนี้ก็ต้องขอแรงผู้บริโภคให้หันมาบริโภคหมูเช่นเดิม เพื่อช่วยให้วงจรหมูกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *