26/04/2024

โอกาสของกล้วยไม้ไทยในตลาดจีน

 

โดย………. ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล / ผศ.ดร.สุเทพ นิ่มสาย

บทบาทกล้วยไม้ไทย

สินค้าการเกษตรถือเป็นสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย หนึ่งในสินค้าการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ไม้ดอก (พิกัดศุลกากร 0603) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในปี 2561 มากถึง 2,486
ล้านบาท (Global Trade Atlas, 2019) ไม้ดอกที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ กล้วยไม้ตัดดอก (พิกัดศุลกากร 060313)  ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2,287 ล้านบาท (Global Trade Atlas, 2019) การส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆในอนาคต เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเขตร้อน ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง การผลิตไม้ดอกไม้ประดับพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดจึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากประเทศไทยเข้าสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งตลาดกล้วยไม้ในประเทศจีนมีการเติบโตทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

 

นอกจากนี้ประเทศจีน ถือเป็นตลาดผู้นำเข้ากล้วยไม้ที่สำคัญอีกตลาดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสนใจ จากสถิติการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปประเทศจีน พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 198 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.16 (Global Trade Atlas, 2562) โดยประเทศจีนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากผู้บริโภคจีนยูนนานนิยมใช้กล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้นในการตกแต่งสถานที่และใช้ในงานพิธีการต่างๆ และชาวจีนยังมีวัฒนธรรมอันยาวนานกับกล้วยไม้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการนำดอกกล้วยไม้ไปประดับในโรงแรม และงานแต่งงาน (ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง, 2557) อีกทั้งการค้นหากล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ๆยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิจัยกล้วยไม้จีน

 

 

ดังนั้นการศึกษากลไกตลาดและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกกล้วยไม้ของไทยในตลาดประเทศจีน และช่วยวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการส่งออกกล้วยไม้ไทยในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทานการส่งออกกล้วยไม้ของไทย สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกกล้วยไม้ของไทยในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

สถานการณ์การค้าของดอกไม้และกล้วยไม้ตัดดอกในประเทศจีน

ประเทศจีนมีแหล่งเพาะปลูกกล้วยไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน มณฑลทิเบต มณฑลหูหนาน มณฑลหูเป่ย์ มณฑลเจียงซี มณฑลเจียงซู มณฑลอานฮุย มณฑลกว่างตง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลไห่หนาน ปัจจุบันประเทศจีนมีสายพันธุ์กล้วยไม้ในประเทศจีนมีทั้งหมด 161 สายพันธุ์ รวม 1,100 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่กล้วยไม้ที่จีนนิยมเพาะปลูกนั้นได้แก่สกุลพันธุ์กะเรกะร่อน ซิมบิเดียมจุหลัน กล้วยไม้ซิมบิเดียม kanran และซิมบิเดียมจีน พื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ได้แก่ มณฑลกว่างตงและมณฑลฝูเจี้ยน จากสถานการณ์การค้าดอกไม้ของจีนในปัจจุบันมีมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มาจากการผลักดันของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ตลาดประมูลดอกไม้นานาชาติคุนหมิงเป็นผู้นำด้านการประมูลดอกไม้ในภูมิภาคเอเชีย โดยจากสถิติมูลค่าการนำเข้าไม้ตัดดอกของประเทศจีน ในปี 2561 พบว่า ประเทศจีนนั้นนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศเอกวาดอร์มากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีมูลค่า 598.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.64 รองลงมาได้แก่ ประเทศไทย มีมูลค่า 481.96 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.07 เนเธอร์แลนด์ มีมูลค่า 316.45 ล้านบาท จากการพยากรณ์แนวโน้มมูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของจีน โดยใช้วิธีการพยากรณ์แบบเอ็กโพเนนเชียลใน 5 ปีข้างหน้าพบว่ามูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเมินจากข้อมูลมูลค่าการนำเข้าในปี 2561 โดยข้อมูลของปี 62 – 65 ยังไม่ปรากฎชัดเจนในผลผลิตรวมของตลาดกล้วยไม้ แต่มีการรวบรวมข้อมูลของไม้ดอกว่า สำหรับในปี 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกไม้ดอกปริมาณ 23,390 ตัน มูลค่ารวมกว่า 1,484 ล้านบาท (มูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 37.09) ตลาดส่งออกไม้ดอกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี เกาหลีใต้ เป็นต้น สาเหตุที่การส่งออกของไม้ดอกที่ลดลง เหตุใหญ่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเหตุวิกฤตของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ไว้ว่า ตลาดกล้วยไม้ภายหลังจากโควิด-19 จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, 2564) อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าเมืองคุนหมิงนั้นมีการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกจากประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในคุนหมิงเพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงโอกาสของกล้วยไม้ตัดดอกของประเทศไทยต่อไป

 

 

โซ่อุปทานกล้วยไม้ไทยไปตลาดจีน

จากการศึกษาพบว่า การส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปยังประเทศจีน (ตอนใต้) นั้น จะทำการส่งกล้วยไม้ตัดดอกผ่านเส้นทางสายเศรษฐกิจ R3A (ทางบก) และทางอากาศโดยส่งออก ณ สนามบินสุวรรณภูมิ (ทางอากาศ) จากนั้นผู้นำเข้าจะทำการกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทาง ณ เมืองคุนหมิง ประเทศจีน (ตอนใต้) เพื่อศึกษาถึงโอกาสทางธุรกิจการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทย จากการศึกษายังพบว่า ในปี 2561 กล้วยไม้ตัดดอกของประเทศไทยนั้นผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด และส่งออกถึงร้อยละ 53 จากการศึกษาถึงลักษณะประเภทผู้ประกอบการส่งออก (Exporter) กล้วยไม้ตัดดอกของไทย พบว่า ผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปยังตลาดประเทศจีน (ตอนใต้) นั้นมี 2 ประเภทกลัก คือ

  1. ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทย คือ ผู้ประกอบการผลิตกล้วยไม้รายใหญ่ที่อยู่ในเขตภาคกลางจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทย โดยจะทำการส่งออกไปยังตลาดปลายทางอย่างประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศจีน เป็นต้น
  2. ผู้ประกอบการส่งออกชาวไทย เป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับผู้นำเข้าในประเทศจีน (ตอนใต้) เพื่อจัดหากล้วยไม้ตัดดอกตามคำสั่งซื้อของผู้นำเข้า

ในส่วนของผู้นำเข้านั้น จากการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลในประเทศจีน (ตอนใต้) พบว่า ผู้นำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ

  1. ผู้ประกอบการนำเข้ารายใหญ่ เป็นผู้ประกอบการชาวจีนจะทำการติดต่อกับผู้ประกอบ การส่งออกชาวไทย เพื่อทำการสั่งซื้อกล้วยไม้ตัดดอกโดยผู้นำเข้านั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่จำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอกในรูปแบบของการประมูล หรือมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า เป็นต้น
  2. ผู้ประกอบการนำเข้ารายย่อย เป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำหน้าที่รับออเดอร์จากลูกค้าชาวจีน และประสานงานกับผู้ประกอบ การในประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า โอกาสของกล้วยไม้ไทยในตลาดจีน และในต่างประเทศยังมีอีกมาก ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและกล้วยไม้ไทย

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *