03/05/2024

ผ่าโมเดลแก้โรคระบาดหมูจีน พลิกวิกฤติกลับสู่ความรุ่งโรจน์

 

โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูหรือ ASF ที่ถูกปิดข่าวเงียบมา 2 ปีทั้งๆที่ส่งผลให้หมูตายนับล้านตัว  จนในที่สุดเรื่องแดงเพราะหมูขาดตลาด  ราคาพุ่งเป็นเท่าตัวจนผู้บริโภคเดือดร้อนจนพากันร้องว่า “หมูแพงค่าแรงถูก”ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพที่สินค้าพากันชักแถวขึ้นราคามาก่อนหน้า  แต่ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีใครกล้ายืดอกเชิดหน้าออกมารับผิดชอบ  จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หวังนั่งเก้าอี้ให้ครบเทอม  ต้องทำงานข้ามหัวรัฐมนตรีหลายคน  เรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์มาร่วมประชุมที่ทำเนียบเพื่อรับนโยบายแก้หมูแพงโดยด่วน  ทั้งๆที่กว่าจะขุนลูกหมูให้มาเติมเต็มส่วนที่ขาดให้ราคากลับมาเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลายาวนานข้ามปี

ในระหว่างที่ไล่สกัดโรคASFไม่ให้ลามไปกว่านี้  และระหว่างที่รอลูกหมูรุ่นใหม่โต  พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะลองศึกษากรณีตัวอย่างเมื่อปีค.ศ.2018 ที่ASFเคยระบาดใหญ่ในประเทศจีน ทำหมูตายไปมากกว่า 300 ล้านตัว รัฐบาลจีนใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งจัดการโรคนี้จนสิ้นซาก  ทำให้วงจรหมู่กลับสู่ปกติจนถึงปัจจุบัน

           น.สพ.คมกริช บุญขจร Country Manager บริษัท เวทโปรดักส์ไชน่า (Vet Products China) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเวทโปรดักส์ กรุ๊ป (Vet Products Group) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคปศุสัตว์ และ โรงพยาบาลสัตว์ มีธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  อาทิ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า กัมพูชา และ ลาว  ได้เล่าถึงแนวทางการบริหารจัดการของรัฐบาลจีนในช่วงที่โรค ASF ระบาดว่าทำอย่างไรจึงผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

 

เกิดอะไรขึ้นกับหมูในประเทศจีน

น.สพ.คมกริช เล่าว่า ประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2018 มีรายงานการระบาดในประเทศจีนครั้งแรก ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นทั้งภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโรคนี้ระบาดอยู่แถวยุโรป ไม่เคยเข้ามาทางฝั่งเอเชีย ซึ่งในยุโรปมีมานานนับร้อยปีแล้ว พอโรค ASF เข้ามาทางจีนช่วงแรกรัฐบาลก็ยังสับสน ไม่รู้จะจัดการอย่างไร พอเกิดโรคขึ้นปุ๊บเขาก็พยายามสกัดให้เร็วที่สุด พร้อมกับแจ้งต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) ประกาศเป็นทางการว่ามีโรคระบาด ASF ในจีน ถ้าเจอภายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงานจะต้องทำลายหมู รัศมี 10 กิโลเมตรห้ามเคลื่อนย้าย รัฐบาลก็คาดหวังว่าจะจัดการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

น.สพ.คมกริช บุญขจร

 

แต่ ณ เวลานั้นเริ่มมีการกระจายไปพอสมควรแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในจุดที่เจอจุดแรก พอมีประกาศออกมาทุกคนก็แตกตื่น ฟาร์มต่างๆรีบระบายหมูทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคออกมาในตลาด มีการลักลอบขาย ลักลอบนำข้ามเขต กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดการระบาดที่เร็วขึ้น บางคนกลัวโดนปิดฟาร์มก็รีบเทหมูออกมา มีหมูถูกทิ้งข้างทาง หมูลอยมาตามน้ำ ทำให้การระบาดแพร่ไปเร็วยิ่งขึ้น ไล่จากทางภาคเหนือที่เจอเคสแรกๆในมณฑลเฮย์หลงเจียงจนมาถึงกวางตุ้ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก็กระจายไปทั่วประเทศ

ขณะที่ราคาหมูในช่วงแรกตกต่ำเป็นประวัติการณ์เพราะทุกฟาร์มขายออกมาพร้อมๆกันจนหมูล้นตลาด โดยก่อนเกิด ASF ราคาหมูคิดเป็นเงินบาท ณ เวลานั้น ประมาณ 65-70 บาท ลดลงมาต่ำสุดเหลือประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม จนกระทั่งการระบาดบานปลายหมูในจีนหายไปประมาณ (คาดการณ์) 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก่อนหน้าจะมี ASF จีนมีหมูประมาณ 45 ล้านแม่พันธุ์ ถ้าเป็นหมูขุนปีหนึ่งประมาณ 650 ล้านตัว ผ่านไปแค่ 10 เดือน เหลือหมูในประเทศที่คาดการณ์ไม่น่าจะเกิน 25 ล้านแม่พันธุ์ หมูขุนประมาณ 300 ล้านตัว ทำให้ราคาหมูพุ่งขึ้นไปสูงสุดประมาณ 37 หยวน หรือประมาณ 180-190 บาท (ปัจจุบันราคาหมูในจีนประมาณ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม)

 

 

การแก้ปัญหาของรัฐบาลจีน

อย่างที่รู้ว่าคนจีนกินหมูเยอะมาก การจะเปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์อย่างอื่นก็ยาก ในขณะเดียวกันเมื่อราคาหมูขึ้น เนื้ออย่างอื่นก็ขึ้นตาม คล้ายกับที่เมืองไทยเวลานี้ ในช่วงแรกที่มีการระบาด รัฐบาลจีนใช้วิธีเจอที่ไหนให้ ทำลายทันที ห้ามเคลื่อนย้ายเพื่อสกัดโรค ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะว่าราคาหมูแพงมาก

พอเริ่มสกัดโรคได้ รัฐบาลก็มอบนโยบายให้แต่ละมณฑลทำยังไงก็ได้ให้คนกลับมาเลี้ยงหมูให้เยอะที่สุด โดยที่เขาจะไปดูในแต่ละมณฑลว่ารายไหนบ้างที่มีศักยภาพ อันดับแรกเลยคือรายที่ไม่โดน ASF ขนาดฟาร์มเท่าไหร่ สามารถที่จะเป็นต้นแบบให้กับมณฑลนั้นได้ไหม รัฐจะลงไปพร้อมกับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับรายที่มีศักยภาพ เขาไม่ได้ให้ทุกราย เพราะถ้าให้ทุกรายโดยที่บางรายไม่มีการป้องกันทางชีวภาพที่ดีพอ ทำโรงเรือนระบบเก่าแบบเปิด ถ้าสนับสนุนให้ไปกลับมาเลี้ยงอีกก็จะเกิดโรคระบาดอีก เขาจึงมองรายที่มีระบบป้องกันรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นรายกลางรายเล็กสนับสนุนหมด  มีการจัดเขต จัดโซนนิ่ง สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้รัฐบาลจีนจัดการได้ดีมาก

ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาหมูแพงในช่วงนั้น รัฐบาลใช้การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลในประเทศ ช่วยเหลือผู้บริโภคภายในประเทศ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนระยะยาวกระตุ้นให้คนกลับมาเลี้ยงหมูให้เยอะขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งของราคาหมูที่สูงขึ้น กลายเป็นตัวดึงดูดคนที่มีเงินหรือคนที่ไม่เคยเลี้ยงหมูอยากเข้ามาเลี้ยงหมู กลุ่มทุนที่ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือไม่เคยอยู่ในวงการหมูก็เข้ามาเลี้ยง เพราะว่าเขามองว่าถ้าเลี้ยงแล้วไม่เป็นโรคน่าจะได้กำไรเยอะ

 

สาเหตุที่ทำให้เชื้อ ASF ระบาด

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ASF ซึ่งจุดที่ทำให้เสียหายอย่างหนัก อัตราการตายว่า 90% โดยมีตัวพาหะพาไป สมมติว่าฟาร์มนี้มีหมูเป็นโรค ถ้ารอบข้างไม่มีตัวพาเชื้อไปเชื้อก็จะอยู่ตรงนั้น ไม่แพร่กระจายในอากาศ ซึ่งพาหะสำคัญที่พาไปอันดับ 1 คือคนที่ทำงานในฟาร์ม เช่น ไปสัมผัสหมูที่เป็นโรค แล้วไปสัมผัสหมูอีกตัวหนึ่ง หรือรางน้ำถ้าต่อกันยาว กินน้ำจากรางเดียวกันก็ติดโรคได้ ถ้าเป็นระหว่างฟาร์มก็มาจากการขนส่ง เช่นล้อรถไปเหยียบเชื้อตามถนนแล้ววิ่งเข้าฟาร์มตัวเอง ขนวัตถุดิบเข้าฟาร์มนี้แล้วไปอีกฟาร์มหนึ่งก็ไปตามรถ หรือไปตามสัตว์พาหะ เช่น นก หนู ถ้าไม่ใช่ฟาร์มระบบปิดควบคุมไม่ได้

พอโรคเป็นแบบนี้จีนก็มีหลักปฏิบัติออกมา เป็นหลักปฏิบัติในการป้องกันโรค ASF ทำอย่างไรไม่ให้โรคเข้าฟาร์ม ถ้าเกิดโรคในฟาร์มจะต้องทำอะไร มีการซ้อมว่าถ้าโรคเกิดขึ้นในฟาร์มคนไหนรับผิดชอบอะไร หลักการของโรคนี้คือถ้ารู้เร็ว จัดการได้เร็ว หยุดการเคลื่อนย้ายหมู หยุดการเคลื่อนย้ายคน เชื้อก็ไม่ไปต่อ ไม่ใช่เป็นแล้วตายหมด 100 % ถ้ารู้วิธีการจัดการหยุดเชื้อไม่ให้กระจายได้

 

แนวทางปฏิบัติที่เข้มข้นของจีน

ตอนที่เกิดโรคระบาด ASF ในจีนต้องยอมรับว่าเป็นโรคใหม่จริงๆ กว่าจะรู้วิธีการจัดการ ทำให้โรคสงบ หรือลดการระบาดใช้เวลาพอสมควร ระดมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มานั่งคิดนั่งเขียนกันว่ามาตรการจะทำอย่างไร มีหลักปฏิบัติอย่างไร บรรยากาศคล้ายกับโรคโควิด-19 ที่ระบาดในคนตอนนี้เลย ช่วงนั้นคนที่ทำงานในฟาร์มของจีน หลังมาตรการออกมาหลายคนไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้ออกจากฟาร์มเป็นปี ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด

น.สพ.คมกริชกล่าวว่า แม้กระทั่งทุกวันนี้ถ้าตนเองจะเข้าไปในฟาร์มไหนก็ตามในประเทศจีน จะต้องไปพักที่โรงแรมแถวๆฟาร์มก่อน โดยเขาจะส่งคนออกมาตรวจ สวอปตามตัว ถ้าผลเป็นเนกกาทีฟถึงจะเข้าไปในฟาร์มได้ และที่ฟาร์มจะถูกแบ่งเป็น 2 โซนคือ โซนเลี้ยงหมู กับโซนที่พักอาศัยของคน  จะต้องอยู่บริเวณกักตัวสำหรับคนที่มาจากข้างนอกเพื่อตรวจโรค สวอปทุกวัน ข้าวของอุปกรณ์เอาเข้าไปไม่ได้ เสื้อผ้า โทรศัพท์ต้องผ่านการฆ่าเชื้อหมด บางฟาร์มไม่อนุญาตให้นำของจากข้างนอกเข้าไปเลย แม้กระทั่งเสื้อผ้าต้องเปลี่ยนใส่ของเขาทั้งหมด เขาเข้มงวดตรงนี้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน

เจ้าของฟาร์มจะบอกกับคนงานเลยว่า ถ้าฟาร์มไปต่อได้ มีหมูขาย พวกเราก็รอด เพราะฉะนั้นพนักงานทุกคนจึงพร้อมให้ความร่วมมือ ยกเว้นกรณีพิเศษที่จำเป็นจะต้องกลับบ้านจริงๆเขาจึงจะออกจากฟาร์ม แต่ขากลับเข้าไปก็จะต้องโดนตรวจแบบนี้เหมือนกัน บางฟาร์มมีข้อจำกัดว่ากลับบ้านไปคุณห้ามกินหมูนะ ห้ามไปตลาด ถ้าเขาจับได้ไล่ออกเลย เขาเคร่งครัดเรื่องพวกนี้มาก คือต้องบอกว่า ASF เป็นโรคที่ดิสรัปวงการหมูของจีนเลย

 

 ทำไมไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ASF

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโรค ASF ระบาดเฉพาะในยุโรป ซึ่งส่วนมากเป็นฟาร์มไม่ใหญ่ ประมาณ 200-300 แม่พันธุ์ แต่ละฟาร์มไม่ติดกัน พอเป็นโรค รัฐบาลสามารถทำลายสกัดไม่ให้โรคกระจายได้ การพัฒนาวัคซีนในยุโรปจึงมองว่าไม่จำเป็น ประกอบกับยังไม่ทราบว่าหนามตัวไหนที่เป็นตัวก่อโรค ยังอยู่ในช่วงการศึกษา แต่หลังจากที่จีนระบาดรอบที่แล้ว ทางภาคของฝั่งเอเชียเลือกที่จะหันมาให้ความสนใจและพัฒนาวัคซีนมากขึ้น  รัฐบาลจีนมอบหมายให้สถาบันศูนย์วิจัยในจีนอนุญาตให้พัฒนาวัคซีน ASF 5 มณฑล มีศูนย์ใหญ่อยู่ในฮาร์บิน ตอนนี้คืบหน้าไปมาก อย่างที่ฮาร์บินมีข่าวว่าภายในปีนี้อาจจะมีวัคซีนออกมา หรือที่หลานโจวก็อยู่ในขั้นตอนทดลองกับตัวหมูแล้ว

“ผมมองว่าถ้าเราเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาวัคซีน มีโอกาสที่จะทำได้ และมีแนวโน้มที่จะออกมาภายในปีนี้ หลายประเทศเริ่มทำ แต่ใครจะทำสำเร็จประเทศแรกต้องรอดูว่าจะเป็นที่ไหน เวียดนามก็มีข่าวว่าจะทำออกมาภายในปีนี้ แม้กระทั่งของไทยถ้าส่งเสริมกันจริงจัง ผมเชื่อว่าไทยมีนักวิชาการเก่งๆเยอะ มีความพร้อมสูง ใช้เวลาพัฒนาไม่นาน”

 

สถานการณ์หมูจีนในปัจจุบัน

ถ้าตามประกาศปี 2021 ประกาศโรคอยู่แค่ประมาณ 15 ครั้งเท่านั้นเอง ในจำนวน 15 ครั้งเป็นฟาร์มที่เป็นหลังบ้านจริงๆ รายย่อยๆเลย ในฟาร์มใหญ่หยุดประกาศไปนานแล้ว ประมาณ 2 ปีแล้ว หลังจากเจอในปี 2018 มีประกาศในปี 2019 ประมาณ 140 กว่าเคส ทำลายหมูไปเพียง 9 แสนตัว แต่หลังจากนั้นการประกาศก็ลดลงเรื่อยๆ ปี 2020 มี 18 เคส ปี 2021 มี 15 เคส  การทำลายหมูทั้งปี ผมว่าไม่ถึงหมื่นตัว น้อยมาก เป็นเคสรายเล็กจริงๆ ปัจจุบันสถานการณ์หมูในจีนกลับมาสู่ภาวะปกติ รัฐบาลส่งเสริมทั้งระยะสั้น ระยะยาว วันนี้ปริมาณหมูจีนกลับมาอยู่ที่ 45 ล้านแม่พันธุ์เท่าเดิม

 

มองการแพร่ระบาดในไทยอย่างไร

น.สพ.คมกริชกล่าวว่า  ระยะเวลาจะเหมือนจีนและเวียดนาม ที่จีนนับจากวันที่หมูหายไปจากตลาดประมาณ 50 % ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งในการที่จะกลับมาได้  เวียดนามเหมือนกัน ประมาณปีครึ่ง ราคาหมูถึงจะลงมาเป็นปกติ ยกเว้นว่ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม เช่นมีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ แต่ถ้าปล่อยไปตามกลไกกว่าจะกลับมาเลี้ยง กว่าจะเอาแม่พันธุ์เข้ามา กว่าจะรอคลอดลูก กว่าจะโต อย่างน้อยหนึ่งปีจึงมีผลผลิตออกมา แต่ว่าก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 เดือนปริมาณถึงจะเพิ่มขึ้นสู่ภาวะปกติ

โรคASFในด้านหนึ่งคือการพัฒนาระบบการเลี้ยงหมู สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติคือการพัฒนาวัคซีน เพราะว่าไทยมีนักวิชาการ มีสถาบันวิจัยต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือครบครัน สามารถใช้วิกฤตกรณ์ครั้งนี้ในการพัฒนาวัคซีน หากรัฐบาลทุ่มงบประมาณลงไป ในอนาคตเรายังสามารถส่งออกวัคซีนนำเงินเข้าประเทศได้อีก

แต่ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน อยากฝากถึงผู้เลี้ยงให้ดูตัวอย่างของจีนกับเวียดนาม เขาก็ยังกลับมาได้ทั้งที่ยังไม่มีวัคซีน อย่างจีนวันนี้มีหมู 45 ล้านแม่พันธุ์ ยังมีโอกาสจะไปต่ออีก เพียงแต่ว่าการกลับมาของไทยต้องกลับมาแบบมีหลักการ ไม่ใช่อัดเม็ดเงินลงไปให้รายย่อยเลี้ยงแบบเดิม  ถ้าทำแบบนั้นจะเหมือนกับเราไปหลอกเขา เพราะสุดท้ายเขาก็เลี้ยงไม่รอด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *