โลกของจีน : เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข
เข้าสู่เดือนพฤษภาคมวันนี้ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศจีนอาจจะรักษาหายและกลับบ้านจนเกือบหมดแล้ว หากจะเหลือในโรงพยาบาลก็คงแค่หลักร้อยคน จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดในจีนกว่า 82,800 คน เสียชีวิตกว่า 4,600 คน
อาจจะมีความกังวลเรื่องผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการที่สามารถแพร่เชื้อได้ประมาณ 7,000 คน ที่เกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ระบาดในวงกว้างอีกครั้งเมื่อจีนเปิดเมืองให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินกันอีกครั้ง แต่ประสบการณ์ของการปิดเมืองปิดประเทศ 3 เดือนจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้จีนมั่นใจว่าจะต่อสู้กับโรคร้ายได้
COVID-19 ทำให้โลกต้องมองจีนในมุมใหม่ ต้องศึกษาด้านสาธารณสุขของจีนให้ลึกซึ้ง
70ปีที่ผ่านมาโลกได้ประจักษ์แล้วว่าจีนเปลี่ยนตัวเองจากชาติที่เคยยากจนข้นแค้นและล้าหลังจากเทคโนโลยีแบบสุดๆ กลายมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกในทางเศรษฐกิจ เป็นอัน 1 ด้านคมนาคมขนส่ง เป็นอันดับ 1 ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และวันนี้คนครึ่งโลกเข้าใจว่าจีนน่าจะเป็นอันดับ 1 ด้านสาธารณสุขไปแล้ว
คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจีนสามารถสร้างเครือข่ายการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมประชากร 1,400 ล้านคน ทั้งคนเมืองและคนชนบทซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก แท้จริงแล้วจีนมีระบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยวัดความสำเร็จได้จากอายุเฉลี่ยชาวจีนจากแค่ 35 ปีเมื่อ 70 ปีก่อน เป็น 77 ปีในปัจจุบัน
รัฐบาลจีนประกาศนโยบายให้ถือเอาสุขภาพประชาชนเป็นตัววัดความเจริญของชาติ ตอนไวรัสโคโรน่าระบาดใหม่ๆ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ประกาศว่าเลือกรักษาชีวิตคนไว้ก่อน เศรษฐกิจเอาไว้ทีหลัง
ความรวดเร็วฉับไว เด็ดขาด บวกกับความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ทำให้จีนผ่านพ้นวิกฤติในเวลาเพียง 3 เดือนกลับมาสู่ภาวะปกติพร้อมกับส่งออกความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขไปทั่วโลก
โครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง ( One Belt, One Road) หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีนที่หยุดชะงักและบางคนว่าอาจจะล้มเลิกไปเลย วันนี้จะได้รับการขับเคลื่อนต่อพร้อมกับคำใหม่คือ “เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข” คือนอกจากจะเชื่อมโลกด้านการค้าการลงทุนด้วยระบบขนส่งทางทางบก เรือ อากาศแล้ว ยังเชื่อมต่อด้วยระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นประสบการณ์จาก COVID-19
แน่นอนว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางด้านการเมืองของจีน แต่นานาชาติย่อมพร้อมรับความช่วยเหลือและการแบ่งปันแลกเปลี่ยนด้านวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ไม่อาจปฏิเสธ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ระบุว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี โดยปีนี้ปริมาณการผลิตโลกจะลดลง 3%
แต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจีนประกาศว่าได้ส่งออกเวชภัณฑ์แล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) อาทิ หน้ากากอนามัย แว่นครอบตานิรภัย ชุดป้องกัน เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด ชุดทดสอบไวรัส เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
นับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาด ความต้องการเวชภัณฑ์ทั่วโลกพุ่งสูงโดยแหล่งผลิตใหญ่ของโลกคือจีน ข้อมูลจากทางการจีนเมื่อต้นเดือนเมษายนระบุว่า ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยของจีนสูงสุด 116 ล้านชิ้นต่อวัน หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ N95 จำนวน 3.4 ล้านชิ้นต่อวัน ชุดป้องกันทางการแพทย์มากกว่า 1.5 ล้านชุดต่อวัน
องค์การเภสัชกรรม ของไทยก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งที่สั่งซื้อหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 400,000 ชิ้น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE 400,000 ชุดจากจีน ในวงเงิน 660 ล้านบาท
จีนสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ต่อสู้กับโรคภัย กลายเป็นชาติผู้นำในการแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ส่งความช่วยเหลือนานาประเทศร่วมกอบกู้โลกจากมหัตภัยพร้อมๆกับทำการค้าหากำไรกลับประเทศ
แต่สหรัฐอเมริกาที่อยู่อีกฝั่งของซีกโลกกลับทิ้งโอกาสทอง
ในเดือนมกราคมขณะที่จีนเผชิญวิกฤติ อเมริกานั่งมองพร้อมเยาะเย้ยถากถาง แถมยังซ้ำเติมว่า “ไวรัสจีน” เป็นตัวการแพร่เชื้อไปทั่วโลก วันนี้จีนหยุดโรคได้ที่ยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่น สี จิ้นผิง สั่งเปิดเมืองเร่งการผลิตส่งเวชภัณฑ์ไปขายทั่วโลก
มองไปที่สหรัฐอเมริกาวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อกำลังวิ่งไม่หยุดสู่หลักล้านคน ทั่วประเทศมีแต่ความโกลาหล แต่ละรัฐต้องสั่งปิดเมืองท่ามกลางเสียงคัดค้านการประท้วงของคนอเมริกันบางส่วนที่ยังต้องการเสรีภาพในการใช้ชีวิต เสียงไซเรนของรถพยาบาลดังตลอด 24 ชั่วโมง แต่ไม่อาจกลบเสียงร่ำไห้ของชาวอเมริกันที่สูญเสียญาติพี่น้องในทุกนาที
ความเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ที่กลายเป็นประเทศที่ติดเชื้อและตายมากที่สุดในโลก สะท้อนถึงความประมาทความไม่พร้อมในการรับมือ เมื่อปรากฏการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ถึงขนาดต้องขอบริจาคจากจีน แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลอเมริกาที่กักของไม่ให้ส่งไปประเทศที่กำลังเดือดร้อน ทั้งยัง “ปล้นกลางอากาศ”ชิงตัดหน้าเวชภัณฑ์จากประเทศอื่นจนถูกด่าให้เป็นที่น่าอับอาย
หน้าที่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันนี้คือนับยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันและมองหา “หลุมฝังศพ” ขนาดใหญ่ให้กับชาวอเมริกัน
โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
หมายเหตุ : ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 331 วัที่ 1-15 พฤษภาคม พ.ศ.2563