20/04/2024

“ไตรมาส 4/2564 การเมือง-เศรษฐกิจ วิกฤติหรือโอกาส”

 

คณะวิทยพัฒน์  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ร่วมกับ หนังสือพิมพ์ บางกอกทูเดย์ และ The Leader Asia  ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ไตรมาส 4/2564  การเมือง-เศรษฐกิจ วิกฤติหรือโอกาส” เมื่อวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2564  ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคาร 23  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  โดยวิทยากรรับเชิญประกอบด้วย รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์   รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา  นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย  พรรคประชาธิปัตย์  ดำเนินรายการโดยนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  บรรณาธิการอาวุโส  และนางสาวสุทิษา สุภารัตน์ บรรณาธิการข่าวอสังหาริมทรัพย์  บางกอกทูเดย์

 

 

โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา  กล่าวว่าแม้ช่วงนี้อัตราการเสียชีวิตลดลง  บางวันต่ำกว่า 100 ราย  อัตราการติดเชื้อบางวันลดลงต่ำกว่าหมื่นแต่ประเทศไทยก็ยังถูกจัดอยู่ในอันดับ 7-8 ต้นๆของโลก  แต่จะน่าพอใจหากการติดเชื้อลดลงมาในระดับวันละ 5,000 ราย เสียชีวิตระดับ 50 ราย ซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะลดการเสียชีวิตเป็น 0  แต่การติดเชื้อคงยังมีโดยจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นและความรุนแรงจะลดลง

 

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์

 

สถานการณ์โควิด-19ในไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นเพราะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นทุกวันๆละหลายแสนโดส  เฉพาะเข็มที่ 1 ฉีดได้ 54.7% แล้ว ซึ่งปกติฉีดเข็มแรกภูมิต้านทานก็จะขึ้นสูง  เข็มที่ 2 เป็นการกระตุ้น  อัตราการฉีดในขณะนี้กับเป้าหมายการเปิดประเทศในไตรมาส 4 น่าจะพอสู้ได้

ประกอบกับพี่น้องประชาชนเราให้ความร่วมมือดีเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ  เราจะเห็นทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอด  ทิ้งระยะห่างดีพอสมควร  ยิ่งจะมียารักษาเข้ามาอีกก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆและทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่  มีการฉีดวัคซีนทุกปี  ถ้าติดเชื้อแล้วไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล  ไม่เสียชีวิตก็ไม่มีปัญหาอะไร

 

ปัญหาเศรษฐกิจมาจากล็อคดาวน์

รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปี 2563 เศรษฐกิจกระเทือนหนักจากการล็อคดาวน์  นักเศรษฐศาสตร์มองว่าที่เศรษฐกิจมีปัญหาไม่ใช่เพราะโควิด  แต่มาจากการล็อคดาวน์  เมื่อโควิดเกิดขึ้นจะเกิดความกังวัลของประชาชน  ไม่กล้าออกนอกบ้าน ไม่กล้าไปเที่ยว  แต่สถิติชี้ให้เห็นว่าศบค.ล็อคดาวน์ตั้งแต่ 23 มีนาคม- 3 พฤษภาคม  2563  มีผลให้เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 12.1% ในช่วงของไตรมาส 2/2563 ขณะที่ไตรมาส 1/2563 ติดลบแค่ 2.1% แสดงให้เห็นว่าการหยุดกิจกรรมโดยการล็อคดาวน์มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน  ปกติคนไทยจะใช้เงินวันละ 22,000 ล้านบาท  พอล็อคดาวน์เงิอนจะหายไป 15,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย  การปิดประเทศมีผลให้นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่เคยใช้เงิน 2 ล้านล้านบาทหายไปเกลี้ยง

 

รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย

 

ประเทศไทยถูกสร้างภาคบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนจนถึงปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะยังไม่เข้ามาเลย(มีเฉพาะโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์)  ฉะนั้นความเสียหายจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเหมือนกันทุกประเทศ

ปี 2563 ไทยมีการติดเชื้อน้อยแต่กระเทือนหนักเพราะเงินหายไปจากระบบสุทธิอย่างน้อย 8 แสนล้านบาท  รัฐบาลจึงต้องใช้วงเงินกู้อัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบประมาณ 1 ล้านล้านบาท  สะท้อนให้เห็นว่าปีที่แล้วมีความเสียหายหนักจากการที่เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาทไม่เข้ากระเป๋าคนไทยเลย  รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่น้อยลง

ไตรมาส 3/2563 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากการคลายล็อคดาวน์แต่ยังคงติดลบประมาณ 6% และในไตรมาส 4/2563 แม้บรรยากาศจะดีขึ้นแต่เศรษฐกิจก็ยังติดลบ 4% เพราะมีการระบาดระลอก 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร  มีผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงช่วงสงกรานต์

ไตรมาส 1/2564 เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.6% เข้าสู่ไตรมาส 2/2564 ที่ผ่อนคลายมาตรการให้เที่ยวสงกรานต์ เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวก 7.5%  แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3/2564 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า  ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากสู่ระดับ 2-3หมื่นคนต่อวัน  นำมาสู่การล็อคดาวน์ 10 จังหวัด เพิ่มเป็น 13 จังหวัด และ 29 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมจีดีพีไทยถึงประมาณ 80%  ดังนั้นไตรมาส 3/2564 เศรษฐกิจไทยควรจะติดลบประมาณ 3-4% อันเนื่องมาจากการล็อคดาวน์  และความเชื่อมั่นที่หายไปที่ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงจากวันละ 2 หมื่นล้านบาทเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท

 

 

ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจน่าจะหายไปประมาณ 5-8 แสนล้านบาท  ไม่รวมรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือนที่หายไป 1.5 ล้านล้านบาท  รวมแล้วช่วง 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยประสบความเสียหายไปแล้วอย่างน้อย 2 ล้านล้านบาท  นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาลต้องเปิดเพดานเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อนำเม็ดเงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจ

เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นประเทศไทยเข้าขั้นล้มละลายทางเศรษฐกิจ  แต่ปัญหาวิกฤติโควิดครั้งนี้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเงินสูง ธุรกิจก็ไม่ล้มละลาย  NPL(หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้)ก็ต่ำ  แต่คนไทยรู้สึกว่าเจอปัญหาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะเจอทุกหย่อมหญ้า  ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่งออกไม่ได้  ธุรกิจขนาดกลาง มนุษย์เงินเดือนอาจถูกลดเงินเดือน  ลูกจ้างรายวันอาจถูกเลิกจ้าง  อาชีพอิสระทำมาหากินไม่ได้ เรียกว่าเครื่องยนต์ดับหมดจึงเดือดร้อนในวงกว้าง

วันนี้ฝ่ายการเมืองต้องฟังเสียงของประชาชนทุกคน  วันนี้ประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้หรือไม่อยู่ที่ฝั่งการเมือง  เพราะเศรษฐกิจไทยจะขึ้นหรือไม่  จะช้าหรือเร็ว  ปัญหาจะวนไปวนมาหรือไม่  อยู่ที่การตัดสินใจของภาคการเมือง

จุดที่มองว่าเศรษฐกิจไทยพร้อมจะฟื้นตัวคือ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่เริ่มคลายล็คดาวน์  ตอนนี้การจราจรในกรุงเทพฯกลับมาติดขัดอีกครั้ง  ผู้คนเริ่มเข้าห้างสรรพสินค้า  เริ่มออกมากินมาเที่ยวอีกครั้ง  โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง  บรรยากาศแบบนี้ปล่อยไปตามธรรมชาติ

แต่การตัดแต่งพันธุกรรมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามเป้าหมายนั้น  รัฐบาลชุดนี้มีภาระหน้าที่ต้องทำตามรัฐธรรมนสูญคือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตประมาณปีละ 5% ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 เศรษฐกิจไทยยังไม่เคยโตถึง 5% เลย ปี 2563 ติดลบ6% ปี 2564 อาจบวก 1% ปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 5% แต่ภาคเอกชนอยากให้โต 6-8%

มองจากสถิติ ประเทศอินโดนีเซียเคยมีการติดเชื้อวันละ 4 หมื่นคน วันนี้ลดลงเหลือแค่ 1,000 คน คำถามคือเกิดอะไรขึ้น  มีภูมิคุ้มกันหมู่  หรือฉีดวัคซีนมากถึง70%แล้วจริงหรือ  เหมือนกับประเทศอินเดียที่เคยระบาดมากแล้วก็ลดลงอย่างรวดเร็ว   จากสองกรณีนี้เชื่อว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะลดลงเช่นเดียวกันในช่วงเดือนพฤศจิกายนโดยหวังว่าตัวเลขเสียชีวิตจะเหลือ 50 ราย/วัน ตัวเลขติดเชื้อจะเหลือ 5,000 ราย/วัน เหมือนที่นพ.อำนาจหวัง  ซึ่งจะทำให้แผนเปิดประเทศพอไปไหว

 

 

แต่การที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้เคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัด  ไปเที่ยว ไปพักผ่อน เพื่อให้คนได้ใช้จ่าย  เอานโยบายคนละครึ่ง ซึ่งคนไทยพอใจมากเป็นอันดับ 1 ออกมาใช้  แต่รัฐบาลอั้นให้แค่ 1,500 บาทต่อไตรมาสน้อยเกินไปไหม  น่าจะให้คนละ 3,000 บาทได้ไหม  หากรัฐบาลเติม 9 หมื่นล้านบาท ประชาชนที่มีพอมีเงินก็จะควัก 9 หมื่นล้านบาทออกมาใช้ รวมสองฝ่ายเป็น 1.8 แสนล้านบาท หากใช้ภายในปลายปีนี้เศรษฐกิจจะขึ้นมาแน่อย่างน้อย 1.5%

อีกส่วนคือ “ช็อปดีมีคืน” การออกมาตรการมาว่ายิ่งใช้ยิ่งได้นั้นจะมีผลช้าและซับซ้อน  ควรจะทำตรงๆ ไม่ต้องเอาเงินเติมมือประชาชน  เพียงแต่ชะลอการรับรายได้  เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องคำนวนว่าจะสูญเสียรายได้จากการประมาณการงบประมาณปี 2564 หรือเปล่า  หากขยายเวลาไปถึงปีหน้าลากไปถึงตรุษจีน  รัฐบาลอาจจะไปคำนวนประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2565 แทนซึ่งน่าจะชอบด้วยหลักการ  รวมถึงมาตรการอื่นๆที่จะทำให้เกิดการจ้างงานคือมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4  จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับฝั่งการเมืองล้วนๆ

ช่วงนี้เป็นจังหวะที่เศรษฐกิจพร้อมฟื้นตัว  แต่จะโต 1% หรือมากกว่านั้น  สำคัญที่แรงเหวี่ยงในไตรมาส 1 และ 2 ในปีหน้าต่างหาก  และเป้าหมายสำคัญคือทำไมไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยโต 5% ปัญหานั้นมีอยู่มากและพูดกันทุกคน  มีเรื่องเล่าของชาวต่างชาติว่า  ถ้าเขาอยากจะทำอะไรให้สำเร็จ  ให้มาหยิบสิ่งที่คนไทยคิดแล้วเอาไปทำ  เพราะคนไทยชอบคิดแล้วไม่ทำ  คนไทยเก่งเรื่องวิเคราะห์ปัญหา  แต่การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต้องฝากไว้ที่การเมืองเพราะการเมืองกำหนดทุกอย่าง  จะเปิดหรือปิดประเทศ  จะเปิดหรือปิดมหาวิทยาลัย  จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน  การเมืองจึงปฏิเสธความรับผิดชอบต่อคนไทยไม่ได้

 

ไม่มีวิกฤติกว่านี้  ช่วงต่อไปคือโอกาส

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์   รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า  วิกฤติปี 2540 ผลกระทบคือด้านบนของปิรามิดเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะสถาบันการเงิน  แต่ปี2564 ด้านบนโดนน้อยถ้าไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการ  แต่กลุ่มกลางและล่างของปิรามิดโดยเฉพาะเอสเอ็มอีทั่วไปได้รับผลมาก  โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนโดนหนักมาก

ช่วงที่เกิดการระบาดระลอก 2 ในปี 2563 เพราะมีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านแอบลักลอบเข้ามามาก  โดยจุดใหญ่ที่เข้ามาหลบซ่อนตัวคือที่มหาชัย  รอบนั้นเอกชนในพื้นที่ร่วมกับทางจังหวัดช่วยกันแก้ปัญหาอย่างดีมากทั้งๆที่ตอนนั้นวัคซีนยังมีน้อยมาก  ช่วยกันสร้างวิธีการรับมือต้นแบบหลายแบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์  

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดนั้นเจอกันทั่วโลกไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว  มีการปิดท่าเรือขนส่งสินค้า  ควบคุมการขนส่งทั่วโลกซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าส่งออก  ถือเป็นวิกฤติองค์รวม  แต่ประเทศใหญ่ๆอย่างจีน  สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ยุโรป เจอผลกระทบมาก่อน ปิดประเทศกันมาก่อน  ประเทศไทยเจอทีหลังเขาและมองว่าเบากว่าเขา  เพราะเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านี้มาแล้ว  เห็นวิธีการรับมือแล้ว  วัคซีนทยอยมาแล้ว  หากการระบาดรุนแรงเกิดในปี 2563 ไทยน่าจะเสียหายยับเยินยิ่งกว่านี้

การส่งออกของไทยปี 2563 ติดลบประมาณ 6% ซึ่งเทียบกับประเทศอื่นติดลบ 20-30% เพราะไทยมีสินค้าหมวดเกษตร อาหาร หรือสินค้าสาธารณสุขที่มีความจำเป็น หรือสินค้าสำหรับ work from home สถานการณ์ส่งออกของไทยจึงมิได้เลวร้ายมาก  ที่เดือดร้อนคือกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย

ปี 2564 การส่งออกเติบโตมากเพราะเมื่อนานาประเทศเริ่มคลายล็อคดาวน์  เลิกปิดประเทศการขนส่งสินค้าทำได้สะดวกขึ้น  การสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกจึงมากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อทดแทน สต๊อกเดิมที่ขาดหาย  ถ้าไม่มีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สเปซเรือแม่เรือแม่ขาด และค่าเฟดที่ขึ้นไปสูงมาก  การส่งออกของไทยยังจะโตได้อีก 20-25% อย่างแน่นอน  และสินค้าเกษตรหรืออาหารแปรรูปที่ส่งออกได้จะมีผลดีย้อนกลับไปยังภาคเกษตรกร ภาคการผลิต และการจ้างงาน

 

 

ภาคบริการที่ว่าได้รับผลกระทบนั้นต้องแยกสองส่วน  คือภาคบริการที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว  และภาคบริการในชีวิตประจำวันของคนไทย  การปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีผลต่อภาคบริการท่องเที่ยวแน่นอน  แต่การล็อคดาวน์ที่ครอบจักรวาลมีผลต่อภาคบริการในชีวิตประจำวันซึ่งสร้างผลกระทบวงกว้างมาก  ทำให้รายได้ของคนระดับกลางจนถึงรากหญ้าหายไป

คิดว่าช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นสถานการณ์วิกฤติในรอบ 100 ปีที่คงไม่วิกฤติไปกว่านี้อีกแล้ว  ช่วงต่อไปคือโอกาสที่เราจะสร้างขึ้นมาอย่างไร หรือจะคว้าไว้ได้อย่างไร หรือจะทำให้สัมฤทธิ์ผลอย่างไร

ประการต่อมาทุกฝ่ายต้องตระหนัก  รู้จักปัญหาแล้วแก้ไข  แต่อย่าตระหนก เหมือนที่ผ่านมาคือล็อคดาวน์จนเกิดความเสียหายมหาศาล

อีกประการคือการสร้างสมดุลเพื่อจะให้อยู่รอดกันต่อไป  ภาครัฐต้องมองว่าจะสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจอย่างไร  จะควบคุมการระบาดอย่างไรโดยไม่ให้เศรษฐกิจพัง  ดังเช่นหลายประเทศในยุโรปที่เปิดให้ทำธุรกิจแม้จะยังมีการระบาดในระดับหนึ่ง  การสร้างสมดุลระหว่างรัฐกับภาคเอกชน  รัฐกับประชาชน

ในแง่การเมือง ที่ผ่านมาประเทศไทยมีวิกฤติด้านการเมืองหลายครั้งแต่ยังไม่เคยมีวิกฤติของชาติ  สถานการณ์โควิดคือวิกฤติชาติที่แท้จริง  แต่ที่ผิดหวังคือทำไมภาคการเมืองจึงไม่คิดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะกระเทือนทุกภาคส่วน  จึงควรจะสร้างความร่วมมือในฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย  ไม่มีพรรค ไม่มีพวก ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายรัฐบาล  ร่วมกันวางแนวทาง ทิศทาง ระดมสมองออกกฎหมาย ระเบียบที่จะช่วงประคองกัน  ภาคประชาชนก็เช่นกันที่ต้องเห็นวาระแห่งชาติ

 

พรรคการเมืองทุกพรรคสอบตก

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย  พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ต้นตอของปัญหาหลายปัญหาไม่ว่าจะด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจ ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง  นักการเมืองเองคงต้องมองหรือสำรวจตัวเองว่าได้ขับเคลื่อนนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้กับประเทศหรือเปล่า  เพราะระบบการเมืองไทยหรือระบบรัฐ-ราชการอาจจะไม่เอื้อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารประเทศหรือขับเคลื่อนสถานการณ์ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19เช่นนี้  ซึ่งเป็นวิกฤติที่ใหญ่และใหญ่กว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ในหลายๆด้านซึ่งลามมาเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ

ความคล่องตัวหรือความยืดหยุ่นที่จะต้องปรับตัวไปในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนไปเร็วมากนั้น  ภาคการเมืองไทยยังมีน้อยหรือน้อยมาก  ซึ่งเมื่อยังเป็นการเมืองแบบเดิมที่ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัว  หรือประคองตัวให้อยู่รอดไปวันๆก็จะมีปัญหาตามมา  เพราะการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 100ปีทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากเจ็บหนักที่สุด  แต่หลายกลไกในการแก้ปัญหา เช่น เรื่องวัคซีน  อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ด่านหน้า  การเยียวยาที่รวดเร็วและตรงจุด  ล้วนมีปัญหาทางการเมืองที่กลายเป็นอุปสรรค

 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์

 

ในมุมมองของตนปัญหาด้านการเยียวยาผู้เดือดร้อนอาจเป็นเพราะมีการบริหารการคลังเชิงรุกน้อยไปหน่อย  เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน  ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย  ถ้าเราไม่ถูกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตอนนี้แล้วเราจะทำตอนไหน  เราจะรอให้อเมริกาไล่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหรือไง

ความจริงก่อนเกิดโควิดโลกก็เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว  มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาขับเคลื่อน ทั้งลดต้นทุนและเพิ่มรายได้  ทั้งลดและเพิ่มตำแหน่งในหลายอุตสาหกรรม   ถามว่าทักษะสมรรถนะทุนมนุษย์ที่เรามีอยู่นั้นพร้อมหรือยัง  รัฐมีการเตรียมติดอาวุธทางองค์ความรู้ให้กับพี่น้องประชาชนแล้วหรือยัง  ระบบรัฐ-ราชการต้องไม่ทำตัวเป็นพ่อแสนรู้ แม่แสนรู้อย่างในปัจจุบัน

 

 

ธุรกิจปัจจุบันเราเห็นคนที่รวยขึ้นในสถานการณ์โควิด อาทิ ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล  หรือมีช่องทางที่เข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัล  สามารถค้าขายออนไลน์  ลงทุนในระบบบล็อคเชน  หรือแปรรูปธุรกิจเอาสมองกลเอาเอไอมาใช้

นักการเมืองบอกจะพาประเทศไทยไประดับ 4.0 แต่ความจริงจุดแข็งของไทยคือ 0.4 อย่างเช่น LALISA (นักร้องหญิงสัญชาติไทยที่โด่งดังจากเกาหลีและวันนี้โกอินเตอร์) ที่ชูความเด่นด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทย  รอยยิ้ม ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ ที่ฝรั่งต่างชาติไม่มี  แล้วเราจะเอา 0.4 ไปขายใน 4.0 ได้อย่างไร  นักการเมืองคือคนที่กุมอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน  เป็นผู้มีบทบาทในการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

อนาคตการเมืองในระยะใกล้นายกรัฐมนตรีตอบชัดเจนว่าไม่ปรับครม.  ส่วนการยุบสภาในช่วงเวลาอันใกล้ก็คงไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศอย่างตรงจุด  นักการเมืองต้องขอโทษประชาชน  พรรคการเมืองทุกพรรคสอบตกรอบนี้ในการแก้ปัญหา

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *