29/03/2024

บทความพิเศษ ประชาธิปไตยไทย กับมาตรฐานไบเดน

โดย นามบูรพา

 

 

คำว่า “ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเอามาใช้กับต่างประเทศนั้นวันนี้คนทั้งโลกได้เห็นว่ามี 2 มาตรฐานและแท้ที่จริงเป็นคำอ้างเพื่อแสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลก

เห็นได้จากเมื่อครั้งเกิดการประท้วงในฮ่องกงปีที่แล้วผู้ประท้วงบุกสนามบิน  บุกสถานีรถไฟ  ทุบทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ทางการต้องสลายม็อบและจับกุมผู้ก่อเหตุ  รัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ  ทางอเมริกาได้โจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้ความรุนแรง

แต่เมื่อเกิดการประท้วงการเหยียดผิวและความอยุติธรรม(Black Lives Matter) ขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา  มีการเผาทำลายร้านค้า ขโมยสินค้า  ก่อจลาจลกลางเมือง  ทางการต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังทหารเข้ากวาดล้างจับกุมผู้ประท้วงโดยปรากฏภาพการใช้กำลังที่รุนแรง  แต่รัฐบาลก็บอกว่าทำตามกฎหมายเพื่อความสงบในบ้านเมือง

หรือกรณีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาเพื่อขัดขวางการรับรองนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่แล้วถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต 5 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นผู้หญิงมือเปล่าไร้อาวุธ  ภาพความรุนแรงดังกล่าวกลับถูกมองข้ามแถมยังเบี้ยงประเด็นไปมุ่งถอดถอนอดีตผู้นำในฐานะผู้ยุยงปลุกปั่น

ทั้งสองกรณีที่อเมริกาหากเทียบกับการสลายม็อบนักศึกษาในไทยด้วยรถปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งถูกสื่ออเมริกันโจมตีมากว่าไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ใช้ความรุนแรง  ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าใครป่าเถื่อนกว่ากันแน่

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  ออกแถลงการณ์รายงานเหตุการณ์ตำรวจไทยสลายการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาบริเวณราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2020 ว่า เป็นการชุมนุมโดยสันติ  การที่ตำรวจใช้รถปืนฉีดน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล  และการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยไม่มีความผิด

ก่อนหน้านั้นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยถูกโจมตีว่าให้การสนับสนุนม็อบและแทรกแซงการเมืองไทย  แต่ทางสถานทูตได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

“รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้เงินทุนหรือให้การสนับสนุนการประท้วงในประเทศไทย สหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนบุคคลหรือพรรคการเมืองใด แต่เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ในฐานะมิตรประเทศของไทย  เราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายดำเนินการด้วยความเคารพและระมัดระวังต่อไป ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ถึงแนวทางในการที่ประเทศจะก้าวต่อไปข้างหน้า” แถลงการณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2020  สมาชิกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย ส.ว.กลุ่มหนึ่งซึ่งมีนางแทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว. อเมริกันเชื้อสายไทยร่วมอยู่ด้วย  ได้ออกมาสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของไทยพร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัว หยุดดำเนินคดี และหยุดคุกคามผู้เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ

           “ดิฉันขอเรียกร้องให้ผู้นำไทยรับฟังเสียงประชาชนและยึดหลักการประชาธิปไตยไว้เป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล” แทมมี ดักเวิร์ธ กล่าวในแถลงการณ์

นอกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มส.ว.อเมริกันแล้วก่อนสิ้นปี 2020 “องค์การนิรโทษกรรมสากล”(Amnesty International) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยร่วมเรียกร้องให้ยกเลิกการการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบจำนวน 220 คน ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย

ในแถลงการณ์ระบุว่า อย่างน้อย 149 คนในจำนวนบุคคลถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะภายใต้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอย่างน้อย 53 คนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น  จำนวน 37 คนถูกดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย  (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

ถึงวันนี้มีการตั้งคำถามว่าเมื่อสหรัฐอเมริกามีผู้นำคนใหม่ชื่อ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตซึ่งเน้นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จะมีผลต่อบรรยากาศทางการเมืองไทยอย่างไร  การชุมนุมจะกลับมาคึกคักไหม

ถ้าย้อนดูความสัมพันธ์ของไทยกับอเมริกาช่วงโจ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดีคู่กับประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ตรงกับช่วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารก่อตั้งรัฐบาลคสช.  ปฏิกริยาตอบโต้จากอเมริกาคือลดระดับความร่วมมือทางการทหารลง  ระงับการให้เงินช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมถึงระงับการซื้อขายอาวุธให้กับไทย จนกว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย

อเมริกากลับมาแล้ว และพร้อมจะนำพาไม่ใช่ถอยออกจากประชาคมโลก ” คือ คำมั่นสัญญาที่ไบเดนกล่าวหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

จากคำประกาศดังกล่าวประกอบกับนโยบายที่ไบเดนหาเสียงไว้ในเวทีต่างๆพอจะประมวลเรื่องสำคัญๆที่เขาจะเร่งดำเนินการคือ

1.นำสหรัฐอเมริกากลับเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก  แล้วทุ่มเทสรรพกำลังในการสกัดยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 และเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกันทั่วทั้งประเทศเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

  1. สหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงว่าด้วยโลกร้อน(Paris Agreement)
  2. นำสหรัฐอเมริกากลับสู่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership)
  3. นำสหรัฐอเมริกากลับสู่ความเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของทั่วโลก

แต่เรื่องที่น่าส่งผลต่อไทยมากที่สุดคือนโยบายส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  และการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด

นักการเมืองไทยคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันน่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน  ที่มาของนายกรัฐมนตรี  หรือวิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมทางการเมือง

ในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำโดยพรรครีพับลิกัน ให้ความสำคัญกับการค้าขายมากกว่าเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน  แต่ในสมัยโจ ไบเดน เป็นที่แน่ชัดว่าพรรคเดโมแครตกลับมาจับตาประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวซึ่งจะถูกยกเป็นประเด็นต้นๆในการพูดคุย  หรืออาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองและกดดันดังเช่นในอดีต

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *