28/03/2024

แอสตร้าฯออกจดหมายถึงคนไทย ร้อนตัวจะถูกควบคุมส่งออกวัคซีน

 

วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด มีจดหมายเปิดผนึกถึงชาวไทยโดยมีใจความสำคัญว่า  แอสตร้าเซนเนก้า มีความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย  ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้

แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญเรื่องการเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ  แต่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็น “ชีววัตถุ” ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน  จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตมีความไม่แน่นอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่  ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมายแต่ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

นายเจมส์ ทีก

ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

 

จนถึงขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย

ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิตอย่างสยามไบโอไซเอนซ์  บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  นอกจากนี้ยังได้พยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า 20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตามทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้

การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในทุกที่ เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างไร้พรมแดน ดังนั้น      หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคงทวีความรุนแรงก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุขให้ความเห็นว่าการที่ผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้าไทยออกจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว  ก็เพราะร้อนตัวกับการที่ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ตามความต้องการของรัฐบาลไทยคือเดือนละ 10 ล้านโดส  จนมีผลให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  ได้วางหลักการตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2564  ในการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เข้าควบคุมปริมาณวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *