สินค้าจีนยึดไทย ทำอย่างไรให้รอด?
สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน จัดการการเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “สินค้าจีนยึดไทย ทำอย่างไรให้รอด?”เมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องVIP3 ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ชั้น2 จันทรเกษมปาร์ค มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย ดร.วิชิต ประกายพรรณ ที่ปรึกษากรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล นายกสมาคมการค้าและการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน นายรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายจตุรงค์ กอบแก้ว บรรณาธิการ Creativeecon และกรรมการสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน ดำเนินรายการโดยนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากวิทยากรโดยสรุปดังนี้
นายรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ
สินค้าจีนที่จำหน่ายในประเทศไทยเริ่มต้นจากพ่อค้าแม่ค้าไทยนำเข้ามาขาย ส่วนหนึ่งเป็นซัพพลายเชนเอามาผลิตแล้วขายต่อ อีกส่วนหนึ่งเป็นเทรดเดอร์ซื้อมาขายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้จนต้องออกมาร้องกันเพราะสินค้าจีนสร้างผลกระทบถึงขั้นต้องปิดโรงงานผลิตในประเทศ ไปซื้อสินค้าจีนมาปิดยี่ห้อยังถูกกว่า และสินค้าออนไลน์รุกหนักมาก เช่น TEMU ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซของจีนได้บุกมาแล้วโดยสามารถขายสินค้าตรงจากโรงงานงานถึงผู้บริโภคไทยในราคาที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นการฆ่าพ่อค้าคนกลาง และโรงงานผู้ผลิตไทย เพราะซื้อออนไลน์ไม่มีมาตรฐานมอก.หรือ อย.บังคับ
เช่นหลอดLED ของจีนมีตั้งแต่ราคา 7-20 บาทตามวัตต์ แต่ของที่ผลิตในไทย 25 บาทหาซื้อไม่ได้ ต้องระดับ 50-60 บาทเพราะมีค่าการผลิต ค่าการตลาด และมาตรฐานมอก.บังคับ หรือตัวอย่างที่เห็นชัดคือกระดาษทิชชู่ เมื่อก่อนหากอยากได้ราคาถูกจะซื้อจากร้านค้าส่ง แต่เดี๋ยวนี้สั่งทางออนไลน์ช็อปปี้ ลาซาดา ติ๊กต็อก ราคาถูกมากและปริมาณมาก
การที่คนกลางถูกตัดทิ้งนั้นในด้านผู้บริโภคย่อมพอใจเพราะคนกลางทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่พ่อค้าคนกลางก็มีชีวิตของเขา ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้บริโภคด้วย ตอนนี้ทั้งภาคการผลิต และผู้ค้าของไทยจึงบาดเจ็บไปพร้อมกัน
พูดถึง TEMU ที่เพิ่งเข้ามาเมื่อเดือนสิงหาคม ต้องยอมรับว่ามีกลยุทธ์การตลาดที่ดึงดูดใจมากจนต้องทดลองซื้อสินค้า เพราะถูกจริตพฤติกรรมคนไทยที่ชอบช็อปปิ้ง ทดลองซื้อสินค้าราคาถูกและมีของแถม
การที่สินค้าจีนราคาถูกไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้าไทยมากนั้นเชื่อว่ามีคนได้ประโยชน์ เพราะมีข้อมูลว่าสินค้านำเข้าในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรนั้น ถ้าไม่เปิดตู้จ่าย 3,000 – 5,000 บาท ซึ่งนักการเมืองและข้าราชการบ้านเราเข้าใจปัญหาหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็เหมือนกับแก้แบบไฟไหม้ฟาง ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์ก็เหมือนปล่อยให้เอาขยะเข้ามาบ้านเรา
ทุกคนกลัวจีน ว่าถ้าพูดอะไรไปแล้วกลัวว่าจีนจะรู้สึกไม่ดีเดี๋ยวตั้งกำแพงกลับมาแล้วเราจะเดือดร้อน ทั้งๆที่เรื่องนี้น่าจะเจราจากันได้ การแข่งขันทางการค้าต้องมีเกณฑ์มาตรฐานราคาจำหน่ายเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศอย่างสมเหตุสมผล
ดร.วิชิต ประกายพรรณ
มองด้านอุตสาหกรรมเราอยากให้ต่างชาติมาลงทุนโดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตอนนี้เห็นชัดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ไทยได้อะไรนอกจากเม็ดเงินลงทุน อาจจะบอกว่าสร้างงานให้คนไทย แต่หากลงดูจริงๆแล้วซัพพลายเชนส่วนใหญ่ยังเป็นของจีนเพราะผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพตามที่โรงงานจีนต้องการ เขาจึงต้องใช้บริการจากซัพพลายเออร์จีน แต่เมื่อถามเรื่องการสอนให้ฝ่ายไทยผลิตหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีกลับไม่มีคำตอบ
บริษัทจีนหลายแห่งอ้างว่ามีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยตั้งเป็นศูนย์อะไรต่างๆ แต่สิ่งที่เขาถ่ายทอดนั้นแค่เปลือกไม่ใช่หัวใจ เด็กจบออกไปก็ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้ามกับจีนตอนที่เปิดประเทศส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนที่จีน มีข้อบังคับหลักคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีและจีนเอาจริง รัฐบาลจีนบังคับจริง เป็นที่มาของการก้าวกระโดด รัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนจีนไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อนำเทคโนโลยีต่างประเทศกลับไปใช้ในบ้าน หันกลับมามองบ้านเราไทยแทบจะไม่ได้อะไรเลยจากบริษัทข้ามชาติแม้แต่การจ้างงาน ไม่ใช่ระดับวิศวกร คนไทยถูกจ้างต่ำกว่านั้น
การสื่อสารทำการตลาดของจีนเก่งมาก มีแคมเปญ Shop like a billionaire หรือช็อปปิ้งเหมือนกับเศรษฐีพันล้าน คุณจ่ายแค่พันบาทแต่ได้ของเต็มโต๊ะ แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้มาคืออะไร ไม่อยากใช้คำว่า “ซื้อขยะ”เพราะใช้ไม่ได้ หรือใช้เดี๋ยวเดียวก็พัง ที่สำคัญคือสินค้าจีนไม่มีมอก. แต่หากเราส่งสินค้าไปขายจีนเขาจะมี Trade Barrier คือคุณต้องได้มาตรฐานตามเขา คำถามกลับ สินค้าจีนมาไทยได้มาตรฐานตามเราหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”
ตอนนี้ในคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ได้ผลักดันร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ……..เข้าคณะรัฐมนตรี หลักการคือรักษาผลประโยชน์ของประเทศแบบเดียวกับจีน สินค้าต้องกำหนดราคามาตรฐานด้วยมอก.หรือ อย. โดยพิจารณาต้นทุนภายในประเทศ ป้องกันการแข่งขันที่ผูกขาดภายในประเทศ จะมีการสื่อสารให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าถึง มีการเพิ่มโทษและขยายอายุความเป็น 3 ปี
นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือโดยคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ร่วมกับสถานทูตจีน บริษัทเอกชนจีน ทำโครงการให้เกิดซัพพลายเชนที่เป็นของคนไทยที่สอดคล้องกับความต้องการของจีน แก้ข้อครหาEVศูนย์เหรียญซึ่งสถานทูตจีนบอกว่าฟังแล้วไม่สบายใจ
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ขาดดุลการค้าจีน แต่75% ของโลกก็ขาดดุลจีน ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจจีนเติบโตมากจนอั้นในประเทศเกิด Over Capacity บริษัทในจีนมีกำลังการผลิตล้นเกินจนต้องหาทางระบายไปยังประเทศที่ไม่มีกำแพงภาษี ไม่มีกฎหมายคุ้มครองปกป้องผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างเข้มข้น อย่างในกลุ่มอาเซียน ไทยเราอาจมีกฎหมายแต่ไม่ถูกใช้อย่างเข้มข้น สินค้าจีนจึงเข้ามาอย่างง่ายดาย
ในจีนเองมีการแข่งขันสูงมากต้องพัฒนาเทคโนโลยีจนต้นทุนสินค้าถูกลง จีนมี Chinese Standard มาตรฐานสินค้าของจีน เมื่อขายในประเทศเขาก็ต้องผ่านมาตรฐานจีน
เราควรเอาวิกฤตินี้กลับมามองว่าการที่โรงงานเอสเอ็มอีไทยต้องปิดตัวลงนั้น เราต้องให้ผู้ประกอบการไทยเห็นว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว จะผลิตแบบเดิมๆ20-30ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้ว่าทำไมจีนทำได้แล้วเราจะทำอย่างไร
บางคนบอกว่า Economy of scale จีนผลิตทีละล้านชิ้นต้นทุนเลยถูก เป็นอย่างนั้นจริงหรือ โรงงานจีนทุกแห่งก็ไม่ได้ผลิตมากเช่นนั้น ทำไมเขาผลิตเล็กๆน้อยๆก็ยังอยู่ได้ หรือที่น่าสังเกตุวันนี้จีนใช้เครื่องจักรทั้งหมด ระบบออโตเมชั่น วัสดุรีไซเคิล แทบเป็นซีโร่เวส(Zero Waste) ใช้หุ่นยนต์ โดรน แทบไม่ใช้แรงงานมนุษย์เลย
การเข้ามาของสินค้าใช่ว่าจะมีโทษทุกอย่าง เช่นEVจีนนั้นมีการออกแบบ มีดีไซน์ที่สวยงาม สร้างความดึงดูดใจและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ขายยกเข่งเหมือนเดิม
ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล
20ปีก่อนสินค้าส่วนใหญ่ Made in Japan ต่อมาสินค้าจากไต้หวันเข้ามาเสียบแทน มาระยะหลังเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น Made in China ที่ไทยผลิตไม่ได้
สินค้าจีนและทุนจีนไม่ใช่มาแค่ไทยแต่ปัจจุบันไปทั่วโลก เหตุที่สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากเพราะจีนมีปัญหาการผลิตล้นมาก การที่ขายราคาถูกมากนั่นเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่ากลัวคือไม่มีมาตรฐานมอก. หรือ อย.ซึ่งอันตรายต่อผู้บริโภค ทางภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล ข้อสังเกตุคือคนจีนนำสินค้าจีนเข้ามาขายคนจีนในไทยด้วยกันเอง
สินค้าจีนไม่ถึงกับยึดตลาด ต้องใช้คำว่าเพิ่มสัดส่วนในตลาดมากกว่า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทยส่วนใหญ่คือเครื่องใช้ไฟฟ้า ผักผลไม้สด เสื้อผ้ารองเท้า เครื่องใช้ในบ้าน ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในครัวเรือนและโต๊ะอาหาร
ภาคเกษตรไทยเจอปัญหาต้นทุนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแพงขึ้นมากในรอบสิบปี แต่ผักผลไม้จีนราคาถูกมากจนน่าสงสัยว่าแค่ค่าบรรจุหีบห่อ ค่าขนส่งจากจีนมาไทยก็สูงแล้วยังขายในราคาต่ำได้อย่างไร รัฐบาลจีนอุดหนุนอย่างไรหรือไม่
การแก้ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักให้ยั่งยืนนั้นเราต้องทำการบ้านศึกษาศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ( Free Trade Area : FTA) ซึ่งมีสองกรอบคือ FTA ไทย-จีน และ FTA อาเซียน-จีน ซึ่งใช้มานานแล้วและยังไม่ครอบคลุมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภท ต้องเจรจากันใหม่โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรฐานอาหารและยาของไทยเรา ต้องทบทวนในหมวดการเกษตรซึ่งไทยไม่ควรทำข้อตกลงแต่ก็ทำไปแลเวและกำลังจะตาย เพราะตอนนี้ผักผลไม้จีนเข้ามาตีตลาดจนเกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ไม่ได้เพราะสินค้าจีนขายถูกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งเพราะรัฐบาลจีนให้การอุดหนุน
จตุรงค์ กอบแก้ว
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 โรงงาน และการขาดดุลการค้าจีนช่วงครึ่งปีแรกกว่า 7 แสนล้านบาท ถูกมองว่ามาจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับว่าสินค้าจีนทะลักเข้ามามาก มีการออกมาตรการมาแก้ไข ทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้จดมาตรฐานสินค้า
ทางสถานทูตจีนเคยออกแถลงการณ์ว่าก่อนปี 2563 ไทยได้เปรียบดุลการค้าจีนมาตลอด นับจากปี 2563 ไทยเริ่มขาดดุลการค้าจีน ซึ่งสถาทูตจีนบอกว่าสินค้าที่นำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก ส่วนสินค้าราคาถูกส่วนใหญ่นั้นใช้ในชีวิตประจำวันเทียบสัดส่วนไม่เกิน 10% จีนพยายามควบคุมคุณภาพมาตรฐานจากต้นทาง แต่ก็ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนลักลอบส่งสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาขายซึ่งก็อยากให้รัฐบาลไทยจัดการอย่างเด็ดขาด