25/04/2024

คอลัมน์ Booklizm by krit

1.เรื่อง : ชีวประวัติของข้าพเจ้า โดย มหาตมา คานธี

ผู้เขียน : มหาตมา คานธี

แปล : กรุณา กุศลาสัย

สำนักพิมพ์ : ไทยวัฒนาพานิชจำกัด

 

 

เมื่อเอ่ยชื่อมหาตมา คานธี ใคร ๆ ก็รู้จัก เพราะท่านเป็นบุรุษเอก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า”Great  Man”

“อหิงสา” ศานติวิธี คือถ้อยคำการปฏิบัติที่ท่านได้แสดงถึงจริยาวัตรอันดีงาม ที่ท่านได้พยายามจะให้โลกมิใช่แต่ของอินเดียเท่านั้น ได้รับความร่มเย็นเป็นศานติสุข เลิกเบียดเบียนกัน ท่านจึงเป็นมหาบุรุษของโลกด้วยโดยแท้ ถ้าโลกถือเอาซึ่งอหิงสาความไม่เบียดเบียนกัน มีไมตรีอารีจิตต่อกัน เหมือนอย่างที่ท่านมหาตมา คานธี พร่ำสอนอยู่เป็นเนืองนิจ โลกก็จะมีศานติถาวรอย่างแน่นอน..

“ชีวประวัติของบุคคล สอนให้เราดูได้หลายสถาน ดูเพื่อค้นคว้าหาคุณงามความดีของผู้นั้น ว่าได้มีความพยายามมานะบากบั่นเป็นผลสำเร็จมาแล้วอย่างไร สิ่งใดที่มีกล่าวไว้ในประวัติถ้าตรงไหนเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์ ก็จะได้ถือเป็นทางปฏิบัติสิ่งไหนเห็นว่าเป็นความผิดพลาด ก็จะได้ถือเป็นครู เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นการอ่านชีวประวัติของบุคคล จึงอยู่ที่รู้จักดูทั้งสองแง่ เพื่อจะได้ตีราคา หรือคาดค่าให้แก่ผู้นั้นได้ ว่ามีดีแก่ส่วนรวมแค่ไหน” ท่าน “เสฐียรโกเศศ” ได้กล่าวไว้และเป็นแรงบันดาลใจของผู้แปล….” ชีวประวัติของข้าพเจ้า โดย มหาตมา คานธี” กรุณา กุศลาสัย แปลจากภาษาฮินดี

 

2.เรื่อง : โครงกระดูกในตู้

ผู้เขียน : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า2000

 

 

“โครงกระดูกในตู้” เป็นสารคดีและเรื่องเล่าเกี่ยวกับราชสกุลปราโมช หรือก็คือครอบครัวของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านได้เรียบเรียงขึ้นจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นการบันทึกข้อมูลที่สืบทอดต่อกันมาไว้เป็นหลักฐาน ลายลักษณ์อักษรเพื่อบอกถึงที่มาของ ราชสกุลปราโมช ซึ่งข้างหนึ่งสืบสายมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ส่วนอีกข้างหนึ่งสืบสายมาจากสกุลบุนนาค…

“ธรรมเนียม​ของโลกนั้นมักจะปกปิดความผิดพลาดหรือความตกต่ำของบรรพบุรุษ​มิให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักบรรพบุรุษ​ของตนแต่เพียงครึ่งเดียวหมายความว่ารู้จักไม่ทั่ว ไม่จริง เมื่อเป็นบรรพบุรุษ​ของตนก็ยิ่งไม่ควรรู้จักเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ในการเขียนหนังสือเล่มนี้จึงได้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนถึงปูย่าตายาย ตลอดจนพี่ป้าน้าอาและพ่อแม่ในทางทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งบวกและทั้งลบ ตามที่บิดา มารดาและญาติผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟัง”

” เมิ่อก่อนที่อายุจะครบ 60 ปี ได้นึกว่าจะเขียนหนังสือขึ้นสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของตนเอง เพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานอ่านจะได้ทราบว่าใครเป็นใครในวงศ์ตระกูลของตน ธรรมดาผู้ใหญ่ที่เล่าถึงเรื่องคนในวงศ์ตระกูล​ให้ลูกหลานฟังนั้นมักจะหยิบเอาส่วนที่ดี ที่น่าสรรเสริญของวงศ์ตระกูลมาเล่าเพื่อให้ความดีนั้นเป็นเยี่ยงอย่างให้ถือปฏิบัติต่อไปในชีวิต…..”  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

3.เรื่อง : รูทส์ ROOTS

ผู้เขียน : อเล็กซ์ ฮาลีย์ ALEX HALEY

แปล : ปราณี วงษ์เทศ และคณะ

สำนัก​พิมพ์​ : ดอกหญ้า (1988)จำกัด

 

 

“มีชาวแอฟริกันนับล้านที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นทาส มีผู้คนที่ถูกลักพาตัวเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับ “คุนตาคินเต้” แต่มันไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผู้คนนับล้านเช่นกันที่ต้องตกใจตื่นจากหลับใหลในตอนกลางคืน ส่งเสียงกรีดร้องระงมและวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอดเมื่อหมู่บ้านของพวกเขาถูกบุกเข้าโจมตี เปลวไฟโหมกระหน่ำไปทั่ว ผู้ที่รอดชีวิตจะถูกจับเอาโซ่คล้องคอชนิดคนต่อคน ให้เดินเรียงแถวยาว ซึ่งบางครั้งก็ยาวเป็นไมล์ มีคนผิวดำที่ล้มตาย หรือไม่ก็ถูกทอดทิ้งให้ตายเพราะร่างกายอ่อนแอหมดสภาพ เนื่องจากถูกทารุณ​กรรมไปตลอดทางกว่าจะถึงชายฝั่งทะเล”

รูทส์ ROOTS​ อเล็กซ์​ ฮาลีย์​  ใช้เวลาในการค้นคว้าข้อมูลรวบรวม​นานถึง 12ปี บอกเล่าประวัติศาสตร์​อเมริกา​ในยุคค้าทาส สืบค้นต้นตระกูล​ฮาลีย์​ย้อนกลับไป 7 ชั่วคนเพื่อพบกับบรรพบุรุษ​นาม “คุนต้าคินเต้” เด็กชาวผิวดำเผ่าแมนดาคาส์ ที่วิ่งเล่นอยู่ในหมู่บ้านจุฟเฟอร์ประเทศแกมเบีย​ ผู้เติบโตอย่าง​อิสรเสรี ได้รับการฝึกฝนเพื่อที่จะเป็นลูกผู้ชายดูแลเผ่าต่อไป ก่อนจะถูกพ่อค้าทาสจับตัวข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นทาสในอเมริกา…

อเล็กซ์ ​ฮา​ลีย์ จะนำพาให้เห็นสภาพประวัติศาสตร์​ของอเมริกาตามแต่ทุกยุคสมัยของตัวละครในแต่ละรุ่นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการสร้างชาติ การก่อร่างสร้างเมืองของรัฐต่างๆ การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ​ ความขัดแย้งทางความคิด ที่กว่าจะยุติได้ต้องใช้เวลานับร้อยปีแต่เป็นเพียงแค่ยุติเพื่อบรรเทาเท่านั้นเอง….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *