อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในวันเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี
สัมภาษณ์พิเศษ
สุโรจน์ แสงสนิท
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
“ การผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนนั้นไม่ได้บ่งบอกว่าจะทิ้งความเป็นหนึ่งของอาเซียนในรถยนต์น้ำมัน”
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
หลายคนมองว่าประเทศไทยที่เคยเป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนและเคยติด 1ใน10อันดับโลก เคยมียอดการผลิตรวมปีละ 2 ล้านคัน มียอดส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดโลกปีละ 1 ล้านคัน กำลังจะเสียตำแหน่งดังกล่าวอันเนื่องมาจากเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียานยนต์ จากรถยนต์สันดาปภายในสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานใหม่
ขณะเดียวกันการตบเท้าเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายรถยนต์จีนหลากหลายแบรนด์ในประเทศไทย ด้านหนึ่งมองว่าเป็นความสำเร็จจากนโยบายของรัฐบาลและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่บรรยากาศของตลาดรถยนต์ในปัจจุบันอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแข่งขันทางการตลาดได้สร้างคำถามว่า ประเทศไทยเดินถูกทางหรือไม่ และอนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะเป็นอย่างไร
นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand : EVAT) ที่เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งในวาระปี 2567-2569 ได้ให้เกียรติมาตอบคำถามเหล่านี้
ปี 2023ไทยอยู่ในอันดับ 11 ของโลกจากยอดผลิตรถยนต์ทั้งปี แต่ยังไม่ได้เปรียบเทียบว่าปีนี้เราจะตกไปอยู่อันดับไหน ส่วนในอาเซียนไทยเคยครองอันดับ 1 มาหลายปีแต่ ณ วันนี้เราน่าจะอยู่อันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย สาเหตุไม่ใช่เพราะสองประเทศนั้นแซงหน้าเราผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะไทยเราเองที่ผลิตรถยนต์ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง กำลังซื้อลดลง ปี 2023 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน คาดว่าปี 2024 นี้ยอดการผลิตรถยนต์รวมจะลดลงอยู่ในระดับประมาณ 1.75 ล้านคัน
มีหลายคนกล่าวว่าการเข้ามาของรถจีนทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเสียหาย ข้อนี้อย่าให้จีนเป็นแพะ เพราะยอดการผลิตที่ลดลงนั้นมาจากสภาพเศรษฐกิจ ที่เห็นชัดเจนเช่นรถยนต์กระบะที่ลดลงถึง 40% โดยรถEVจีนที่นำเข้าไม่มีรถกระบะเลย ส่วนรถยนต์อีโคคาร์นั้นชัดเจนว่ามีรถEVเข้ามาแข่งขันเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาแย่งเค้กก้อนเท่าเดิม
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่รถยนต์ใช้น้ำมันอย่างเดียวที่ลดกำลังการผลิต โรงงานรถยนต์ไฟฟ้าก็ลดการผลิตลงด้วย เพราะถ้าผลิตแล้วขายไม่ได้ต้องแบกสต็อกมีค่าดูแลรักษาสูง แต่ถ้าไม่ผลิตตอนนี้ก็ต้องเอาไปผลิตชดเชยการนำเข้าภายใน 2 ปีถึงสิ้นปี 2568 ตามข้อตกลงกับกรมสรรพสามิต
สงครามราคาจะพากันตายหมู่ เพราะการปรับราคาลดลงไม่ได้ช่วยเพิ่มยอดขาย คนที่ซื้อไปแล้วไม่พอใจ คนที่มีกำลังซื้อหรือต้องการจะซื้ออยู่แล้วจะเกิดการลังเล จะคอยดูว่ายี่ห้ออื่นจะลดราคาตามลงมาหรือเปล่า ทำให้ตลาดนิ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ปล่อยยากอยู่แล้วก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีอัตราการยึดรถคืนสูงมาก เมื่อเกิดสงครามราคาจะทำให้มูลค่ารถยนต์ลดลงด้วยกลับเป็นผลเสียต่อสถาบันการเงิน สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง
คนไทยไม่ได้ซื้อรถยนต์เพราะราคาถูกอย่างเดียว มองคุณภาพว่าคุ้มราคาหรือไม่ เห็นได้จากบางย่าห้อเปิดตัวทีหลังเปิดราคาแพงกว่าแต่กลับขายดีกว่า บ่งบอกชัดเจนว่าคนไทยไม่ได้มองแค่ราคา เพราะยังมีเรื่องการบริการหลังการขาย เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับรถยนต์
อนาคตของรถยนต์พลังงานใหม่นั้นมีหลายประเทศประกาศว่าต่อไปจะไม่จดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่ประเทศไทยใช้นโยบาย 30 @ 30 ซึ่งหมายถึงเป้าหมายผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 ซึ่งไม่ได้บอกว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว อาจจะใช้ไฮโดนเจน หรือพลังงานสะอาดอย่างอื่นอีกมากมายที่กำลังพัฒนา เพียงแต่ว่าถ้าเรามีความตั้งใจที่จะลดโลกร้อน 1.5 องศาให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2030 ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องได้และเริ่มลดได้ทันที
ทิศทางตลาดรถยนต์ไทยจะเป็นอย่างไรเราต้องดูจีนก่อน จีนผลักดันและพัฒนารถยนต์มากว่า 15 ปีแล้ว วันนี้มีรถEV วิ่งอยู่ในประเทศประมาณ 40% ของไทยวันนี้ EV มีสัดส่วนประมาณ 14% ถือว่าไวกว่าจีน อาจจะเป็นความโชคดีบนความโชคร้าย เพราะอินโดนีเซียกับมาเลเซียเขาใช้น้ำมันในราคาลิตรละประมาณ 15 บาท รถEVบ้านเขาจึงไม่โตเท่าบ้านเรา ในไทยน้ำมันแพงผู้บริโภคจึงหันไปใช้รถEVมากขึ้โดยไตรมาสแรกปี 2023 จำนวนรถEV ในไทยเป็นสัดส่วน 80% ของอาเซียนรวมออสเตรเลีย
นโยบายของไทยที่ต้องการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนนั้นไม่ได้บ่งบอกว่าจะทิ้งความเป็นหนึ่งของอาเซียนในรถยนต์น้ำมัน เป้าหมายทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการ สนับสนุนทั้งสองขามาตั้งแร่แรก ทั้งEVและไฮบริด รวมทั้งพลังงานทดแทนอื่น
ไม่ใช่แค่ไทยที่ประกาศจะเป็นหนึ่งในอาเซียนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีคู่แข่งขันที่เติบโตขึ้นมา อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่พูดเหมือนกันหมด แต่เวียดนาม มีวินฟาสต์ (VinFast) มาเลเซีย มีโปรตอน(PROTON) ที่เขาต้องคุ้มครองรถยนต์แห่งชาติก่อน ส่วนไทยไม่มีรถยนต์แห่งชาติแต่ก็ต้องคุ้มครองรถยนต์กระบะซึ่งเป็น Product Champion ของไทย
ที่บอกว่าพอจีนเข้ามาญี่ปุ่นถอย ทำให้เกิดการลดกำลังการผลิต ปิดโรงงาน การตกงานที่หลายๆคนคิดนั้น อยากให้มองอีกมุมในภาพรวมว่าที่ปิดไปเท่าไรและที่เปิดใหม่เท่าไร การส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไม่ได้เลือกสัญชาติ ไม่ได้อวยรถจีน แต่อวยเทคโนโลยีของอนาคต ทุกคนต้องพัฒนาตามเทคโนโลยี การจ้างงานไม่ได้ลดลงแน่
ที่มองว่าวิกฤติเพราะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนหายไปเยอะ รถยนต์สันดาปมา 30,000 ชิ้น รถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 3,000 ชิ้น ความจริงคือเครื่องยนต์มีชิ้นส่วนประมาณ 20,000 ชิ้นซึ่งทุกยี่ห้อล้วนนำเข้ามาจากประเทศแม่
ทุกความเปลี่ยนแปลงจะมีผู้หายไป จะมีหน้าใหม่เข้ามา ผู้ผลิตชิ้นส่วนเดิมส่วนหนึ่งอาจจะหาช่องทางปรับตัวให้สามารถรองรับยานยนต์ยุคใหม่ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จะมีซัพพลายเออร์ใหม่ๆเข้ามาร่วม เชื่อว่าซัพพลายเชนจะใหญ่ขึ้นไม่ใช่ตายจากไป
แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศรัฐบาลต้องพลักดันให้เกิดการร่วมทุน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เราไม่ต้องการให้ยกไลน์การผลิตมาทั้งยวง ณ วันนี้ยังไม่บังคับ เป็นแค่ตัวเลือก เป็นจุดอ่อน บีโอไอควรมีเงื่อนไขแบบนี้เพื่อให้หาผู้ร่วมทุน ใช้บริษัท Automation ของคนไทย
อาเซียนคือฐานส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงเป็นโอกาสของไทยในการเปิดตลาดให้ค่านรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามาลงทุน จีนตั้งใจมาอาเซียนเพื่อกระจายความเสี่ยงไปหลายประเทศ ด้วยเงื่อนไขการนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องแปลงสัญชาติรถจีนเป็นรถไทย ออกถิ่นกำเนิด Made in Thailand ซึ่งหมายถึงต้องใช้วัตถุดิบ ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ แรงงานในประเทศไทย เป็นข้อบังคับที่เลือกไม่ได้ ไม่ใช่แค่ยกมาประกอบในไทยแบบย้อมแมว ส้มหล่นแน่ๆแต่จะทำอย่างไรให้หล่นในประเทศไทยมากที่สุด
สุดท้ายการที่มีข่าวว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรวมพลังจับมือกันพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่ออกมาสู้กับจีน ถือเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น เป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกมากขึ้น