29/03/2024

จีนรับความเสี่ยง ปรับนโยบายโควิด

 

โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

การที่ประธานาธิบดี สี  จิ้นผิง  ยอมถูกนินทาและถูกด่าในการเลือกใช้ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Dynamic zero COVID )  ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะไม่อาจยอมรับทฤษฎีของฝั่งตะวันตกที่ว่า ถ้าติดเชื้อกันมากๆแล้วจะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างที่รัฐบาลไทยรีบเชื่อและเร่งเปิดประเทศ

 

 

เพราะจีนไม่สามารถเสี่ยงกับประชากรที่มีอยู่ 1,400 ล้านคน จึงสู้ยอมปิดเมือง เร่งระดมฉีดวัคซีนที่สามารถผลิตได้เอง  หาทางควบคุมและกำจัดเชื้อไวรัสให้สิ้น   โดยเชื่อมั่นว่าวินัยของคนจีน  ผสมมาตรการที่เด็ดขาดและวัคซีนจีนจะเอาชนะไวรัสได้

นักวิชาการด้านการแพทย์ทั้งของจีนและฝั่งตะวันตกเคยฉายภาพที่น่าหวาดกลัว  คนจีนบนแผ่นดินใหญ่อาจต้องเสียชีวิตจากเชื้อโควิดมากกว่า 2 ล้านคนถ้าผ่อนคลายมาตรการอย่างที่ฮ่องกงเคยทำ  เพราะทันทีที่ฮ่องกงผ่อนคลายความเข้มงวด  ตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตได้พุ่งสูงในระดับโลก

 

 

นักวิทยาศาสตร์ในจีนและสหรัฐ ประเมินว่าแม้ความรุนแรงจะน้อยลงแต่การติดเชื้ออาจแพร่กระจายมากกว่า 200 ล้านคน   สร้างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า 1.5 -2 ล้านคน ถ้ายกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์โดยไม่เพิ่มการฉีดวัคซีนและเข้าถึงการรักษา   เพราะความต้องการห้องไอซียูจะพุ่งเกินขีดความสามารถถึง 15 เท่า  ดังภาพที่เคยปรากฏในประเทศไทยที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

นักวิจัยทั้งชาวจีนและต่างประเทศเห็นตรงกันว่า  อัตราการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นในจีนยังต่ำ  จึงยังขาดภูมิคุ้มกันหมู่  หากยกเลิกมาตรการควบคุมที่เข้มข้นก็จะเกิดความเสี่ยงดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังการประท้วงใหญ่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  แม้จะเป็นการท้าทายอำนาจประธานาธิบดีสี  ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติต่ออายุการเป็นผู้นำสูงสุดของจีนจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิส์จีน  แม้จะตำหนิเหล่านักศึกษาที่ลุกขึ้นมาจุดชนวนการประท้วง  แต่ผู้นำจีนได้แสดงท่าทีผ่อนคลายความเข้มงวด  ด้วยคำกล่าวที่ว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดในขณะนี้มีความอันตรายน้อย และปูทางให้จีนผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ลง

3 ปีที่ผ่านมาจีนทุ่มเทเวลาและงบประมาณมหาศาลในการควบคุมการแพร่ระบาด  ยอมสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ  หรืออีกทางคือความถดถอยทางเศรษฐกิจด้วยเหตุว่า “เพื่อรักษาชีวิตคนจีน”  ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลหรือความชอบธรรมหากจะใช้วิธีการรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสมัย “เทียนอันเหมิน” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989  ซึ่งสื่อตะวันตกเคยรายงานว่าเป็นเหตุการณ์การ “สังหารหมู่” ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คน

ความเด็ดขาดของการบังคับใช้กฎหมายในจีนนั้นเป็นที่เลื่องลือว่าหากศาลตัดสินประหารชีวิตก็คือประหาร ไม่มีการลดหย่อยผ่อนโทษ  สารภาพเหลือครึ่งราคา  ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกมาชูคอในสังคมได้อีกครั้ง  เพราะมีกระบวนการช่วยลดหย่อยผ่อนโทษกันได้หากบารมีถึง เงินถึงเหมือนในประเทศสารขัณฑ์

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะขึ้นชื่อว่าคน  อาจจะขังกายได้แค่ขังจิตใจไม่ได้  มาตรการล็อคดาวน์ที่ล็อคแล้วล็อคอีก  โดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไร  เมื่อมาเห็นภาพนานาประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายการควบคุม  เห็นการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ  ได้ออกกินข้าวนอกบ้าน  ได้ออกท่องเที่ยวสนุกสนานเบิกบานต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นจุดหมายหลักของคนจีน  เห็นภาพนักท่องเที่ยวทั่วโลกออกันแน่นที่ด่านตรวจขาเข้า  แต่ไร้นักท่องเที่ยวจีนที่เคยครองอันดับ 1  เคยเยือนไทยปีละ 11 ล้านคน

ความอึดอัดในการใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านซึ่งไม่ต่างกับการถูกลงโทษกักบริเวณ  ความยากลำบากจากการขาดแคลนรายได้  บางชุมชน บางพื้นที่ประสบปัญหาด้านอาหารการกินเนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลแบบไม่ถั่วถึงหรือไม่ใส่ใจ ฯลฯ  ความเหลืออดมาถึงจึงต้องลุกขึ้นมาร้องตะโกนดังๆกันบ้างแม้จะท้าทายอำนาจรัฐ  แม้จะมีโอกาสถูกจับกุมเข้าคุก  เพราะมันก็แค่เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมในบ้านไปนอนคุกที่มีลูกกรง  มียามดูแล 24 ชั่วโมง  มีอาหาร 3 มื้อ  แถมยังได้เพื่อนคุยมากขึ้น

 

 

การลุกขึ้นมาอีกครั้งของนักศึกษาและประชาชนในรอบ 3 ทศวรรษ  ที่แม้จะมีเสียงแทรกโจมตีตัวผู้นำหรือพรรคการเมืองบ้าง  แต่จุดมุ่งหมายหลักคือปฏิเสธการล็อคดาวน์และขอคืนการใช้ชีวิตตามปกติ  ซึ่งน่ายินดีที่รัฐบาลปักกิ่งยอมฟังและมีการตอบสนองค่อนข้างจะรวดเร็วในการปรับปรุงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่เคยใช้มา  รวมทั้งการตรวจหาเชื้อ การรักษา และการกักตัว

ถึงขณะนี้หลายเมืองได้ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลการตรวจโควิดเพื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน  รถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างเมือง  หรือสถานที่ที่มีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก อย่างซูเปอร์มาเก็ต  สวนสาธารณะ

 

 

อย่างไรก็ตามการที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก(WHO)   ออกมาให้ความเห็นว่า   รัฐบาลจีนควรจะพิจารณาใช้วัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ  อาทิ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา  ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ชาวจีนในประเทศ  เนื่องจากที่วัคซีนที่ผลิตในจีนมีประสิทธิผลน้อยกว่า  และอาจจะควบคุมสายพันธุ์โอมิครอนไม่อยู่แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่า

ข้อเสนอดังกล่าวตอบได้ทันทีว่าเป็นไปไม่ได้เลย  เพราะเท่ากับเป็นการตบหน้ารัฐบาลจีนและเป็นการยอมรับว่า วัคซีนจีนอย่าง ซิโนแวค  ซิโนฟาร์ม ที่ระดมฉีดไปทั้งประเทศแถมยังบริจาคให้นานาชาติรวมทั้งไทยจำนวนนับพันล้านโดสนั้นด้อยประสิทธิภาพจริงอย่างที่ฝรั่งชาติตะวันตกวิจารณ์

 

 

หรือจะเป็นคำตอบว่าทำไมรัฐบาลจีนจึงยังต้องใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ทั้งๆที่ 90.4 % ของประชากรจีนได้รับวัคซีน 1 เข็มขึ้นไปแล้ว   และ 89.7 % ของประชากรได้รับครบโดส 2 เข็ม  ซึ่งน่าจะมากเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

อย่าลืมว่าในช่วงวิกฤติที่โควิด-19 ระบาดหนักและผู้คนตายเป็นใบไม้ร่วง  WHO นั่นแหละที่อนุมัติรับรองวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์มของจีน ว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ให้ใช้ได้กรณีฉุกเฉิน

……………………………………………………………………..

หมายเหตุ : ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์  ปีที่ 16 ฉบับที่ 394 วันที่ 16-31 ธันวาคม พ.ศ.2565

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *