20/04/2024

ชุดหนังสือ “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้”

 

สำนักพิมพ์วิช และ มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภูมิใจเสนอ ชุดหนังสือทรงคุณค่า “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” ในวาระครบรอบ        ๘ ทศวรรษของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับผู้ที่ชื่นชอบบทเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และชนรุ่นหลัง พร้อมเป็นสื่อในการสืบสาน ค้นคว้ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและดุริยศิลป์ เพื่อฝากไว้เป็นอนุสรณ์คู่แผ่นดิน

ชุดหนังสือทรงคุณค่า “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด ๘ เล่ม ได้แก่ ๑. หนังสือพระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์ ๒. หนังสือเอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน ๓. หนังสือ ๑๐๐ เพลงดี ๑๐๐ ปี เอื้อ สุนทรสนาน ๔. หนังสือแก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๕. หนังสือสุรัฐ พุกกะเวส ยอดขุนพล เพลงสุนทราภรณ์ ๖. หนังสือชอุ่ม ปัญจพรรค์ คีตกวีผู้สร้างสรรค์ บทเพลงรักหวาน อันแสนไพเราะ ๗. หนังสือศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ คีตศิลปิน ครูเพลง นักเลง กวี และ ๘. หนังสือสุนทรียะมาร์เก็ตติ้ง กรณีศึกษา เสรีเซ็นเตอร์ : สุนทราภรณ์

 ชุดหนังสือทรงคุณค่า “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” เป็นผลงานการค้นคว้าและเรียบเรียง โดย คีตา พญาไท (อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ) นักเขียนเจ้าของรางวัลสุรินทราชา และรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้มีความผูกพันและเป็นแฟนตัวยงของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ จึงได้รวบรวมเรื่องราว เกร็ด ประวัติ ของครูเพลงผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง นักร้อง นักดนตรี บทเพลง และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพลงสุนทราภรณ์ จนได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างสูง บทเพลงอันไพเราะแฝงด้วยปรัชญาชีวิต ซึ่งผู้อ่านจะได้สัมผัสถึงอัจฉริยภาพของคีตกวีและครูเพลง ผู้เป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยสากล จาก วงดนตรีสุนทราภรณ์ ผ่านผลงานเพลงอมตะมากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง ซึ่งถือว่าเป็นผลงานเพลงอันทรงคุณค่าของชาติที่อนุชนรุ่นหลังควรได้ศึกษาและให้การยกย่องเชิดชูในฐานะ คีตกวีอัจฉริยภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการวงการดนตรีของไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก ประธานกรรมการมูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “ขอแสดงความชื่นชมยินดีในความวิริยอุตสาหะของ   คีตา พญาไท ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราว รายละเอียดของ เพลงสุนทราภรณ์ มาให้อ่านกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แฟนพันธุ์แท้ของ เพลงสุนทราภรณ์ ทุกคนทุกรุ่น จะได้รับความรู้ เกร็ด สาระเรื่องราวต่าง ๆ ของ บทเพลงสุนทราภรณ์ อันเป็นผลงานอมตะที่ควรอนุรักษ์สืบสานกันไว้เพิ่มขึ้นอีกไม่มากก็น้อย”

 นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ผมฟังเพลงของ     สุนทราภรณ์มาตั้งแต่เด็ก บางบทเพลงเป็นเพลงประจำคณะ ประจำมหาวิทยาลัย ประจำสถาบันต่าง ๆ หากศึกษาดูในหนังสือก็จะรู้ ดังนั้น การเรียนรู้จากการอ่านหนังสือนั้น เราสามารถนำไปเป็นประสบการณ์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม บางทีเมื่อพบกับปัญหาชีวิต ไม่รู้ว่าเราจะแก้ไขอย่างไร การที่เราได้อ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญนั้นก็จะทำให้มีประสบการณ์เพิ่ม ให้เราได้เรียนรู้ว่าเขาผ่านอะไรมา เขาแก้ปัญหาอย่างไร เขาทำแล้วดีกับสังคมเพียงใด ซึ่งการอ่านหนังสือจะสอนเราทั้งหมด การอ่านหนังสือมาก ๆ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

สำหรับการจัดพิมพ์ หนังสือชุด ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลสำคัญ ด้านการดนตรี ซึ่งเป็น มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือชุด ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ นี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้สนใจ กระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึง ความสำคัญและความภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ อันจะมีผลให้เกิด การส่งเสริม สืบสาน และ ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ดำรงอยู่คู่กับชาติไทยสืบไป”

 คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ บุตรีครูเอื้อ สุนทรสนาน กรรมการ-เลขาธิการ มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “สำหรับหนังสือชุด “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว ยืนหยัดมอบความสุขให้ชาวไทยและสังคมไทยเป็นเวลายาวนานกว่า ๘ ทศวรรษ มาถึงปีที่ ๘๒ ใน พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ นับเป็นวงดนตรีประเภทบิ๊กแบนด์ของเอกชนที่มีอายุการทำงานต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย และน่าจะอีกหลาย ๆ ประเทศในโลก

นักวิชาการด้านดนตรีบางท่าน เคยได้กล่าวกับดิฉันว่า การถือกำเนิดของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ และเพลงสุนทราภรณ์ คือปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว การมารวมตัวของอัจฉริยะทั้งด้านดนตรีและวรรณกรรมแห่งยุค ภายใต้การนำของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เพื่อมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “เพลงสุนทราภรณ์” เพลงไทยสากลที่อาจถือได้ว่ามีความสมบูรณ์และลงตัวที่สุด งดงาม ละเมียดละไมทั้งในท่วงทำนองดนตรีและภาษาที่เลือกใช้ และในขั้นตอนสุดท้ายยังได้รับการถ่ายทอดโดยศิลปินที่มากด้วยความสามารถ ถือเป็นนักร้องระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งแต่ละท่านต่างมีน้ำเสียงลีลาอันเป็นเอกลักษณ์น่าจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

ผลงานเพลงสุนทราภรณ์ จึงถือได้ว่าเป็นเสมือนสมบัติทางวัฒนธรรมด้านดนตรีของไทย ที่อยู่คู่ คนไทยมายาวนานถึงเกือบ ๑๐๐ ปี

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการ มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “คำว่า สุนทราภรณ์ มีความหมายหลากหลาย เริ่มต้น คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของสุนทราภรณ์ ท่านใช้ชื่อสุนทราภรณ์เป็นนามแฝงในการขับร้องเพลงตั้งแต่ปี ๒๔๗๙-๘๐ ก่อนที่จะตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ด้วยซ้ำ

ความหมายที่สอง สุนทราภรณ์ หมายถึง วงดนตรี ซึ่งปัจจุบันปี ๒๕๖๔ จะครบรอบ ๘๒ ปี นับว่าเป็นวงดนตรีที่ยืนยาวมากที่สุดในประวัติศาสตร์คีตศิลป์ของประเทศไทย

ความหมายที่สาม หมายถึงประเภทของเพลง เพลงสุนทราภรณ์หมายถึงกลุ่มเพลงที่ไม่เหมือนกลุ่มเพลงอื่น ๆ ทั่วไปที่มีอยู่ในวงการเพลงของไทย เพลงสุนทราภรณ์ไม่ได้หมายถึงเพลงที่ครูเอื้อแต่งเท่านั้น      แต่รวมถึงเพลงอื่น ๆ ที่มีศิลปินอีกมากมายที่ร่วมแต่งกับครูเอื้อด้วย ทั้งทำนองและคำร้อง เพราะฉะนั้น เพลง สุนทราภรณ์ หมายถึง กลุ่มเพลงโดยอัจฉริยภาพในวงการดนตรีของไทย ตั้งแต่ปี ๒๔๘๐ เรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๒๐ ร่วมกันประพันธ์ไว้ราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ เพลง กลุ่มเพลงกลุ่มนี้แตกต่างจากเพลงลูกกรุงทั่วไปที่เราได้ยิน กลุ่มเพลงสุนทราภรณ์ฟังแล้วจะรู้เลยว่าเป็นเพลงสุนทราภรณ์

ประการที่สี่ หมายถึงสถาบัน เพราะผมมองว่า สุนทราภรณ์มีอายุยืนยาวมา ๘๒ ปีแล้ว เกือบจะเป็นสถาบันการดนตรีของประเทศไทย ตั้งแต่ลักษณะของเพลง คนที่นำไปร้อง บทเพลงที่มีอยู่มากมาย รวมถึงกลุ่มคนที่ชื่นชอบ ซึ่งกลุ่มคนที่ชื่นชอบเพลงสุนทราภรณ์มีไม่ต่ำกว่า ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ   ก็ประมาณได้ว่า ๑๕ ล้านคนเป็นอย่างน้อย รวมทั้งมูลนิธิฯ และชมรมคนรักสุนทราภรณ์ ทั้งหมดนี้รวมเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบสุนทราภรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบัน

เพราะฉะนั้น คำว่าสุนทราภรณ์ จึงมีความหมายหลากหลายมากในสังคมและในวัฒนธรรมไทย ปัจจุบัน เพลงสุนทราภรณ์บางเพลงอาจมีอายุยาวนานมากว่า ๘๐ ปีมาแล้ว แต่เพลงเหล่านี้ทุกวันนี้ฟังแล้วก็ยังไพเราะ ไม่มีความล้าสมัย ยิ่งคนเอามาร้องใหม่ ก็จะเห็นได้ว่าเพลงสุนทราภรณ์นั้นมีความเป็นอมตะ เพราะว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ที่มีอัจฉริยภาพอย่าง ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ที่ไม่ใช่อัจฉริยภาพเพียงในประเทศไทยเท่านั้นที่ยอมรับ แต่เป็นอัจฉริยภาพที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้การยอมรับเมื่อปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นคนเอเชียคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการยกย่องของโลกทางด้านดนตรี เป็นมรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็จะยังอยู่ต่อไป เราสามารถพูดได้ว่า เพลงสุนทราภรณ์เป็นมรดกของชาติ เรียกว่าเพลงสุนทราภรณ์ไม่ตาย

ขอแสดงความยินดีกับ อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ หรือในนาม คีตา พญาไท ที่ท่านได้เรียบเรียงและทำ ชุดหนังสือ ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ โดยเรียงลำดับตั้งแต่ เพลงพระเจ้าทั้งห้า ซึ่งเป็นชื่อเพลงที่มีความหมายอย่างยิ่งกับครูเอื้อ สุนทรสนาน คือเป็นเพลงที่ท่านร้องเป็นเพลงสุดท้าย ตอนที่ท่านป่วยก่อนที่ท่านจะจากพวกเราไป และมีหนังสือ ๑๐๐ เพลงดี ๑๐๐ ปี เอื้อ สุนทรสนาน มีประวัติ ตั้งแต่ประวัติของครูเอื้อ สุนทรสนาน, ครูแก้ว อัจฉริยะกุล, ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์, ครูสุรัฐ พุกกะเวส, ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตวรการ และปิดท้ายด้วยหนังสือสุนทรียะมาร์เก็ตติ้ง รวมกัน ๘ เล่ม บรรจุในกล่องอย่างงดงาม

ผมยังไม่เคยเห็นในวงการดนตรีของโลกที่มีหนังสือเกี่ยวข้องกับวงดนตรีและกลุ่มเพลงกลุ่มหนึ่งที่มากมายขนาดนี้ ต้องถือว่าผู้เขียนได้ทุ่มเททั้งเวลา การค้นคว้า ซึ่งปัจจุบันนี้หาข้อมูลที่ไหนไม่ได้แล้ว ต้องดูที่อาจารย์ไพบูลย์บันทึกเอาไว้ ต้องขอขอบพระคุณและชื่นชมท่านที่ได้รวบรวมไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสุนทราภรณ์ ชุดหนังสือนี้มีหมด และดีใจมากที่มีหนังสือชุดนี้อยู่ในวงการวรรณกรรมของไทย และช่วยทำให้ความเป็นสุนทราภรณ์นั้นอยู่ยั่งยืนต่อไปครับ”

 คุณอรอนงค์ เสนะวงศ์ ทายาทรุ่นที่ ๓ วงดนตรีสุนทราภรณ์ กรรมการ-ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิ   สุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “เวลาพูดถึงอนุสรณ์ฝากไว้ ทำให้คิดถึง ๒ เรื่องที่เป็นคำที่คุณตาเคยกล่าวเอาไว้ว่า งานเพลงสุนทราภรณ์ท่านอุทิศให้กับนักดนตรีหรือศิลปินรุ่นหลังที่มีจิตใจเดียวกับคุณตา นั่นก็คือใจที่รักในการทำงานศิลปะ เป็นการทำงานที่ไม่ได้หวังผลกำไร เป็นการทำงานจากใจจริง ๆ นั่นก็คือสาเหตุที่เพลงสุนทราภรณ์มีลักษณะเฉพาะ มีความไพเราะ มีความหลากหลาย แล้วก็มีจำนวนมากมายจริง ๆ เพราะว่าคุณตาแต่งเพลงจากแรงบันดาลใจของท่านในทุก ๆ วัน คุณแม่บอกว่า คุณตาจะมีดินสอและกระดาษติดตัวตลอดเวลา เมื่อท่านนึกอะไรขึ้นมาได้ หรือท่านได้ยินเสียงอะไรที่ท่านชอบ ท่านก็จะมาร่างเป็นโน้ตเพลง แล้วจากตรงนั้นโน้ตไม่กี่ตัวก็ขยายไปสู่บทเพลงต่าง ๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นเป็นความรักที่ท่านมีต่อดนตรีและเสียงเพลงที่ก่อให้เกิดเป็นบทเพลงสุนทราภรณ์ขึ้นมา และเชื่อว่า ครูเพลงในยุคนั้น ๆ สร้างบทเพลงขึ้นมาจากความรักที่มีต่องานศิลปะนั้นจริง ๆ

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คิดถึง คือในบทเพลงพระเจ้าทั้งห้า ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่คุณตาได้ขับร้องเอาไว้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ซึ่งบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่แฟนเพลงสุนทราภรณ์ทุกคนหรือทุกคนบอกว่าเป็น   บทเพลงที่สรุปชีวิต ความเป็นสุนทราภรณ์ หรือความเป็นครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ดีที่สุด ท่านพูดถึงสิ่งที่ท่านรักทั้ง ๕ ประการในบทเพลงนี้ หรือที่เรียกกันว่าพระเจ้าทั้งห้า เพราะฉะนั้น งานเพลงของท่านทั้งหมด จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน และฝากไว้ให้กับคนไทยทุกคนจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่เกิดในยุคเดียวกับท่าน หรือจะเป็นคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันท่าน ก็สามารถฟังได้ ด้วยความหลากหลายของเนื้อเพลง ด้วยความลึกซึ้งของบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตของคนไทยจริง ๆ

เมื่อพูดถึงความเป็นอมตะของเพลงสุนทราภรณ์ บทเพลงที่ดี หรืองานศิลปะที่ดี จะเป็นงานที่สามารถนำไปต่อยอดและตีความได้หลากหลายไม่จำกัด ซึ่งก็รวมไปถึงบทเพลงของสุนทราภรณ์ด้วย ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปีที่ผ่านมา ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ สามารถขยายหรือถูกนำไปตีความ ก่อให้เกิดผลงานต่อเนื่องตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนถึงปัจจุบัน เพลงหลาย ๆ เพลง ก็ยังสามารถนำกลับมาทำใหม่ได้ในหลากหลายรูปแบบ อย่างที่มูลนิธิสุนทราภรณ์ฯ กำลังทำอยู่ เป็นการต่อยอดสร้างสรรค์งานออกมาให้มีมิติและมีความหลากหลาย ให้ถูกใจคนทุกรุ่นทุกวัย เช่น ท่านใดชื่นชอบเพลงออริจินัล ท่วงทำนองแบบเดิม ๆ มีสำเนียงแบบเดิม ๆ ก็มารับฟังคอนเสิร์ตของสุนทราภรณ์ได้ เพราะเรายังอนุรักษ์การทำงานหรือสไตล์การร้อง การบรรเลงแบบเดิม ๆ ได้

ในขณะเดียวกันเราก็พยายามทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำบทเพลงสุนทราภรณ์ไปอยู่ในรูปแบบของ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ก็เป็นมิวสิคัลที่ดีมาก เป็นมิวสิคัลที่ชมได้ทุกวัยจริง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำมา จะเห็นว่าไม่ได้มีแต่ผู้ใหญ่ที่ไปชม มีรุ่นเด็ก ๆ บางทีคุณปู่ คุณย่า ชวนหลาน ๆ ไปดู ทุกคนก็สนุกสนาน ได้อารมณ์ ได้ความสุขจากบทเพลงสุนทราภรณ์เช่นเดียวกัน

จนถึงตอนนี้ก็มีงานอนุรักษ์อีกหลากหลายรูปแบบ เช่น มีรายการประกวดร้องเพลงหลาย ๆ รายการ ที่นำเพลงเก่า เพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง มาเรียบเรียงเสียงประสานและนำมาขับร้องประกวดกัน จะเห็นว่าไม่ได้มีแต่ผู้ใหญ่ที่ไปสมัครประกวด มีรุ่นเด็ก ๆ มากมาย ตั้งแต่ไม่กี่ขวบไปจนถึงผู้ใหญ่ ก็สามารถนำเพลงของสุนทราภรณ์ไปร้องใหม่ในรูปแบบใหม่ได้ บางเพลงก็อนุรักษ์การเรียบเรียงเสียงประสานแบบเดิมไว้ แต่บางเพลงก็จะเห็นว่ามีการทำดนตรีที่แหวกแนวทันสมัยขึ้นมา เพราะฉะนั้น ความหลากหลายของเพลง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของออร์เคสตรา รูปแบบบีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์ (BSO Plays) รูปแบบงานเพลงแบบคลาสสิกสุนทราภรณ์ ที่นำเพลงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงในรูปแบบของวงดนตรีคลาสสิกแบบตะวันตก ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่มีคนชื่นชอบเช่นกัน หลายคนบอกว่าชอบมาก เป็นความแตกต่าง เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เสียงดนตรีก็ไพเราะ ฟังดูนุ่มนวล ก็มีคนที่ชอบในสไตล์เช่นนั้นเหมือนกัน งานสุนทราภรณ์ถือว่าเป็นงานที่ไม่หยุดอยู่กับที่จริง ๆ ต่อยอดไปได้ ท่านไหนมีไอเดียอย่างไร มีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร ก็สามารถนำไปผสมผสานออกมาในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ต่าง ๆ ได้

นอกเหนือจากเรื่องของวงการดนตรีแล้ว บทเพลงของสุนทราภรณ์ก็ไปปรากฏอยู่ในรูปแบบศิลปะ  อื่น ๆ ได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน อย่างศิลปินแห่งชาติ คุณพนมเทียน ได้นำบทเพลงของ     สุนทราภรณ์ไปสอดแทรกอยู่ในนวนิยายอมตะ เรื่องเพชรพระอุมา

จะเห็นได้ว่า สุนทราภรณ์ คือ การสร้างแรงบันดาลใจที่ไม่มีจุดจบจริง ๆ รวมไปถึงงานละครเพลง ละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ มีการนำบทเพลงสุนทราภรณ์ไปใช้ประกอบ ด้วยเห็นว่า เพลงสุนทราภรณ์ เหมาะกับการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวชีวิต รวมไปถึงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นไทย ให้เห็นถึงปรัชญาชีวิตคติธรรม พระพุทธศาสนา มีความต่อเนื่องไปจนถึงศิลปะแขนงอื่น ๆ ด้วย

หนังสือชุด “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” ซึ่ง อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยละเอียดของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ และ เพลง   สุนทราภรณ์ ตลอดจนชีวประวัติของ ครูเพลง และ ศิลปินนักร้อง ของ สุนทราภรณ์ อีกหลายต่อหลายท่าน ในรูปแบบบ็อกซ์เซ็ตอันสวยงาม น่าอ่านและน่าสะสม จะเป็นที่ถูกใจ แฟนเพลงสุนทราภรณ์ ทั้งรุ่นเก่าและ รุ่นใหม่ที่มองเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปะที่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูเพลง ของ สุนทราภรณ์ ได้ร่วมกันบากบั่นสร้างสรรค์ ทิ้งไว้เป็น “อนุสรณ์” และมรดกทางวัฒนธรรมแก่คนไทยทุกคน”

 คีตา พญาไท หรือ อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ ผู้เรียบเรียง กล่าวว่า “บทเพลงสุนทราภรณ์มีเสน่ห์ในตัว ประการแรก วงดนตรีสุนทราภรณ์ ถือเป็นวงดนตรีที่มีบทเพลงมากที่สุด ๒,๐๐๐ กว่าเพลง มีอายุที่ยืนยาวที่สุด ทั้งวงดนตรี ทั้งบทเพลง ประการที่สอง เพลงสุนทราภรณ์ มีครบทุกจังหวะ เป็นเพลงที่ประกอบละครวิทยุ ละครเวที ละครทีวี ภาพยนตร์ และคอนเสิร์ต ซึ่งวงอื่นในเมืองไทยไม่มี ที่สำคัญ เป็นวงดนตรีเดียวที่มีเพลงปลุกใจให้รักชาติ เป็นวงดนตรีวงเดียวในโลกที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเพลงประจำพระองค์ครบหมดทั้งราชวงศ์จักรี อีกสิ่งที่เป็นเสน่ห์คือ เป็นวงดนตรีที่แต่งเพลงให้กับสถาบันการศึกษา ซึ่งวงดนตรีอื่นทั้งโลกไม่มี และเป็นวงดนตรีที่มีบทเพลงครบรส สนุกก็ได้ รำวงก็ได้ พื้นเมืองก็ได้ เรื่องอาชีพก็มี เรื่องวัฒนธรรมก็มี มีหมด ที่สำคัญที่สุดคือ ครูเอื้อ นำเพลงไทยเดิม ซึ่งเราไม่คุ้น เอามาพัฒนาเป็นเพลงสังคีตสัมพันธ์ให้คนฟังได้

การจัดทำ หนังสือชุด ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ คือการเปิดโลกทัศน์ เพราะเนื้อหาทั้งหมด ๒,๐๐๐ กว่าเพลงของครูเอื้อและทีมงานสุนทราภรณ์ทั้งหมด จะอยู่ในหนังสือ ๘ เล่มนี้ เมื่อเราอ่าน แล้วเราก็ฟัง แล้วเราก็ไปดูคอนเสิร์ต ไปเต้นรำ เราจะอินกับอารมณ์ของเพลงแต่ละเพลงว่าเพลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร

ขอขอบคุณมูลนิธิสุนทราภรณ์ฯ ที่อนุญาตให้เราดำเนินการจัดพิมพ์ ขอบคุณสำนักพิมพ์วิช หนังสือชุดนี้เป็น Masterpiece งานชิ้นสำคัญที่สุดของทั้งสำนักพิมพ์วิช และชีวิตของผม

ผมหวังว่า หนังสือชุด ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ เหมาะกับแฟนเพลงสุนทราภรณ์ทุกวัยที่จะได้ซึมซับกับอารมณ์ในบทเพลงแต่ละบท ในแง่ของนักดนตรี ในแง่ของคนที่เรียนการขับร้องการบันเทิงที่อยู่ในวงการบันเทิงทั้งหลาย เพราะมีความเป็นมาเป็นไปที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ท่านที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ ในเรื่องของภาษา ในเรื่องของการดนตรีก็เหมาะ ที่สำคัญที่สุด ผมอยากให้ห้องสมุดทุกห้อง ทุกสถาบันการศึกษา ในระดับมัธยม ระดับอุดมศึกษา หรือแม้กระทั่งห้องสมุดส่วนตัว หรือห้องสมุดของบริษัทได้มีไว้ หรือมอบเป็นของขวัญพิเศษในวันปีใหม่ เพราะหนังสือทรงคุณค่าชุดนี้จะหาโอกาสทำใหม่นั้นยากยิ่ง แต่หนังสือชุดนี้จะเป็นถาวรวัตถุ เปิดเมื่อไรก็ได้อ่าน ได้อารมณ์ ได้ความรู้แน่นอน

ในโอกาสครบรอบ ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ ผมอยากจะฝากผลงาน ชุดหนังสือ ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ ให้เป็นงานชิ้นอมตะของประเทศไทยและของโลก ฝากให้ไว้กับเยาวชนรุ่นหลัง ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีหนังสือชุดนี้ เราจะไม่รู้เลยว่าวงดนตรีสุนทราภรณ์มีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร ก็อยากจะฝากว่า เป็นเจตนาดีที่ครูเอื้ออยากจะฝากเป็นสุนทรียะทางด้านดนตรีให้กับชาวไทยทุกคน”

การจัดพิมพ์หนังสือทรงคุณค่าชุด “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” ในโอกาสนี้ หากจะมีความดีอยู่บ้าง ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ทุกคน ทั้งครูเพลงผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้อง นักดนตรี นักร้อง ในอดีต ปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุดคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ให้กำเนิด วงดนตรีสุนทราภรณ์ อันยิ่งใหญ่ ที่มีอายุยืนยาวของไทยวงนี้ คุณอาภรณ์ สุนทรสนาน คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ คุณพูลสุข  สุริยพงษ์รังษี ผู้ให้ความเห็นชอบและให้ความสนับสนุนในการจัดทำ ผู้ที่ให้ข้อมูลการสัมภาษณ์”

สำนักพิมพ์วิช ตระหนักถึงคุณค่าและเห็นถึงความตั้งใจของ คีตา พญาไท (อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ) จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการขออนุญาตดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือทรงคุณค่า ชุด “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” เพื่อสืบสาน ตำนานเพลงอันเป็นอมตะ และถ่ายทอด วัฒนธรรมสุนทราภรณ์ ที่ยอดเยี่ยม ให้เป็นแบบอย่าง เป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของไทย ให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป”

ชุดหนังสือ “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” สำหรับผู้ที่รักและชื่นชอบในเสียงเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกและข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์อันจะก่อประโยชน์ทางด้านศิลปศาสตร์ สามารถสั่งซื้อได้แล้ววันนี้ ในราคาพิเศษเพียง ๕,๙๙๙ บาท (จากราคาปกติ ๘,๐๐๐ บาท) หนังสือชุด ๘ เล่ม บรรจุในกล่องแข็งติดแม่เหล็กงดงาม เป็นชุดหนังสือพรีเมียม ทรงคุณค่า น่าสะสม (น้ำหนัก ๗ กิโลกรัม)

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสาวิตรี นิลขำ (นก) โทร. 06 3246 5635

อีเมล [email protected] หรือ www.wishbookmaker.com

พิเศษสินค้ามีจำนวนจำกัด พร้อมบริการส่งฟรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *